นิทานในพุทธศาสนา
นิทาน นิยาย ชาดก เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นและเล่าขานสืบต่อกันมาเพื่อสร้างและสนับสนุนความเชื่อความศรัทธาต่อปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในฐานะที่เป็นลัญลักษณ์อย่างหนึ่งของทางศาสนา ไม่เฉพาะแต่ศาสนาเทวนิยมเท่านั้นที่มีนิยาย แม้แต่พุทธศาสนาก็มีนิยายที่แต่งขึ้นหรือมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกที่รู้จักกันดีอยู่เรื่องหนึ่งคือเรื่อง องคุลีมาล
พระคัมภีร์กล่าวไว้ดังนี้ ในกาลครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดำเนินเข้าไปในป่าทึบ ไม่ไกลจากคันธกุฏีที่พระองค์ทรงจำพรรษาอยู่เท่าใดนัก ชาวบ้านที่กำลังทำไร่ไถนาอยู่ในละแวกนั้นมองเห็นพระองค์ทรงดำเนินไปตามทาง จึงพากันเข้าไปกราบทูลให้ทรงทราบถึงภยันตรายจากโจรองคุลีมาลที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าแห่งนั้น
คนส่วนใหญ่คงจะยังไม่ทราบถึงภูมิหลังขององคุลีมาลเท่าใดนัก จากหลักฐานทางพุทธศาสนา ปรากฏว่า เดิมเขาชื่อ อหิงสกะ ( แปรว่า ผู้ไม่เบียดเบียน ) เป็นบุตรของภัควพราหมณ์ผู้มีอันจะกินปุโรหิตในพระเจ้าโกศล มารดาชื่อนางมันตานีพราหมณี อหิงสกะเป็นผู้เฉลียวฉลาด บิดาส่งให้ไปศึกษาศิลปศาสตร์ในสำนักพระอาจารย์ทิศาปาโมกข์แห่งเมืองตักสิลาซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นแหล่งการศึกษาชั้นสูง
เนื่องจากอหิงสกะเป็นผู้มีปัญญาปราดเปรื่อง เพื่อนศิษย์ต่างพากันริษยาใส่ร้ายให้อาจารย์หาทางกำจัดโดยลวงอุบายว่า เขาจะเป็นผู้ได้รับเกียรติอย่างสูง หากสามารถออกไปแสวงหานิ้วก้อยขวาของคนมาได้จนครบหนุึ่งพันนิ้ว
แทนที่เขาจะได้รับความสำเร็จนำปริญญากลับบ้าน หนุ่มอหิงสกะกลับเชื่อและปฏิบัติตามคำสั่งของอาจารย์ มุ่งหน้าออกหานิวมนุษย์ แรกเริ่มก็ด้วยการแลกซื้อด้วยเงิน นานเข้าเมื่อไม่มีผู้ขายเขาจึงเริ่มออกล่าเหยื่อด้วยการข่มขู่ฆ่าฟันเพื่อเก็บรวบรวมนิ้วมือมาให้ครบพัน
ต่อมาหลังจากที่เขาเก็บรักษานิ้วโดยนำไปแขวนกับต้นไม้นกกาพากันลอบจิกกินเป็นอาหาร ทำให้อหิงสกะหาทางออกด้วยการนำนิ้วเหล่านั้นมาร้อยเป็นพวงมาลัยแขวนไว้รอบคอตนเอง ด้วยเหตุที่เขาถูกมองว่าเป็นโจรที่โหดร้ายกระหายเลือดนำนิ้วมือคนมาแขวนคอ อหิงสกะจึงได้รับขนานนามว่า " องคุลีมาล " หรือ " พวงมาลัยที่ร้อยด้วยนิ้วมือ " ในเวลาต่อมา
นี่คือเรื่องของคนที่ถูกหลอกให้กระทำในสิ่งที่เชื่อว่าถูกต้อง ในครั้งนั้น องคุลีมาลแลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จผ่านมาแต่เพียงพระองค์เดียวคิดหมายมั่นที่จะทำร้ายพระองค์เพื่อตัดเอานิ้วมือที่สะสมไว้ทั้ง 999 ชิ้นให้ครบหนึ่งพันตามเป้าหมาย
องคุลีมาล โจรมหาโหดผู้มีร่างกายกำยำ ชักอาวุธออกไล่ตามหมายเข่นฆ่าพระพุทธองค์เพื่อจะตัดเอานิ้วมือให้ครบตามความตั้งใจ ครั้งแรกเขาคิดว่าง่าย แต่ยิ่งตามก็รู้สึกยิ่งแปลกประหลาด เกิดความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าไล่ไม่ทันพระองค์ที่ดำเนินตามทางด้วยพระอาการที่สงบนิ่งปราศจากความรีบเร่งแต่ประการใด ในที่สุดองคุลีมาลจึงตะโกนสั่งให้พระองค์ทรงหยุด
ทันใดนั้น พระผู้มีระภาคเจ้าทรงหันมาตรัสด้วยพระอาการอันสงบกับองคุลีมาลว่า " เราหยุดแล้ว แต่ท่านต่างหากที่ยังไม่หยุด ( การฆ่าการทำร้ายคน ) " เมื่อองคุลีมาลได้ยินพุทธพจน์ดังนี้จึงได้สติ ฉุกคิดว่า ตัวเราเองสิ ควรจะต้องหยุดตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำ ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจโยนดาบทิ้งและเดินตามพระพุทธองค์กลับมายังคันธกุฏีเพื่อขอให้พระองค์ทรงบวชให้เป็นภิกษุในพุทธศาสนา
ในกาลครั้งนั้น มีพระราชาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาพร้อมแม่ทัพนายกองยกกองทหารผ่านมา จึงพากันแวะเข้าเฝ้าเพื่อกราบนมัสการต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ก่อนออกตามจับมหาโจรองคุลีมาล เนืองจากยังไม่ทรงทราบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก่อนพระบรมศาสดาทรงไต่ถามพระราชาว่า จะทรงรู้สึกอย่างไรหากโจรที่พระองค์ทรงตามล่ากำลังนั่งอยู่ท่ามกลางหมู่สงฆ์ในขณะนั้น
ในตอนแรก พระราชายังไม่ทรงเชื่อว่า คนถ่อยหยาบช้าเช่นองคุลีมาลจะเข้ามาบวชเป็นพระแลนั่งอยู่ท่ามกลางคณะสงฆ์ผู้ทรงศีลเช่นนี้ได้อย่างไร จึงตรัสต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงพระองค์จะทรงยอมก้มลงกราบแลถวายไทยทาน ทันใดนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยื่นพระหัตถ์ขวาชี้ไปยังพระรูปหนึ่งที่นั่งท่ามกลางหมู่สงฆ์
เมื่อพระราชาทรงตื่นจากภวังค์ด้วยความตกใจกลัวเพราะทรงจำได้ว่าเป็นองคุลีมาล จึงทรงก้มลงกราบนมัสการแลทูลสรรเสริญว่า " เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนักที่พระองค์ทรงทำได้สำเร็จโดยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้อาวุธหรือความรุนแรงดังที่พวกเราได้เคยพยายามมาแล้วแต่อย่างใด "
ในที่สุดแห่งช่วงเวลาหนึ่งที่เขาได้พิสูจน์ตัวเอง องคุลีมาลก็สามารถปฏิบัติจนบรรลุธรรมชั้นสูงได้ด้วยการขจัดความ โลภ โกรธ หลง และสำเร็จอรหัตตผลในเวลาต่อมา
By แก่นพุทธธรรม
No comments:
Post a Comment