อธิจิตสิกขา
ความหมายของสมาธิ
อธิจิตสิกขา คือข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิตให้มีคุณภาพมีสมรรถภาพ และมีสุขภาพด้วยการปฏิบัติสมาธิภาวนา ซึ่งจัดเป็นหมวดที่สามในไตรสิกขา ในภาษาบาลี คำว่า ภาวนา หมายถึง การพัฒนาการอบรมบ่มนิสัย การสร้างความดีงาม การเพาะบ่มทางด้านจิตใจ จึงเป็นศัพท์ที่มีความหมายกว้างกว่าคำว่า สมาธิ หรือ meditation ที่เราใช้กันในภาษาอังกฤษ
สมาธิภาวนาในทางพุทธศาสนา หมายถึงการแสวงหาประสบการณ์ทางจิตวิญญาณด้วยการฝึกปฏิบัติ มิใช่ด้วยการเรียนรู้หรือการทำความเข้าใจจากหนังสือหรือตำรา พุทธศาสนาถือว่า จิตเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของความเป็นมนุษย์ เพราะ จิต เป็นตัวกำหนดการกระทำทั้งทาง กาย วาจา ใจ ดังนั้น จิต จึงควรที่จะต้องได้รับการขัดเกลาและพัฒนา การปฏิบัติสมาธิโดยนัยดังกล่าวนี้จึงจะถือว่าเป็นการ " ภาวนา " ที่แท้จริง เพราะนอกจากจะเป็นการฝึกสมาธิเพื่อแสวงหาความสงบระงับในชั่วขณะแล้ว ยังต้องเป็นไปเพื่อทำจิตให้บริสุทธิ์ ด้วยการลดละอาสวกิเลสทั้งหลาย เช่น ความอยาก ความใคร่ ความอิจฉา พยาบาท ความวิตก กังวล อวิชชา ความกระวนกระวาย ความเกรียจคร้านเฉื่อยชา และยังเป็นการเพาะบ่ม จิตใจให้มี เมตตา ปัญญา พลัง สติ สมาธิ และมองเห็นสัจธรรม
ประเภทของสมาธิ
ในทางพุทธศาสนา การทำสมาธิ มี 2 ประเภท คือ สมาธิ ภาวนา กับ วิปัสนาภาวนา การปฏิบัติอย่างแรก เป็นการรวบรวมพลังจิตให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ส่วนประเภทหลัง หมายถึงการนำผลที่ได้จากการทำสมาธิไปพิจารณาเพื่อการรับรู้และทำความเข้าใจในสัจธรรม
การปฏิบัติสมาธิภาวนา นอกจากเป็นวิธีการทำให้จิตเกิดความสงบ ( จิตวิเวก ) เกิดพลัง เพื่อควรแก่การใช้งานในชีวิตประจำวันแล้วยังเป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ปฏิบัติที่มีความมุ่งมั่นมานะพยายาม สามารถบรรลุฌานขั้นสูงที่เรียกว่า " อัปปนาฌาน " ซึ่งทางพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 8 ระดับ กล่าวคือ 4 ระดับแรกเรียกว่า รูปฌาน ส่วนอีก 4 ระดับที่สูงขึ้นไปเรียกว่า อรูปฌาน ซึ่งทั้งสองระดับนี้ จิตยังคงอยู่ภายใต้การปรุงแต่งที่เป็นอนิจจังแห่งโลกียธรรม
ตามความเป็นจริง การปฏิบัติสมาธิภาวนา เป็นที่รู้จักกันมาก่อนที่จะมีพุทธศาสนา แต่พระพุทธองค์ทรงนำวิธีการนี้มาขัดเกลาและปรับปรุงให้เข้าสู่ระบบแห่งการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปฏิบัติสมาธิภาวนาจะมีประโยชน์ในระดับหนึ่งต่อการพัฒนาคุณภาพจิต แต่การทำสมาธิก็มิใช่เป็นวิธีที่จะนำไปสู่การดับทุกข์เข้าสู่กระแสนิพพานได้โดยตัวของมันเอง ดังในพุทธประวัติก่อนที่พระองค์จะทรงบรรลุธรรมมรรคผลแห่งนิพพาน ทรงเคยฝึกปฏิบัติสมาธิภาวนาจากพระอาจารย์ จนสำเร็จขั้นอรูปฌานในระดัเนวสัญญานาสัญายตนะมาแล้ว แต่ในที่สุดพระพุทธองค์ก็ยังไม่พอพระทัยด้วยทรงเห็นว่า ฌานใน 2 ขั้น 8 ระดับดังกล่าวนี้ ยังไม่สามารถบรรลุธรรมชั้นสูงได้ ทรงเล็งเห็นว่าสมาธิภาวนาเป็นเพียงวิธีปฏิบัติเพื่อทำจิตให้สงบในโลกียภาวะ ส่วนวิธีการที่จะชำระจิตให้บริสุทธิ์เข้าถึงสัจธรรมสูงสุดแห่งนิพพานได้นั้น จำเป็นจะต้องกระทำโดยวิธีวิปัสสนาภาวนาเท่านั้น
วิปัสสนาภาวนา เป็นวิธีปฏิบัติที่มีอยู่เฉพาะในทางพุทธศาสนาเพื่อสร้างความสงบสุขทางจิตวิญญาณให้กับชาวโลก เป็นวิธีการวิเคราะห์จิตที่ตั้งอู่บนรากฐานแห่งสัมมาสติและสัมมาสมาธิในการแสวงหาสัจธรรม ทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติสามารถรู้ได้โดยตนเองว่าสรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่คงที่ ไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลง เป็นทุกข์และไม่มีตัวตน ในแง่สัจธรรมจึงมีแต่ความว่างเปล่า ไม่มีสิ่งใดให้เรายึดมั่นถือมั่นว่า สิ่งเหล่านั้นเป็น " ตัวเรา ของเรา " ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิวิปัสสนา จะสามารถมองเห็น และตระหนักรู้ด้วยตนเองในความคิดที่เป็น กุศล หรือเป็น อกุศล ว่าเป็นเพียงกระบวนที่มีการเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ทำให้สามารถมองเห็นธรรมชาติที่แท้จริงในเรื่องของกิเลส ตัณหา คุณค่าแห่งความดีงาม บุญ บาป ดี ชั่ว เมื่อเรานำมาศึกษาวิเคราะห์จนเล็งเห็นในสรรพสิ่งทั้งหลายว่า " มันเป็นเช่นนั้นเอง " ก็จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสัจธรรมเหล่านั้นจากความมานะพยายามในการปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาดังกล่าวนั้นได้อย่างแท้จริงดังรายละเอียดที่ปรากฏอยู่ในหัวข้อของ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ ที่จะได้กล่าวต่อไป
By แก่นพุทธธรรม
No comments:
Post a Comment