Friday, October 19, 2012
ศาสนาในภาพรวม
ศาสนาในภาพรวม
ศาสนาคืออะไร
การให้คำนิยามคำว่า " ศาสนา " อย่างครอบคลุมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากต่อการยอมรับโดยทั่วไป มีนักปรัชญาบางคนอธิบายว่า " ศาสนาคือ อภิปรัชญาความเชื่อที่ยากต่อการทำความเข้าใจในสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ " สาวกของ คาร์ล มาร์กซ เคยวิจารณ์ว่า " ศาสนาคือยาเสพติดของมนุษย์ " นักจิตวิทยาบางคนกล่าวว่า " ศาสนาคือปมแห่งความหลงเชื่อที่แสดงออกผ่านทางจิตฝ่ายสูง "
ตามพจนานุกรมบีบีซีให้คำนิยามอย่างสั้นๆ ว่า " ศาสนา คือความเชื่อที่มนุษย์มีต่อพระเจ้าองค์หนึ่ง หรือหลายองค์ และมีกิจกรรมที่สัมพันธ์กับความเชื่อเหล่านั้น " ส่วนพจนานุกรมฉบับภาษาอเมริกันให้คำจำกัดความว่า " ศาสนา คือระบบความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าหรือต่อปรัชญาชีวิต " กล่าวอย่างสรุป " ศาสนาคือความเชื่อความศรัทธาที่มนุษย์มีต่ออำนาจเบื้องบน เพื่อให้บรรลุความสุขทางจิตวิญญาณที่ตนเองต้องการ นอกเหนือจากความจำเป็นพื้นฐานทางวัตถุ "
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการให้คำนิยามคำว่าศาสนายังไม่ครอบคลุมแต่ก็พอจะสรุปคุณลักษณะที่มีในศาสนาต่างๆ อย่างรวมๆ ได้ว่าประกอบด้วย การสักการบูชาบวงสรวงเซ่นไหว้ แยกความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ออกจากสิ่งเปิดเผยในชีวิตประจำวัน มีนิทานปรำปรา หรือประเภทชาดกในลักษณะบุคลาธิษฐานเพื่อสร้างศรัทธาต่อศาสนามีความเชื่อในเรื่องวิญญาณและชีวิตหลังความตาย ตลอดจนการมีพิธีกรรมเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นในลักษณะที่แตกต่างกันตามแนวคิดของแต่ละศาสนา ดังมีรายละเอียดดังนี้
สิ่งศักดิ์สิทธิ์
คำว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์หมายถึง พระเจ้า ภูตผีปีศาจ ที่มนุษย์เชื่อว่ามีพลังอยู่เหนือธรรมชาติรวมทั้งอำนาจลึกลับทั้งหลายที่ร่วมสถิตอยู่ในสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกแห่งการรับรู้และสัมผัสได้ ซึ่งมนุษย์จะต้องให้ความสำคัญต่อสิ่งเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน การที่เราเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิก็ด้วยความเข้าใจว่า น่าจะมีอำนาจพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่งที่คอยควบคุมหรือคุ้มครองปกปักรักษาตัวเราตลอดจนสิ่งแวดล้อมทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเราให้เป็นไปตามพลังอำนาจที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องการจะดลบันดาล ดังเช่นชาวคริสต์เชื่อว่า ขนมปังและเหล้าองุ่นที่ประกอบในพิธีมิสซา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชาวฮินดูที่นับถือพระศิวะยกย่องให้พระโคที่มีสีขาวนวลเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือในศาสนาท้องถิ่นกราบไหว้บูชาก้อนหิน ภูเขา แม่น้ำ ถ้ำ และต้นไม้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น
พระเจ้า
พระเจ้า เทพเจ้า เทพยดาฟ้าดิน เป็นคุณลักษณะอีกอย่างหนึ่งของศาสนาเทวนิยม พระเจ้า และเทพเจ้า มีอยู่หลายประเภท เช่น เทพเจ้าในลักษณะที่เป็นวิญญาณของบรรพบุรุษ เทพเจ้าในฐานะที่ประสาทความรู้ เทพเจ้าที่ทรงพิโรธ และพระเจ้าที่ทรงอำนาจแต่เพียงองค์เดียวในจักรวาลเป็นต้น
