Sunday, October 28, 2012

ลีลาการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า

ลีลาการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า

          พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด ก็ด้วยลีลาการสอนอันเนื่องมาจากพระบุคลิกภาพอันหาที่เปรียบมิได้ขององค์พระศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ ตลอดจนในหมู่สาวกทั้งหลายที่ได้พากันเสียสละตามแบบอย่างขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แยกย้ายกันไปแสดงธรรมตามหมู่บ้านและชุมชนต่างๆ จนประชาชนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาเปลี่ยนมานับถือและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระองค์ได้อย่างรวดเร็วแม้ภายหลังจากที่เสด็จดับขันปรินิพพานไปแล้ว เหล่าสาวกทั้งหลายก็ได้ดำเนินการแสดงธรรมเทศนา สั่งสอนตามแบบแห่งลีลาของพระพุทธองค์ติดต่อกันตลอดมา จนพุทธศาสนาสามารถเจริญรุ่งเรืองแผ่ขยายจากดินแดนชมพูทวีปไปสู่แว่นแคว้นแดนไกลทั่วทั้งเอเชีย

           ในการแสดงพระธรรมเทศนาตลอดช่วงพุทธสมัยของพระองค์นั้น จะทรงใช้ภาษาเป็นสองระดับ คือ ระดับโลกิยะ โดยการใช้ศัพย์สำนวนโวหารในภาษาพูดสำหรับสอนความจริงที่เป็นสมมติสัจจะในระดับศีลธรรม จริยธรรม เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการดำเนินชีวิตประจำวันที่ถูกต้อง เช่น บุคคล สัตว์ บิดามารดา สวรรค์ นรก บาป บุญ ฯลฯ กับระดับโลกุตระ ที่มีลักษณะคำสอนเป็นปรมัตถสัจจะ ดังเช่นในคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม กล่าวคือ เป็นการใช้ภาษาตามความหมายสูงสุดของสภาวะ เพื่อที่จะทำให้การยึดมั่นถือมั่นหลงผิดทั้งหลายสลายหมดสิ้นไป เช่น รูป นาม สัญญา สังขาร วิญญาณ ชีวิตอินทรีย์ เป็นต้น


           อนึ่ง ตามคำสอนของพระพุทธองค์ นอกจากจะแยกออกเป็นสองระดับแล้ว ยังทรงเลือกแสดงธรรมที่เหมาะกับสติปัญญาของผู้ฟังแต่ละราย แต่ละเวลาและแต่ละสถานที่ด้วย เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่า มนุษย์ซึ่งเป็นเวไนยสัตว์นั้นแม้จะสอนได้ฝึกจริงได้ก็จริง แต่ก็มีภูมิหลังแห่งปัญญาแตกต่างกัน โดยทรงมีลีลาในการแสดงธรรมเทศนาอยู่ 4 ลักษณะ กล่าวคือ

           1. ชี้แจงจำแนกแยกแยะการอธิบายและแสดงเหตุผลจนผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้งจากความเขลามืดมัว

           2. ชวนให้อยากรับเพื่อนำไปปฏิบัติ เพื่อปลดเปลื้องความประมาท

           3. ปลุกเร้าให้กระตือรือร้นเกิดความอุตสาหะมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จ หลีกพ้นจากความอืดคร้าน

           4. ปลอบปละโลมใจให้สดชื่นร่าเริงโดยชี้ให้เห็นคุณประโยชน์ที่จะได้รับจากผลสัมฤทธิ์ ดังที่ท่านพะธรรมปิฎกใช้คำว่า แจ่มแจ้ง จูงใจ แกล้วกล้า ร่าเริง

           ในทางญาณวิทยา พุทธศาสนามีวิธีการแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาสติปัญญาเป็น 3 ทางคือ จินตามยปัญญา หมายถึง ปัญญาที่เกิดจากการคิด การใคร่ครวญพิจารณา สุตมยปัญญา ปัญญาที่ได้จากการได้ยินได้ฟัง ได้เรียนรู้จากกัลยาณมิตร และ ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฝึกอบรมพัฒนา

           การแสวงหาปัญญาจากกระบวนการเรียนรู้ในทางพุทธศาสนาอาจเปรียบได้กับการแสวงหาความรู้ตามแบบญาณวิทยาของปรัชญาตะวันตก กล่าวคือ แสวงหาความรู้ทั้งจากทางด้านประสบการณ์นิยม เหตุผลนิยม และอัชฌัตติกญาณหรือการรู้แจ้งด้วยตนเอง พุทธศาสนาไม่สอนให้แสวงหาความรู้โดยอาศัยความเชื่อความศรัทธา ยกเว้นแต่เป็นการใช้ศรัทธาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาปัญญา อีกทั้งพุทธศาสนาไม่นิยมใช้คำสั่งที่เป็นเทวโองการเป็นคำสอน แม้แต่ในหลักความเชื่อ พระพุทธองค์ก็ทรงแนะนำไม่ให้เชื่อโดยทันที แต่เมื่อได้พิจารณาใคร่ครวญและนำไปปฏิบัติจนเห็นว่ามีเหตุมีผลแล้วจึงควรเชื่อ จะเห็นได้ชัดจากการที่พระองค์ทรงแสดงธรรมข้อนี้ต่อชาวเมืองกาลามะ ที่มีผู้ทูลถามเกี่ยวกับหลักในการพิจารณาว่าสิ่งใดควรเชื่อและไม่ควรเชื่อ ดังนี้

           " ดูก่อน ชาวกาลามะ จงอย่าเชื่อโดยการฟังการถือสืบตามกันมา หรือจากการเล่าลือ อย่าปลงใจเชื่อจากการอ้างในตำราหรือคัมภีร์ โดยตรรกะ โดยการอนุมาน หรือด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุและผล หรือที่เห็นว่าเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว หรือที่มองเห็นลักษณะน่าจะเป็นไปได้ หรือนับถือว่าท่านเป็นครูของเรา ต่อเมื่อได้รู้และเข้าใจด้วยสติปัญญาตนเองว่า สิ่งที่นำมาทดลองใช้แล้วทำให้เกิดความเสียหายและนำมาซึ่งความทุกข์ความเศร้าหมอง ก็ควรละถือปฏิบัติในสิ่งนั้นเสีย "

            กล่าวโดยสรุป หลักธรรมของพระพุทธองค์สอนให้พึ่งตนเองเป็นหัวใจสำคัญ ดังปัจฉิมโอวาท ที่ทรงแสดงไว้ในมหาปรินิพพานสูตรดังนี้

            " ดูก่อน อานนท์ เธอจงเป็นที่พึ่งของตนเอง จงยึดตนเองเป็นสรณะ อย่าหาที่พึ่งจากสิ่งอื่นใด จงยึดสัจธรรมไว้เป็นเกาะ จงอาศัยสัจธรรมไว้เป็นที่พึ่ง จงอย่าแสวงหาที่พึ่งจากสิ่งอื่นใดนอกจากตนเองจงแสวงหาความหลุดพ้นบรรลุธรรมให้กับตนเองด้วยความขยันหมั่นเพียรเถิด "

           ด้วยการสอนให้ตนเองเป็นที่พึ่งตนเองเช่นนี้ พุทธศาสนาจึงปฏิเสธทฤษฎีความเชื่อ 6 อย่างคือ

            [1] ทฤษฎีปุพเพกตเหตุวาท หรือ ทฤษฎีกรรมเก่า ที่เคยเชื่อกันมาตั้งแต่เดิมว่า เหตุใดๆ ก็ตามล้วนเกิดจากกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อน

            [2] ทฤษฎีอิสรนิมมานเหตุวาท ที่เชื่อว่า เหตุใดๆ ก็ตาม เป็นผลจากการดลบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า

            [3] ทฤษฎีอเหตุอปัจจัยวาท ที่เชื่อว่า สุขทุกข์ทั้งหลายเกิดขึ้นตามดวง ตามโชค ตามเคราะห์

            [4] ทฤษฎีอกิริยาทิฏฐิ ความเชื่อที่ว่า การกระทำใดๆ ไม่มีผลตามมา

            [5] ทฤษฎีอเหตุทิฏฐิ ที่เห็นว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นเองโดยปราศจากเหตุปัจจัย

            [6] ทฤษฎีนัตถิกทิฏฐิ ที่เชื่อว่า ไม่มีการกระทำหรือสภาวะใดๆ ที่กำหนดเอาเป็นหลักยึดได้

            หลักความเชื่อทั้งหกประเภทนี้ พุทธศาสนาไม่ยอมรับและถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งสิ้น







By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment