วิทยากร เชียงกูล
เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน หรือที่นิยมเรียกว่า " ฉันจึงมาหาความหมาย " เป็นกลอนที่มีชื่อเสียงชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อเขียนชิ้นหนึ่งในหลายชิ้น ที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา " หัวก้าวหน้า " ยุคก่อนและหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งต่อมาได้พัฒนาไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 เนื้อหาของกลอนสะท้อนถึงความรู้สึกนึกคิดของนักศึกษาคนหนึ่ง ซึ่งตั้งคำถามเชิงเสียดสีเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาในมหาวิทยาลัย
กลอนชิ้นนี้แต่งโดย วิทยากร เชียงกูล เมื่อสมัยยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่งขึ้นสำหรับ วันสถาปนาธรรมศาสตร์ใน พ.ศ. 2511 ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ยูงทอง เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2511 และถูกตีพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง ในหนังสือชื่อ " ฉันจึงมาหาความหมาย " ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานจำพวกบทกวีของวิทยากรในช่วงสมัยที่ยังศึกษาอยู่และช่วงที่เพิ่งจบ
เนื้อหาของบทกวี เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน มีดังนี้
ดอกหาง นกยูง สีแดงฉาน
บานอยู่เต็มฟากสวรรค์
คนเดินผ่าน ไปมากัน
เขาดั้น ด้นหาสิ่งใด
ปัญญามีขายที่นี่หรือ
จะแย่งซื้อได้ที่ใหน
อย่างที่โก้ หรูหรา ราคาเท่าใด
จะให้พ่อ ขายนา มาแลกเอา
ฉันมา ฉันเห็น ฉันแพ้
ยินแต่ เสียงด่า ว่าโง่เง่า
เพลงที่นี่ ไม่หวาน เหมือนบ้านเรา
ใครไม่เข้า ถึงพอ เขาเยาะเย้ย
นี่จะให้ อะไร กันบ้างใหม
มหาวิทยาลัย ใหญ่โตเหวย
แม้นท่าน มิอาจให้ อะไรเลย
วานนิ่งเฉย อย่าบ่น อย่าโวยวาย
ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง
ฉันจึง มาหา ความหมาย
ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย
สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว
มืดจริงหนอสถาบันอันกว้างขวาง
ปล่อยฉัน อ้างว้าง ขับเคี่ยว
เดินหา ซื้อปัญญา จนหน้าซียว
เทียวมา เทียวไป ไม่รู้วัน
ดอกหาง นกยูง สีแดงฉาน
บานอยู่เต็ม ฟากสวรรค์
เกินพอ ให้เจ้า แบ่งปัน
จงเก็บกัน อย่าเดิน ผ่านเลยไป
By วิทยากร เชียงกูล
All detail
No comments:
Post a Comment