เทพเจ้าในลักษณะที่เป็นวิญญาณของวีรบรรพกษัตริย์หรือบรรพบุรุษที่ทรงเคยหรือเคยทำความดี เสียสละไว้ให้กับประเทศชาติเผ่าพันธ์ในขณะที่มีชีวิตอยู่ ต่างเป็นที่จดจำและรำลึกถึงคุณงามความดีสำหรับลูกหลานและอนุชนรุ่นหลังๆ ที่นำมาเล่าสืบต่อกันมาจึงพากันยกย่องเทิดทูนขึ้นเป็นเทพเจ้า เพื่อสักการบูชาขอพรในยามที่ตนเองประสบภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ ความอดอยากหิวโหย น้ำท่วมหรือภัยจากธรรมชาติอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังมีเทพเจ้าที่มีคุณลักษณะพิเศษ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในชุมชนหรือกลุ่มคนที่มีพัฒนาการทางความเชื่อขึ้นมาว่าพระองค์ทรงเป็นผู้คุ้มครอง ดูแลปกปักรักษา ดลบันดาลให้เกิดความสำเร็จหรือความล้มเหลวในชีวิต ตลอดจนมีพลังอำนาจในการควบคุมวิถีวิญญาณของมนุษย์ในปรโลก เช่นพระยามัจจุราชที่คอยดูแลประเมินผลการกระทำของมนุษย์ขณะที่มีชีวิต เพื่อใช้ตัดสินให้วิญญาณไปสู่สุคติหรือทุคติตามระดับแห่งความดีความชั่วที่เคยประกอบกรรมไว้ก่อนตาย
พระเจ้าองค์เดียว คือพระเจ้าที่มีความสำคัญในทางศาสนาเอกเทวนิยมโดยแท้จริง พระองค์ทรงเป็นใหญ่ในจักรวาล ในสวรรค์ และบางทีในนรกด้วย ศาสนาเอกเทวนิยมเป็นศาสนาที่ได้รับการพัฒนามาจนถึงจุดสุดยอดระดับหนึ่งในปัจจุบัน ได้แก่ ศาสนาฮิบริว ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ศาสนาดังกล่าวนี้เชื่อและนับถือในพระเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียวว่า พระองค์เป็นผู้สร้างเทพเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้ควบคุมดูแลความประพฤติของมนุษย์ตลอดจนดูแลพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนาให้เป็นไปตามพระประสงค์ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นผู้ตัดสินพิพากษาให้วิญญาณของมนุษย์ไปสูสวรรค์หรือลงนรก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นด้วยศรัทธาตามเทวโองการที่ศาสนิกชนเหล่านี้ต่างก็อ้างว่า มีพระเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นที่ทุกคนจะต้องยอมรับและทำความเข้าใจว่า พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าที่แท้จริงในจักรวาล แม้ว่ามนุษย์ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า พระองค์ทรงสถิตอยู่ ณ แห่งใด
การสักการบูชา
คือกิจกรรมที่มนุษย์แสดงออกต่อการยอมรับในพลังอำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ถึงแม้ว่าเทพยดาฟ้าดินหรือพระเจ้าทั้งหลายส่วนใหญ่มีความเมตตาต่อมนุษย์ แต่ย่อมขึ้นอยู่กับของเซ่นไหว้ที่มนุษย์จะต้องหามาตอบแทนในความโปรดปรานที่พระองค์มีต่อผู้กราบไหว้บูชา ในเมื่อพระเจ้าหรือเทพยดาทั้งหลายคือตัวแทนและเป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จึงมีความจำเป็นที่มนุษย์เราจะต้องยอมรับในกฏกติกาที่พระองค์ทรงวางไว้เพื่อให้เราทำการกราบไหว้บูชา และเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์กับพระองค์ ดังจะเห็นพิธีกรรมของศาสนาประจำท้องถิ่นจัดให้มีการฟ้อนรำเพื่อถวายบูชา บางแห่งก็มีการจัดขบวนแห่ หรือมีพิธีร่ายเวทมนต์คาถาอาคมตามควรแก่กรณี นอกจากนี้ยังจะต้องจัดของเซ่นไหว้เพื่อยกย่องให้พระองค์เป็นที่พึ่งพิง เราจะเห็นอยู่บ่อยๆ ที่มีการสวดมนต์ขอพรพระผู้เป็นเจ้าในสถานที่ต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างตามธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติกันมาเป็นการส่วนตัวหรือส่วนรวมในสาธารณะทั่วไป หรือตามบ้านเรือนที่มีการวางแท่นบูชารูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล
