Saturday, October 13, 2012

Karl Heinrich Mark



คาร์ล มาร์กซ ( Karl Heinrich Mark )

         คาร์ล มาร์กซ ( 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1818 - 14 มีนาคม ค.ศ. 1883 ) ผู้สร้างลัทธิมาร์กซ ปรมจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ของชนชั้นกรรมาชีพและประชาชนผู้ใช้แรงงานทั่วสากลพิภพ เกิดจากครอบครัวนักฏหมายชาวยิวในเมืองเทรียร์ ( Trier ) แห่งมณฑลไรน์แห่งแคว้นปรัสเซีย ( ปัจจุบันอยู่ในเยอรมนี ) ฤดูใบไม้ร่วงปี ค.ศ. 1835 เรียนนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบอนน์ ปีถัดมาย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน วิชาเอกคือประวัติศาสตร์และปรัชญา เข้าร่วมหน่วยเยาวชนเฮเกลหัวรุนแรง ปี ค.ศ. 1839 มาร์กซทำวิทยานพนธ์เรื่อง ความแตกต่างระหว่างปรัชญาธรรมชาติของเดโมคริตุส ( Democretus ) กับปรัชญาธรรมชาติของเอพิคิวรัส ( Epicurus ) และได้ข้อสรุปเทวนิยมจากปรัชญาของเฮเกล ได้รับปริญญาเอกสาขาปรัชญา ในปี ค.ศ. 1841


          ตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. 1842 เป็นต้นไปก็รับหน้าที่เขียนคอลัมน์ให้กับหนังสือพิมพ์ไรน์ ( Rheinische Zeilung ) เดือนตุลาคมได้รับตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร ในระหว่างนี้ มาร์กซอาศัยการเขียนบทความเปิดโปงรัฐบาลปฏิกิริยาอย่างถึงแก่น เริ่มต้นแปรเปลี่ยนจากนักจิตนิยมเป็นนักวัตถุนิยม จากลัทธิประชาธิปไตยปฏิวัติเป็นนักลัทธิคอมมิวนิสต์ เมื่อ หนังสือพิมพ์ไรน์ถูกรัฐบาลสั่งปิดโดยสิ้นเชิงในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1843

           กลางปี ค.ศ. 1843 มาร์กซสมรสกับเจนนี ฟอน เวสฟาเลน ( Jenny Von Westphalen ) และเดินทางไปอยู่ปารีส เริ่มสร้างความสัมพันธ์กับองค์กรลับของกรรมกรและหัตถกรเยอรมันและฝรั่งเศส มักจะเข้าร่วมการประชุมของบุคคลเหล่านี้อยู่เสมอๆ ทั้งได้เริ่มค้นคว้าเศรษฐศาสตร์การเมือง, ลัทธิสังคมนิยมจินตนาการและประวัติศาสตร์

            ปี ค.ศ. 1844 จัดออกหนังสือ รายงานประจำปีของเยอรมนี - ฝรั่งเศส และเขียนบทความเรื่อง คำนำวิพากษ์วิธีปรัชญาของเฮเกล และ ว่าด้วย ปัญหาชาวยิว ซึ่งได้ข้อเสนอเป็นครั้งแรกว่า ชนชั้นกรรมาชีพเป็นชนชั้นเดียวที่สามารถทำลายการขูดรีดได้ การเคลื่อนไหวของกรรมกรจะต้องประสานกับโลกทัศน์วิทยาศาสตร์ และมีความเห็นว่า " จะต้องดำเนินการวิพากษ์ อย่างไร้ความปรานีต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน " โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ " การวิพากษ์ด้วยอาวุธ " บทความเหล่านี้และจดหมายหลายฉบับถึง อาร์โนล รูเก ในเวลานั้น เป็นสัญลักษณ์แสดงว่า การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของมาร์กซได้ลุล่วงลงแล้ว

           ปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1844 มาร์กซกับเองเกลส์พบกันในปารีสนับแต่นั้นมา ปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองท่านก็ได้ต่อสู้เพื่อภารกิจการปลดปล่อยของชนชั้นกรรมาชีพตลอดชีวิต ก่อนอื่นท่านทั้งสองร่วมกันค้นคว้าโลกทัศน์วิทยาศาสตร์ใหม่ ผลแรกสุดของการร่วมมือก็คือหนังสือเรื่อง " ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ " ซึ่งท่านทั้งสองร่วมกันเขียน ซึ่งวิจารณ์ปรัชญาจิตนิยมฝ่ายเฮเกลที่ บรูโน บาวเออร์ เป็นต้น เป็นตัวแทน ได้อรรถาธิบายให้เห็นว่ามวลประชาชนเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์อันเป็นหลักทฤษฎีพื้นฐานของวัถุนิยมประวัติศาสตร์ออกมาอย่างชัดเจน ปี ค.ศ. 1844 มาร์กซเขียนเรื่องบันทึกเศรษฐศาสตร์การเมืองและปรัชญา ปี ค.ศ. 1845 เนื่องจากมาร์กซได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวปฏิวัติ จึงถูกรัฐบาลฝรั่งเศสเนรเทศ จำต้องย้ายไปอยู่ในกรุงบรัสเซลแห่งเบลเยียม หลังจากมาร์กซเขียนเรื่อง ข้อเสนอว่าด้วย ฟอยเออร์บัค ไม่นาน เองเกลส์ก็มาพบที่บัรสเซล และร่วมกันเขียนเรื่อง รูปลักษณ์จิตสำนึกของเยอรมนี วิพากษ์ฝ่ายเฮเกลลึกซึ้งลงไปอีก พร้อมทั้งได้อธิบายทฤษฎีเกี่ยวกับโลกทัศน์ใหม่ โดยเฉพาะหลักทฤษฎีพื้นฐานของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์อีกบางประการ เสนอภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์ในการช่วงชิงอำนาจรัฐของชนชั้นกรรมาชีพเป็นครั้งแรก

