พุทธศาสนาคืออะไร์?
ศาสนาส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาเนื่องจากความกลัวที่ตั้งอยู่บนอวิชชา ดังนั้นความเชื่อความศรัทธาต่อคำสอนในบางศาสนาที่มิได้ตั้งอยู่บนปัญญาจึงเริ่มค่อยๆ เสื่อมคลายลง เมื่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแผ่ขยายตามมาภายหลัง เปรียบเสมือนน้ำค้างบนใบหญ้าในตอนเช้าที่ถูกแผดเผาให้ระเหยหายไปโดยแสงแดดในยามตะวันรุ่ง
แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาอเทวนิยมที่เกิดขึ้นมาจากผลของความสำเร็จในการค้นพบสัจธรรม เพื่อประโยชน์สูงสุดให้กับมวลมนุษยชาติ โดยพระปรีชาญาณแห่งพระองค์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญเพียรละกิเลสตัณหาและความกลัวจนหมดสิ้น ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณ ทำให้พุทธธรมคำสั่งสอนของพระองค์อยู่ยั่งยืนยงมาตลอดกว่าสองพันห้าร้อยปีโดยไม่ได้รับผลกระทบจากกาลเวลาและความรู้อื่นใด ดังที ฟรานซิส สตอรี่ ผู้เชี่ยวชาญทางศาสนาชาวอังกฤษกล่าวไว้ว่า
" ด้วยเหตุนี้ พุทธธรรมจึงยังสามารถแผ่ขยายอยู่ได้ตลอดกาลเวลาอันยาวนาน ภายใต้กระแสความรู้คู่ไปกับทางด้านวิทยาศาสตร์ "
พุทธศาสนาเป็นศาสนาอเทวินยม ซึ่งแตกต่างจากศาสนาเอกเทวนิยมหรือพหุเทวนิยมอื่นที่นับถือกันในโลกที่สอนให้เชื่อในพระเจ้าองค์เดียวหรือหลายองค์ รวมทั้งที่สั่งสอนให้เชื่อในองค์เทวะต่างๆ พุทธศาสนาอุบัติขึ้นมาในโลก ไม่เพียงแต่เพื่อช่วยให้มนุษย์รู้จักแก้ปัญหาชีวิต นั่นคือความทุกข์ แต่เพื่อช่วยให้มนุษย์ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติอีกด้วย
พระพุทธเจ้ามิใช่เป็นศาสดาพยากรณ์ดังเช่นที่มีในศาสนาอื่นแต่เป็นพระบรมศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ที่ทรงค้นพบและประกาศศาสนาเมื่อ 2,600 ปีที่ผ่านมา พระนามเดิมก่อนที่จะบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณคือ เจ้าชายสิทธัตถะ แห่งราชวงศ์โคตมะ ที่มีพระบิดาเป็นกษัตริย์ครองแคว้นเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเนปาล เจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระชนก่อนองค์พระเยซูคริสต์ประมาณ 500 ปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อพระชนมายุได้ 29 พรรษา เสด็จประพาสนอกกำแพงวัง ทรงเห็นความทุกข์ของเหล่าประชาราษฎร์ที่ประสบกับการเกิดแก่ เจ็บ ตาย ต่อมาจึงหลุดพ้น ด้วยการเดินทางไปศึกษาหาความรู้จากบรรดาอาจารย์และโดยการทดลองปฏิบัติธรรมอยู่นานถึง 6 ปี พระองค์จึงได้ตรัสรู้ ทรงค้นพบแนวทางเพื่อความหลุดพ้นพบกับภาวะ " สะอาด สงบ สว่าง " ทางด้านจิตวิญญาณ ด้วยหลักการปฏิบัติตามแนวทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา ทรงย้ำว่าสัจธรรมในการดำเนินชีวิตจะต้องปฏิบัติด้วยสัมมาสติให้เป็นไปตามทางสายกลาง มิใช่ด้วยการแสวงหากามสุขโดยปราศจากความยั้งคิด ( กามสุขัลลิกานุโยค ) หรือด้วยความเป็นอยู่อย่างยากแค้นทรมานเบียดเบียนตนเอง ( อัตตกิลมถานุโยค )
แม้ว่าพุทธศาสนาจะอุบัติขึ้นท่ามกลางความเชื่อดั้งเดิมของชาวชมพูทวีปที่ศรัทธาในศาสนาพราห์มณ์ โดยให้ความสำคัญกับพระเป็นเจ้า แต่พระพุทธองค์ทรงเห็นแย้งและปฏิเสธปรัชญาเทวนิยมเดิมของชาวอินโดอารยันที่สอนให้เชื่อใน อาตมัน หรือ อัตตา วิญญาณ จิต ชนชั้น และ พระเจ้าว่าไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง
พุทธศาสนามิได้สอนให้เชื่อในเรื่องโชคและดวง ทั้งไม่สอนให้มองชีวิตในด้านลบ ยิ่งกว่านั้น พระธรรมของพระองค์ล้วนเปี่ยมด้วยคุณค่าทางศีลธรรมที่ก่อให้เกิดปัญหา อันเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินชีวิต เป็นคำสอนที่ไม่เพียงแต่ให้รู้และเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ แต่ยังสอนให้มนุษย์สามารถค้นหาคุณค่าภายในเพื่อให้ตนเองหลุดพ้นเป็นอิสระจากตัณหาและอวิชชา
อย่างไรก็ตาม สำหรับคำสอนในระดับศีลธรรม ทางพุทธศาสนามิได้ปฏิเสธหรือพยายามหักล้างความสำคัญของ อาตมัน ตัวตน พระเจ้า ตามความคิดความเชื่อของฝ่ายเทวนิยมไปเสียเลยทีเดียว เพียงแต่พุทธศาสนาสอนว่า " เราไม่สามารถมองเห็นแยกแยะจับต้องหรือสัมผัสพระองค์ได้จากโลกภายนอก แต่พระองค์จะทรงปรากฏให้เห็นและรู้ได้ต่อเมื่อเราปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามบรรทัดฐานสากลแล้วเท่านั้น "
คุณสมบัติพิเศษประการหนึ่งของพุทธศาสนา คือเป็นศาสนาที่ไม่ขึ้นต่อพระเจ้าหรือองค์เทวะใดๆ แต่เป็นศาสนาที่เน้นให้มนุษย์ที่ไม่รู้จักพึ่งพิงตนเอง พระพุทธเจ้าทรงย้ำว่า มนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้เพื่อการพึ่งพาตนเองได้ โดยปราศจากการวิงวอนร้องขอความช่วยเหลือจากพระเจ้า ปรัชญาพุทธเป็นประเภทมนุษย์เทวนิยมสอนให้มุ่งตรงต่อการประพฤติปฏิบัติโดยใช้มนุษย์เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ ทั้งในด้านอภิปรัชญาและในระบบจริยธรรม สอนให้มนุษย์รู้จักใช้ความพากเพียรอุตสาหพยายามเป็นเบื้องต้น เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายทั้งทางด้านวัตถุและทางวิญญาณ แทนการสวดอ้อนวอนหรือคิดเพียงเพื่อที่จะรอความช่วยเหลือจากพระเจ้าเบื้องบนดังพุทธพจน์ที่ว่า
" อัตตา หิ อัตตโน นาโถ : ตัวท่านเองเป็นที่พึ่งของตนเอง ใครเล่าจะเป็นที่พึ่งของท่านได้ "
ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้กล่าวว่า พุทธศาสนามีความแตกต่างจากศาสนาเทวนิยมอื่นๆ ที่ชาวตะวันตกคุ้นเคยเป็นส่วนใหญ่ พุทธศาสนาสอนให้เราเข้าถึงกรอบแห่งจิตวิญญาณหรืออาณาจักรแห่งองค์เทวะได้โดยตรง โดยไม่จำเป็นต้องสาธยายมนต์ถึงพระองค์ คำสอนในทางพุทธศาสนาจึงเป็นประหนึ่งกลิ่นอายแห่งรสชาติทางจิตวิทยาที่ใช้ในการรักษาโรคทางจิตวิญญาณให้กับมนุษย์มากกว่าที่จะเรียกว่าศาสนา เพราะเราสามารถตรวจสอบได้ด้วยกระบวนการรับรู้ประดุจการใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องหาสัจธรรม แทนการหลงงมงายในภาพมายาที่ปุถุชนมักจะมองเห็นอยู่เป็นธรรมดาในโลกใบนี้
ว่าตามความเป็นจริง ผู้ที่ศึกษาพุทธศาสนาส่วนใหญ่มักพูดว่าโดยธรรมชาติแล้ว พุทธศาสนามีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์โดยเนื้อหามากกว่าศาสนาอื่นใดทั้งหมด คำสอนในพุทธศาสนาจัดว่าเป็นทั้งตรรกะที่ใช้เหตุผล และเป็นทั้งวิธีการซึ่งเปรียบได้กับกระบวนกรรมวิธีในทางวิทยาศาสตร์ ด้วยเหตุนี้จึงมีทั้งนักวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันรวมทั้งนักคิดนักเขียนหลายคนลงความเห็นว่า พุทธธรรมคำสอนจะยังคงเป็นมรดกทางจิตวิญญาณที่มีคุณค่าควรแก่การประพฤติปฏิบัติอยู่ตลอดไป แม้ว่าพุทธศาสนาจะล่วงเลยมานานมากกว่ายี่สิบห้าศตวรรษแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ หลักทางพุทธศาสนายังมีความคล้ายคลึงกับหลักวิทยาศาสตร์อยู่มาก เช่นในเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อความศรัทธาอย่างไม่ลืมหูลืมตา ที่พุทธศาสนารังเกียจและไม่ให้การยอมรับ พุทธศาสนาสอนให้มนุษย์ฝึกใช้ความคิดอย่างอิสระเสรี สอนไม่ให้เชื่อแบบงมงาย พุทธศาสนาสอนให้ทุกคนสามารถตั้งคำถามหรือตั้งข้อสงสัยได้อย่างมีเหตุผล เพื่อหาคำตอบที่เป็นก้าวกระโดดไปสู่การประเทืองปัญญา เพราะพุทธศาสนาเชื่อในศักยภาพของมนุษย์นอกจากนี้ พุทธศาสนายังเน้นในเรื่องของความรับผิดชอบอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและในระดับสังคมบนฐานของกฏแห่งกรรม
ความรัก เมตตา กรุณา ขันติ เป็นคุณธรรมที่พุทธศาสนาเน้นเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้ ชาวพุทธทั้งหลายโดยทั่วไปจึงเป็นผู้ที่รักสงบใฝ่สันติ ตลอดเวลาในประวัติศาสตร์อันยาวนานของพุทธศาสนาไม่เคยปรากฏว่ามีการทำสงครามอันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางความเชื่อ การปิดกั้นทางความคิด หรือการจับคนมาสอบสวนเอาผิดลงโทษลงทัณฑ์ดังเช่นที่เคยมีมาในศาสนาอื่นๆ
เมื่อมองในแง่ปรัชญา พุทธศาสนามิได้สอนให้อยู่อย่างสิ้นหวังปราศจากสิ่งยึดเหนี่ยว ( นัตถิกทิฏฐิ ) หยุดการแสวงหาความรู้คู่การกระทำคุณงามความดีเพื่อแสวงหาความจริง แต่สอนให้มนุษย์สร้างคุณค่าให้กับตนเองด้วยการรู้ตื่นจากอวิชชา เพื่อปูทางไปสู่ชีวิตที่เป็นอิสระ กำจัดและทำลาย " การมีตัวตน " จากกิเลสตัณหา นั่นคือวิธีการเพียงอย่างเดียวที่เราควรจะต้องเรียนรู้ในการขจัดอัตตา เพื่อนำ ไปสู่เป้าหมายที่สะอาดบริสุทธิ์พ้นจากการมีตัวตนและการเห็นแก่ตัว
พุทธศาสนาเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนที่เกิดมามีศักยภาพในการแสวงหาความสุข หรือหลุดพ้นจากทุกข์ได้เท่าเทียมกันภายใต้กฏธรรมชาติ เพราะมนุษย์เป็นเวไนยสัตว์ที่สามารถเรียนได้สอนได้ เพื่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว มนุษย์จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาตนเองทั้งทางร่างกาย ทางศีลธรรม จิตวิญญาณ และทางปัญญา นั่นคือสิ่งที่จะนำมาใช้ต่อการบำเพญบารมีในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์ตามธรรมนิยามแห่งพุทธธรรม
นอกจากนี้ พุทธศาสนายังสอนให้นำปัจจัยภายในของความเป็นมนุษย์ มาสร้างคุณค่าให้กับสังคมอันเป็นปัจจัยภายนอก พุทธศาสนาสอนว่า คน สังคม สิ่งแวดล้อม ไม่สามารถแยกออกจากกัน แต่ควรอยู่ด้วยกันได้อย่างกลมกลืน น่าเสียดายที่ตามความเป็นจริงในโลกทุกวันนี้ ยังคงเป็นปัญหาโลกแตกที่คงไม่สามารถแก้ได้ตราบที่จิตใจของคนเรายังไร้ความรัก ความเมตตา ไร้ปัญญาละเลยการประพฤติปฏิบัติตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ไว้ว่า " จงละความชั่ว เร่งทำความดี และทำจิตให้บริสุทธิ์ " ดังนี้
By แก่นพุทธธรรม
No comments:
Post a Comment