เทพนิยายหรือนิทาน
การที่มี นิทาน เทพนิยายทางศาสนา เกิดจากประสบการณ์ที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติ ปกติมนุษย์รับรู้ได้ด้วยภาษาธรรมดาหรือภาษาที่เป็นวิทยาศาสตร์ในการติดต่อสื่อสาร แต่สิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติอยู่นอกเหนือขอบเขตที่จะรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส หรือไม่สามารถนำมาบรรยายให้เข้าใจอย่างมีเหตุมีผล ย่อมหนีไม่พ้นที่นักบวชหรือนักเทวนิยมจะต้องสร้างจินตนาการเสริมแต่งให้เป็นเรื่องเล่าที่น่าศรัทธาเลื่อมใสเกี่ยวกับความเชื่อในศาสนานั้นๆ นี่คือเหตุผลที่ทุกศาสนาจำเป็นที่จะต้องมีนิทานปรัมปรา นิทานแบบชาดก หรือเรื่องเล่าลักษณะเทพนิยาย ซึ่งบางครั้งไม่เกี่ยวกับศาสนา มาเล่าสู่กันฟังเป็นอุทาหรณ์สอนคนให้ศรัทธาในพระเจ้า ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นวิธีการสอนแบบบุคลาธิษฐานเพื่อให้ผู้ฟังเกิดความซาบซึ้งในความดีความเก่งหรือความกล้าหาญ กอปรด้วยอภินิหารของเหล่าเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลาย ทำให้เข้าใจและมองเห็นในพระประสงค์และคุณลักษณะของพระองค์ ให้ปรากฏต่อเหล่าศาสนิก เพื่อสร้างความเชื่อ ความศรัทธาให้แผ่ขยายเป็นวงกว้างออกไป
ดวงวิญญาณ
เป็นความจริงที่ศาสนาสำคัญเกือบทุกศาสนา ย่อมมี และ ต้องมีความเชื่อเรื่องดวงวิญญาณ ไว้เพื่อการสอนทางด้านศีลธรรมและจริยธรรม ศาสนาส่วนใหญ่เชื่อและสอนให้เชื่อว่าดวงวิญญาณ เป็นสิ่งที่สิงอยู่ในตัวคนในส่วนที่ไม่ใช่ร่างกาย ดวงวิญญาณ หรือ วิญญาณในลักษณะนี้เป็นอสสาร สถิตอยู่ภายในตัวคนมาตั้งแต่เกิด วิญญาณจะละทิ้งร่างเดิมเมื่อคนคนนั้นตายลงเพื่อไปแสวงหาที่อยู่ใหม่สวรรค์ นรก หรือสิงอยู่ในสัตว์โลกความเชื่อในเรื่องของดวงวิญญาณที่มีอยู่ในทุกศาสนา ทั้งศาสนาพหุเทวนิยมและเอกเทวนิยม ยกเว้นแต่พุทธศาสนาเถรวาทซึ่งถือว่าเป็นพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมที่พระสมณโคดม สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นปฏิเสธในเรื่องของดวงวิญญาณ แต่ก็ยังคงมีผู้นับถือพุทธศาสนาเชื่อในดวงวิญญาณอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ( ติดตามในปรัชญาเถรวาทว่าด้วยเรื่องอัตตา อนัตตา ) อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาผู้สืบศาสนาของพระองค์ก็ยังคงให้ความสำคัญในเรื่องของดวงวิญญาณ ดังเช่นนิกายวิชญาณวาทของมหายาน หรือแม้แต่พุทธศาสนาเถรวาทในประเทศไทยในขณะนี้ ก็ยังมีความเชื่อในเรื่องดวงวิญญาณไม่แตกต่างไปจากศาสนาเทวนิยมอื่นๆ : ผู้เขียน
ศาสนาเอกเทวนิยม เช่น ศาสนาคริสต์ เชื่อว่า ดวงวิญญาณคือชีวิต คือโลหิต คือลมหายใจ และเป็นลมหายใจที่มีชีวิตนักเทววิทยาในคริสต์ศาสนาบางคนอธิบายว่า ดวงวิญญาณทุกดวงเกิดจากพระหัตถ์ของพระเจ้าที่พระองค์ทรงบรรจงสร้างขึ้นมาเป็นพิเศษในระหว่างที่มนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาในโลก ศาสนาเทวนิยมทุกศาสนา เช่นศาสนาฮิบริว ศาสนาอิสลาม ศาสนาฮินดู รวมทั้งบางนิกายของพุทธศาสนามีความเชื่อในเรื่องเดียวกัน แม้่ว่าร่างดับสูญสลายกลายเป็นดินแล้วก็ตาม แต่วิญญาณจะยังคงอยู่เป็นอมตะ จะมีน้อยมากที่ไม่เชื่อในเรื่องเหล่านี้ ดังนั้นจึงถือได้ว่า ความเชื่อเกี่ยวกับดวงวิญญาณได้แผ่คลุมไปทั่วทุกศาสนา จนมีผู้รู้บางท่านอ้างว่า ความเชื่อในเรื่องของดวงวิญญาณ คือจุดขายที่สำคัญที่สุดในแต่ละศาสนา
การปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น
การประพฤติปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น เป็นเป้าหมายหลักในทุกศาสนาที่ชี้แนะให้ศาสนิกของตนพากันบำเพ็ญเพียรภาวนา เพื่อให้ได้บางสิ่งที่ตนต้องการ หรือพ้นจากบางสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการกล่าวคือเป็นการสักการบูชาขอพรเพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพยดาฟ้าดินช่วยคุ้มครองปกปักรักษา หรือช่วยปัดเป่าให้พ้นจากเคราะห์กรรมทั้งหลาย ในหลายศาสนาที่มีการพัฒนาสูงขึ้น การปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นมีเป้าหมายมากกว่าการบนบานศาลกล่าว แต่เป็นการประพฤติปฏิบัติตามแนวทางของศาสนานั้นๆ ซึ่งไม่แต่เพียงเพื่อช่วยให้ตนเองหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานในชาตินี้ แต่เพื่อให้ได้ไปเสวยสุขในแดนสวรรค์ชั้นฟ้าในชีวิตหน้าด้วย การปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นในลักษณะนี้ จะพบได้ในพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนาบางนิกายที่ถือว่า การสละความสุขทางโลก เป็นความสมบูรณ์ของชีวิตที่วิญญาณจะได้ไปสู่สุขคติหลังความตาย ส่วนวิญญาณที่ไม่ได้รับการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นย่อมจมดิ่งลงสู่วินิตบาติในแดนนรก
การบำเพ็ญภาวนาในความหมายดังกล่าวก็คือ การประพฤติปฏิบัติเพื่อทำให้จิตวิญญาณบรรลุเป้าหมายตามคำสอนของศาสนาเป็นที่น่าสังเกตว่า แนวทางในการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวแตกต่างกันอย่างสุดโต่งระหว่างศาสนาเอกเทวนิยมกับศาสนาอเทวนิยม ในศาสนาเอกเทวนิยมสอนว่า " มนุษย์ไม่มีพลังอำนาจที่จะกำหนดชีวิตที่สมบูรณ์ให้กับตัวเอง " ดังนั้นวิถีทางแห่งความหลุดพ้นย่อมขึ้นอยู่กับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ความหลุดพ้นย่อมขึ้นอยู่กับพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ความหลุดพ้นคือรางวัลที่พระเจ้าจะทรงเลือกประทานให้กับมนุษย์ในกรณีที่ทำให้พระองค์ทรงพอพระทัย มิใช่จะได้รับจากผลของการทำบุญการสวดอ้อนวอน การประกอบคุณงามความดี หรือด้วยการประกอบกรรมอื่น ส่วนแนวการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นในศาสนาอเทวนิยม ดังเช่นพุทธศาสนาดั้งเดิมสอนว่า มนุษย์จะบรรลุความหลุดพ้นได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของตนเอง ดังคำกล่าวที่ว่า " ตนเองเป็นที่พึ่งแห่งตน ไม่มีผู้ใดอื่นที่จะช่วยได้นอกจากตนเอง " พุทธศาสนาเถรวาทเชื่อว่า การบำเพ็ญศีลสมาธิภาวนาตามแนวทางแห่งไตรสิกขาเท่านั้นที่จะทำให้มนนุษย์หลุดพ้นจากวัฏสงสารเข้าสู่กระแสแห่งนิพพานได้ ในขณะที่ฝ่ายมหายานเชื่อว่า พระโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลายคือผู้คอยช่วยเหลือให้มนุษย์พบกับความหลุดพ้น
อย่างไรก็ดี สำหรับศาสนาอินเดียอื่นที่อ้างอิงอยู่กับปรัชญาอุปนิษัทก็เชื่อว่าการที่วิญญาณของมนุษย์ ( อาตมัน ) จะไปรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิญญาณแห่งพระเป็นเจ้า ( พรหมัน ) ได้นั้นก็ด้วยการบำเพ็ญภาวนาโดยอาศัยความเพียรพยายามของมนุษย์เอง ส่วนศาสนาคริสต์เชื่อว่า ศรัทธาที่มีต่อพระเยซูเจ้าเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องนำพามนุษย์ไปสู่ความหลุดพ้นได้ ในศาสนาฮินดูนิกายที่นับถือพระวิษณุเชื่อว่า มนุษย์จะพบกับความหลุดพ้นได้ด้วยการอวตารกลับชาติมาเกิดในปางต่างๆ ของพระองค์เท่านั้น
By แก่นพุทธธรรม
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment