คุณลักษณะของชาวพุทธ
ความคิดที่ว่า การหลีกพ้นจากชีวิตประจำวันโดยการหันหน้าเข้าวัดเพื่อแสวงหาความสงบด้วยการนั่งสมาธิภาวนานั้นน่าจะเป็นสิ่งที่ดี แต่แนวทางปฏิบัติของคนที่มีความคิดเช่นว่านี้เอง ถูกวิจารณ์ว่า เป็นการกระทำที่แสดงถึงความเห็นแก่ตัว เพราะที่จริงแล้วการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีคุณธรรม ทั้งต่องานที่รับผิดชอบและต่อครอบครัว ย่อมถือได้ว่ามีความสมบูรณ์อยู่ในตัวของมันเองต่อการที่จะบรรรลุนิพพาน ดังพุทธพจน์ที่ว่า " จงอยู่ในโลกแต่อย่ายึดติดกับโลก " ซึ่งคำสอนในลักษณะเช่นนี้มักปรากฏอยู่ในหนังสือทางพุทธศาสนาหลายๆ แห่ง เช่น
" บุคคลใดที่มองเห็นว่า การปฏิบัติธรรมเป็นอุปสรรคต่อภารกิจประจำวันนั้น ถือว่ายังไม่เข้าถึงธรรม เขาเหล่านั้นยังค้นไม่พบว่า แท้ที่จริงแล้ว ไม่มีการปฏิบัติภารกิจใดๆ ที่อยู่นอกเหนือการปฏิบัติธรรม ดังนั้น ผู้ที่มองเห็นธรรมเท่านั้นจึงจะมองเห็นพุทธองค์ " หรือ
" ผู้มีดวงตาเห็นธรรมแม้แต่เพียงวันเดียว ย้อมดีกว่าผู้หลงติดอยู่ในธรรม แม้จะนานเป็นร้อยปี "
ความเชื่อที่ว่า การปฏิบัติธรรมนั้นควรเป็นเรื่องของนักบวชหรือผู้ใช้ชีวิตสงบในตอนเกษียณอายุ พ้นจากภารกิจต่างๆ ในทางโลกนั้น เป็นความเข้าใจผิด มีหลักฐานทางพุทธศาสนาที่พิสูจน์แล้วว่า แม้แต่อุบาสก อุบาสิกา หลายต่อหลายคนที่สามารถศึกษาและปฏิบัติธรรมจนบรรลุถึงขั้นอรหัตตผลได้โดยไม่ต้องบวชห่มผ้ากาสาวพัสตร์
เคยมีคนทูลถามพระพุทธเจ้าในครั้งนั้นว่า เขาเหล่านั้นเป็นเพียงคฤหัสถ์ ทำหน้าที่หาเลี้ยงครอบครัวไปวันๆ แม้ว่าจะปฏิบัติและดำเนินตามคำสอนของพระองค์แล้วก็ตาม จะมีโอกาสบรรลุธรรมได้หรือไม่ พระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่ใช่แต่เพียงคนหรือสองคน ร้อยหรือสองร้อย หรือห้าร้อยคนเท่านั้น แต่มีอีกมากมายที่ยังปฏิบัติภารกิจทางโลกอยู่แล้วสามารถบรรลุธรรมชั้นสูงได้ หากเขาเหล่านั้นปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์
อย่างไรก็ตาม บุคลที่ใช้ชีวิตในบั้นปลายอยู่ในสงบปราศจากเสียงและสิ่งรบกวนทั้งหลาย หากใช้ความพยายาม ความขยันหมั่นเพียร ปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ สร้างบุคลิกภาพเพิ่มคุณค่าและคุณธรรมให้กับชีวิต เช่น ด้วยการช่วยเหลือเกื้อกูลต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายให้อยู่รวมกันอย่างเป็นสุขได้ ย่อมจะได้ชื่อว่าเป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ ดีกว่าผู้ที่เข้าวัดเข้าวาหาความสงบ แต่ใจยังครุ่นคิดเฉพาะเพื่อมุ่งที่จะแสวงหาความสุขความหลุดพ้นเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากความรักความเมตตาที่เกื้อหนุนจุนเจือผู้อื่น เขาเหล่านั้นแม้จะเข้าวัดฟังธรรมสักเพียงใด ก็ย่อมจะยังคงเชื่อได้ว่ามิได้ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์
