สร้างภูมิปัญญาใหม่ กอบกู้ประชาชนไทยจากวิกฤติ
เราเรียนรู้อะไรจากการแสวงหาสังคมที่ดีกว่าในรอบ 40 ปี ที่ผ่านมา
1. เรามองแต่ข้อดีของแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจตามกรอบคิดตะวันตก ที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก มองว่าการเพิ่มผลผลิต และเพิ่มการบริโภค คือ ความสำเร็จมากเกินไปส่วนหนึ่งเพราะว่ามีบางคนได้ผลประโยชน์ แต่ส่วนใหญ่ก็คือเพราะเราเชื่อตามฝรั่งและอธิบายซ้ำๆ จนประชาชนส่วนใหญ่ศรัทธาเหมือนความเชื่อทางศาสนา ว่าแนวทางการพัฒนาประเทศมีอยู่หนทางเดียวคือต้องร่วมการแข่งขันตามกระแสโลกาภิวัฒน์ จนไม่อาจคิดได้ว่ามีแนวการพัฒนาทางเลือกอื่นที่ต่างไปจากแนวทางนี้
2. เรามุ่งพัฒนาประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยเน้นรูปแบบมากกว่าเนื้อหา เน้นผลลัพธ์สำเร็จรูปมากกว่าระบบการสร้าง ทำให้เราไม่ได้สนใจพัฒนาประชาธิปไตยท้องถิ่น ประชาธิปไตยในครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน และประชาคมมากเท่าที่ควร ทำให้แนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ไม่ได้หยั่งรากลึกในหมู่ประชาชน และนักการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวระยะสั้นสามารถใช้ช่องว่างช่วงชิงการนำได้
3. การต่อสู้เพื่อสังคมประชาธิปไตย และความเป็นธรรม ถูกนำโดยกลุ่มปัญญาชนชั้นนำที่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่อย่างเถรตรงหรือเป็นสูตรสำร็จมากเกินไป ไม่ได้มีการปฏิวัติการศึกษาแบบวิเคราะห์และรู้จักการประยุกต์ ไม่ได้มีการกระจายทักษะในการศึกษา และการวิเคราะห์สู่ประชาชน ทำให้ขาดการสร้างฐานภูมิปัญญาในหมู่ประชาชนที่เข้มแข็ง ชนชั้นนำเป็นผู้ครอบงำทางด้านแนวคิดอุดมการณ์ เมื่อชนชั้นนำนำไปในทางที่ผิดพลาด ประชาชนก็ผิดพลาดไปด้วยเพราะคิดต่างออกไปไม่เป็น รวมทั้งประชาชนยังถูกครอบงำด้วยความคิดแบบพึ่งพาผู้อุปถัมภ์ พึ่งพาผู้นำ
4. เราไม่ได้พัฒนาวุฒิภาวะในการวิเคาะห์ปัญหาอย่างซับซ้อนมีแนวโน้มที่จะมองปัญหาแบบแบ่งเป็น 2 ขั้วอย่างสุดโต่ง เช่น ขวา - ซ้าย พุทธแท้ - พุทธเทียม มากเกินไป จึงมีอาการสวิงไปทางขั้วนี้บ้าง ขั้วนั้นบ้าง แล้วแต่สถานการณ์ แล้วแต่กลุ่มคน ขาดการวิเคาะห์หาทางเลือกที่สามที่สี่ที่เป็นทางเลือกใหม่ๆ ที่คิดได้อย่างมีระบบเหตุผลมีข้อมูลพื้นฐานรองรับ
5. เรามักมองปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเมืองอย่างแยกส่วนทำให้ขาดการมองปัญหาทางวัฒนธรรมและปัญหาระบบคิด ทีเป็นทั้งผลสะท้อนและมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมการเลี้ยงดูเด็ก วัฒนธรรมในการรักษาหน้า ชอบใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ติดกับบุคคลมากกว่าหลักการ ฯลฯ เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนไทยทำงานรวมกลุ่มกันได้ยาก มักไม่ค่อยมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์ ไม่ค่อยมีวินัย ไม่เชื่อถือคนอื่นนอกจากตัวเอง และพรรคพวก ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่สำคัญที่ต้องการการวิจัยวิเคราะห์หาทางแก้ไขไม่น้อยไปกว่าปัญหาทางเศษฐกิจการเมือง
ปัญหาทั้ง 5 ประการที่กล่าวมาเป็นส่วนทำให้ไทยเผชิญวิกฤติทั้งทางเศรษกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม ในปัจจบัน
สังคมไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร
1. จะเป็นสังคมที่ประชากรเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว จาก 65.4 ล้านคน ( ข้อมูลปี 2553 ) เป็น 124 ล้านคน โดยมีประชากรวัยหนุ่มสาวที่ต้องการงานทำเป็นสัดส่วนสูงขี้น ผู้สูงอายุเกิน 60 ปีมีสัดส่วนสูงขึ้น เป็นภาระเพิ่มขึ้นในช่วง 20 ปี ข้างหน้า อาจมีคนเสียชีวิตเพราะโรคเอดส์ อุบัติเหตุและสาเหตุอื่นๆ ในอัตราสูง ทำให้ประชากรลดลงบ้าง แต่ประชากรที่ค่อนข้างมากก็จะเป็นปัญหาอยู่ดี เพราะทรัพยากร เช่น ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ ธรรมชาติสภาพแวดล้อมต่างๆ มีเท่าเดิมและเสื่อมสภาพลง ดังนั้นสังคมไทยในอนาคตจะมีปัญหาที่หนักหน่วงทางด้านเศรษฐกิจ การจัดการเรื่องแรงงานและทรัพยากร เพื่อให้ประชากรมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่รบราฆ่าฟันแย่งชิงอาหาร ที่อยู่อาศัย ฯลฯ
2. ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนกรอบความคิดเรื่องพัฒนาแบบเน้นการส่งเสริมต่างชาติมาลงทุน สังคมไทยจะเป็นสังคมที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เข้ามาครอบงำทั้งธนาคาร รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจต่างๆ มากจนคนไทยจะเป็นเหมือนผู้เช่าอยู่อาศัย และลูกจ้างในบ้านตนเองความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มมากขึ้น การว่างงานเพิ่มขึ้น เกิดสลัมขนาดใหญ่ ปัญหาคนจรจัดในเมือง ปัญหาโสเภณี ยาเสพย์ติด อาชญากรรม และปัญหาอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น
3. ถ้าเรายังไม่เปลี่ยนกรอบความคิดเรื่องการพัฒนาที่เน้นการเจริญเติบโตของสินค้า เน้นการแข่งขันหาเงิน หากำไร เพื่อการบริโภคสูงสุดแล้ว ค่านิยมของคนไทยจะยิ่งเห็นแก่ตัว แก่งแย่งแข่งขัน เกิดปัญหาการทุจริตฉ้อฉล ความเสื่อมทางจริยธรรม ศีลธรรม มากขึ้น เกิดความรู้สึกแปลกแยกและความเครียดมากขึ้น เกิดปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรง และสลับซับซ้อน รัฐบาลที่เป็นตัวแทนกลุ่มน้อยและไม่ฉลาดมากพอ จะยิ่งสาละวนกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นส่วนๆ และจะแก้ไม่ได้ผล เพราะปัญหาระบบความคิด ค่านิยมของคนเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ทั้งหมด เราไม่อาจจะแยกแก้ปัญหาเป็นส่วนๆ ได้ ต้องปฏิรูปหรือปฏิวัติระบบเศรษฐกิจ สังคมการเมืองทั้งหมดอย่างเชื่อมโยงเป็นองค์รวม
เราควรทำอะไรกันต่อไป ?
1. ต้องเปลี่ยนกรอบคิดเรื่องการเร่งรัดขยายการผลิตและการบริโภคโดยสิ้นเชิง ต้องคิดว่าเศรษฐกิจ คือ เครื่องมือที่จะทำให้คนส่วนใหญ่มีความสุข ไม่ใช่เพื่อที่จะเติบโตหากำไรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ต้องหันมาเน้นเรื่องการผลิตและการบริโภคสินค้าที่จำเป็นต่อการยังชีพและคุณภาพชีวิต และการลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ต้องวางแผนครอบครัวเพื่อลดประชากรลง โดยเน้นคุณภาพชีวิตของประชาชนมากขึ้น การวางแผนครอบครัวที่ได้ผลที่สุดคือ การกระจายความมั่งคั่ง และการศึกษาให้ประชาชนส่วนใหญ่ เพราะคนที่มีการศึกษา มีฐานะปานกลางขึ้นไป จะนิยมหรือรู้จักการวางแผนให้มีลูกน้อยคนได้ดีกว่าคนจนที่ขาดการศึกษา รวมทั้งรู้จักดูแลลูกได้อย่างมีคุณภาพได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้การวางแผนครอบครัวแล้ว สังคมทั้งสังคมก็ต้องว่างแผนการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด ลดการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง แบ่งปันกันใช้ทรัพยากรอย่างเอื้ออาทรต่อทั้งธรรมชาติและคน
2. ต้องเปลี่ยนกรอบคิดแบบหวังพึ่งพาการลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ เป็นการพึ่งตนเองและพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ กระจายทรัพยากร รายได้ ความรู้ การมีงานทำ สิทธิและโอกาสทางการเมืองและสังคม สู่ประชากรส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง ทำให้ตลาดภายในประเทศที่มีคน 65.4 ล้านคน มีกำลังซื้อ เพื่อทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นฟูเข้มแข็งขึ้นเลือกเปิดรับการลงทุนและสั่งสินค้าจากต่างประเทศเฉพาะส่วนที่จำเป็น และที่เราจะได้ประโยชน์โดยไม่เสียเปรียบจนเกินไป
3. ปฏิวัตทางการศึกษา สื่อสารมวลชน และวัฒนธรรมเปลี่ยนกรอบคิดค่านิยมจากที่เคยเน้นการแก่งแย่งแข่งขันหาเงินเน้นการบริโภคของเอกชนแบบตัวใครตัวมัน มาเป็นกรอบคิดค่านิยมที่เน้นความร่วมมือ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แบ่งปันทรัพยากร การมีงานทำอย่างทั่วถึง เป็นธรรม เปิดโอกาสให้แต่ละคนได้พัฒนาความรู้ความสามารถ การทำความดี ทั้งเพื่อการพัฒนาตนเอง และพัฒนาสังคมชนิดที่มีคุณภาพ
สังคมที่มีคุณภาพ คือ สังคมที่สนองความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นของสมาชิกส่วนใหญ่ได้ดี มีธรรมชาติสภาพแวดล้อมที่ดี มีเพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมชาติที่ดี ประชาชนพัฒนาทั้งความรู้ จิตสำนึกทางสังคม วุฒิภาวะทางปัญญาและอารมณ์ มีวินัย ทำงานเป็นหมู่คณะได้มากขึ้น มีวัฒนธรรมในการตัดสินปัญหาความขัดแย้งด้วยเหตุผล ด้วยหลักประชาธิปไตยและสันติวิธี ทำให้สังคมสามารถที่จะพัฒนาเพื่อความผาสุกของประชาชาติ ของคนส่วนใหญ่ ได้อย่างยั่งยืนยาวนาน
สังคมแบบนี้แตกต่างจากสังคมที่เน้นการเเพิ่มผลผลิตหรือรายได้ประชาชาติในปัจจุบัน ที่นอกจากไม่กระจายผลผลิตสู่คนส่วนใหญ่แล้ว การผลิตบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยมากเกินไป ยังทำลายทั้งธรรมชาติสภาพแวดล้อม ทำลายทั้งวัฒนธรรม จริยธรรม ของคนส่วนใหญ่ จนทำให้เกิดวิกฤติทางสังคมที่แก้ยากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ
ยุทธศาสตร์ในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ประการ ข้างต้นได้ คือ
1. การสร้างสรรค์และเผยแพร่แนวคิดในการกอบกู้วิกฤติแบบใหม่ที่ต่างจากแนวคิดเก่าของ IMF และรัฐบาล
2. การขยายเครือข่ายการจัดตั้งองค์กรที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเอาการเอางาน ( กลุ่มสหภาพแรงงาน สมาคมอาชีพ สหกรณ์ ออมทรัพย์ ชมรม สโมสร ประชาคม ฯลฯ ) พัฒนาองค์กรประชาชน และประชาคมทั้งหมดให้เป็นประชาธิปไตย มีความคิดเสรีนิยมแบบใจกว้าง เรียนรู้อย่างวิพากษ์วิจารณ์และอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างศักยภาพในการเป็นผู้นำ สร้างผู้นำใหม่ๆ ขึ้นเพื่อขยายบทบาทในการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง และทำงานทางการเมืองและสังคม
By วิทยากร เชียงกูล ( ทางออกประชาชน, หนังสือระลึกถึง อานนท์ อัศนธรรม, สำนักพิมพ์ บริษัท ชน นิยม จำกัด
แก้ไข By PUMICE
No comments:
Post a Comment