เป็นที่น่าเสียดายที่คนหนุ่มสาวยุคใหม่ แม้ว่าจะเกิดมาเป็นชาวพุทธโดยกำเนิด แต่ยังมีความเห็นผิด คิดว่าบัญญัติทางด้านศีลธรรมรวมทั้งพระธรรมคำสอนเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย สูงส่งเข้าใจยาก อีกทั้งยังเห็นว่าไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตในสภาวะของเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน
แท้ที่จริงแล้ว พระธรรมคำสอนที่บริสุทธิ์ ไม่ถูกบิดเบือนแหวกแนวดังเช่นที่เคยได้ยินได้ฟังมาจากบรรดาภิกษุทุศีลบางรูปที่มุ่งแสวงหาวัตถุเป้าหมายหลัก จะสอนให้เรารู้จักแสวงหา เก็บรักษาและใช้จ่ายทรัพย์ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงต่อการพัฒนาทั้งทางร่างกายและทางวิญญาณ พระพุทธองค์มิได้สอนให้นำชีวิตประจำวันออกมาจากบริบททางด้านสังคมเศรษฐกิจการเมืองแต่เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่า คำสอนของพระองค์ประกอบด้วยคุณค่าทั้งทางด้านศีลธรรม จริยธรรม จิตวิญญาณ และปรัชญา รวมทั้งทางเศรษฐกิจสังคมด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พุทธธรรมเหล่านี้ถูกละเลยมองข้ามและให้ความสนใจกันน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
พุทธศาสนาสอนไว้อย่างชัดเจนว่า ความยากจนเป็นบ่อเกิดแห่งความประพฤติผิดศีลธรรม และเป็นเหตุในการก่ออาชญากรรมกระทำความผิด ลักขโมย ทารุณกรรม จองเวรและใช้ความรุนแรงต่างๆ นานา ซึ่งเราจะพบเห็นได้ทั่วไปในทุกหนทุกแห่งของสังคมยุคข้อมูลข่าวสารดังเช่นในปัจจุบัน พระพุทธองค์ตรัสย้ำต่อคฤหัสถ์ทั้งหลายถึงความจำเป็นในการสร้างฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พุทธศาสนามิได้ยอมรับการมีวัตถุไว้ครอบครองอย่างล้นเหลือเพื่อสนองความอยาก จนเป็นเหตุให้เกิดอุปาทานในการยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งเหล่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักคำสอนทางศาสนาในการดำเนินชีวิต
พุทศาสนาสอนคฤหัสถ์ในการแสวงหาความสุขให้กับตนเองด้วยการดำเนินชีวิต 4 ประการ กล่าวคือ
1. แสวงหาความรู้ความชำนาญ ขยันหมั่นเพียรในภารกิจที่ตนเองรับผิดชอบ
2. รู้จักเก็บหอมรอมริบทรัพย์สินที่หามาได้โดยสุจริตและด้วยความเหนื่อยยาก
3. แสวงหากัลยาณมิตรที่มีความรู้คู่คุณธรรม มีความคิดเสรีเฉลียวฉลาดไว้เป็นเพื่อนคู่ใจ คอยแนะนำในการประกอบความดีและละเว้นความชั่ว
4. รู้จักใช้จ่ายทรัพย์สินที่หามาได้อย่างมีเหตุมีผล ไม่โลภหลงกักเก็บตุน หรือใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายเกินฐานะ
นอกจากนี้ พระพุทธองค์ยังทรงอธิบายคุณธรรมที่จะช่วยส่งเสริมให้มนุษย์ประสบความสุขทางโลก ได้แก่ ศรัทธา ศีล ทาน และปัญญา กล่าวคือ สอนให้มีความเชื่อมั่นในคุณค่าแห่งศีล สมาธิ และปัญญา เว้นจากการฆ่า ทำลายชีวิต การลักขโมย หลอกลวง คดโกง ประพฤติผิดทางเพศ และสุรายาเสพย์ติดให้โทษ มีการทำบุญให้ทาน ไม่หลงใหลใคร่อยากยึดติดในทางวัตถุ พร้อมทั้งมีปัญญาที่จะทำความเข้าใจและวิธีที่จะขจัดทุกข์เพื่อเสพย์สุขในนิพพาน
ในการแสวงหาความสุข พุทธศาสนาสอนให้ยึดหลักในการดำเนินชีวิต 4 ประการคือ อัตถิสุข ยินดีในการเก็บรักษาทรัพย์สินที่หามาได้ด้วยการประกอบสัมมาอาชีวะ โภคสุข รู้จักใช้จ่ายทรัพย์สินที่หามาได้เพื่อประโยชน์ตนเอง เพื่อครอบครัว ญาติมิตร และเพื่อการบุญการกุศล อนสุข ไม่สร้างหนี้จนล้นพ้นตัว และ อนวัชสุข ดำเนินวิถีชีวิตที่สะอาดบริสุทธิ์ปราศจากอกุศลจิตและอกุศลกรรมทั้งหลาย
โปรดสังเกตว่า ความสุขที่ได้จากการดำเนินชีวิต 3 อย่างแรกนั้น พุทธศาสนายังถือว่าเป็นเพียงความสุขในทางโลก พระพุทธองค์ทรงเตือนว่า ความสุขที่ได้จากสิ่งเหล่านี้ แท้จริงแล้วไม่สามารถเทียบได้เพียงเสี้ยวเดียวของความสุขทางใจหรือทางวิญญาณที่ได้จากการประพฤติพรหมจรรย์
จริงอยู่ พระพุทธองค์ทรงมองความสุขทางวัตถุเป็นเรื่องของความจำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ แต่ความสุขทางวัตถุเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากพื้นฐานทางศีลธรรมย่อมมิใช่ความสุขที่แท้จริง พุทธศาสนานอกจากจะสอนวิธีแสวงหาทรัพย์ให้พอกพูนตามวิถีอันพึงมีพึงได้แล้ว ยังเน้นให้เราใฝ่หาความสุขความสงบทางจิตวิญญาณเพื่อตนเองและสังคม โดยการเพิ่มพูนบุคลิกภาพทางด้านศีลธรรมจริยธรรมให้กับตนเองด้วย พระพุทธองค์ทรงย้ำว่า
" เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร เวรย่อมระงับได้ด้วยเมตตาธรรม ชนะความชั่วด้วยความดี ชนะความตระหนี่ด้วยการให้ทาน และชนะความเท็จด้วยความจริง "
นอกจากนี พระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า
" บุคคลที่สามารถชนะใจตนเองได้ ย่อมได้รับการสรรเสริญยิ่งกว่าผู้ชนะข้าศึกที่มีจำนวนเป็นล้าน การระงับการจองเวรด้วยความเมตตาการชนะความชั่วด้วยความดี ขจัดความอิจฉาริษยา ความพยาบาทจองเวร ความคิดร้ายและความโลภให้พ้นจิตใจด้วยพรหมวิหารธรรม นำเอาความรัก ความเมตตา กรุณา มาเป็นแรงหนุนในการประพฤติดีปฏิบัติชอบต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายภายใต้การดำเนินชีวิตอย่างสงบสันติ กลมกลืนกับความสันโดษในทางวัตถุ การดำเนินชีวิตตามแนวทางดังกล่าวนี้ ย่อมเท่ากับเป็นการยกระดับจิตวิญญาณให้สูงยิ่งขึ้นเพื่อบรรลุสัจธรรมชั้นสูง ที่เรียกว่า " นิพพาน " ดังนี้
By แก่นพุทธธรรม
No comments:
Post a Comment