           ปี ค.ศ. 1846 มาร์กซร่วมกับเองเกลส์ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการสื่อสารลัทธิคอมมิวนิสต์และสมาพันธ์กรรมกรเยอรมนีขึ้นในบรัสเซล วิพากษ์ลัทธิปรูดอง, ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบเฉลี่ยของเวทลิ่งและลัทธิสังคมนิยม " ที่แท้จริง " ปี ค.ศ. 1847 ออกหนังสือเรื่อง ความอับจนของปรัชญา ซึ่งวิพากษ์ปรัชญาที่อับจนของปรูดอง ในปีเดียวกันก็เข้าร่วม " สันนิบาตลัทธิคอมมิวนิสต์ " ในระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. 1847 ถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1848 เข้าร่วมงานการนำของสมัชชาผู้แทนครั้งที่ 2 ของสินนิบาตลัทธิคอมมิวนิสต์ และรับการมอบหมายของสมัชชา ร่วมกับเองเกลส์ร่างหลักนโยบายของสันนิบาต ด้วยประการฉะนี้ แถลงการพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นเป็นเอกสารอันยิ่งใหญ่ที่แบ่งยุคแบ่งสมัยก็ได้ถือกำเนิดเกิดขึ้น แถลงการณ์ได้สรุปความจัดเจนทางประวัติศาสตร์ในการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ ได้อรรถาธิบายศาสตร์และทฤษฎีของท่านทั้งสองเกี่ยวกับการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพและเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพอย่างเป็นระบบและสมบูรณ์ เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1848 ได้รับการตีพิมพ์ประกาศอย่างปิดเผยต่อชาวโลกในกรุงลอนดอน จากนั้นเป็นต้นมา การเคลื่อนไหวปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกต่างถือแถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ เป็นเข็มทิศการปฏิบัติการและหลักนโยบายการต่อสู้ไปตามๆ กัน

           ในระหว่างการปฏิวัติของยุโรปปี ค.ศ. 1848 - 1849 มาร์กซและเองเกลส์กลับไปเยอรมนี เข้าร่วมการต่อสู้กับมวลประชาชน จัดทำหนังสือพิมพ์ไรน์ใหม่ ขึ้นในเมืองโคโลญ สนับสนุนการต่อสู้ปฏิวัติของประชาชนประเทศต่างๆ หลังจากการปฏิวัติพ่ายแพ้แล้ว ก็ถูกขับออกจากบรัสเซียในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1849 กลับไปอยู่ในปารีสอีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นก็ย้ายไปพำนักในลอนดอนจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

           เมื่อมาร์กซมาอยู่ในลอนดอนแล้ว ก็จัดตั้งสันนิบาตลัทธิคอมมิวนิสต์และคณะกรรมการกลางขึ้นในทันที หลังจากการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ของฝรั่งเศสต้องพ่ายแพ้ไปในปี ค.ศ. 1848 และหลุยซ นโปเลียนก่อรัฐประหารที่เป็นปฏิปักษ์การปฏิวัติแล้ว ก็เขียนนิพนธ์เรื่อง การต่อสู้ทางชนชั้นของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1848 - 1850 และ วันที่ 18 ของเดือนหมอกหนาของหลุยซ โบนาปาร์ต สรุปความจัดเจนทางประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติ ค.ศ. 1848 ได้อธิบายหลักทฤษฎีพื้นฐานของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ไว้อีกหลายต่อหลายชุด เสนอข้อวินิจฉัยการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพจะต้องตีกลไกรัฐเก่าให้แหลกลาญไปและการปฏิวัติเป็นหัวรถจักรของประวัตศาสตร์ ตลอดจนความคิดเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ การปฏิวัติไม่ขาดสายและพันธมิตรระหว่างกรรมกรชาวนา เป็นต้น ออกมาเป็นครั้งแรก

           ปี ค.ศ. 1859 เสนอบทนิพนธ์เรื่อง วิพากษ์ศรษฐศาสตร์การเมืองอันได้วางรากฐานการอธิบายทฤษฎีมูลค่าส่วนเกินอย่างละเอียดอีกต่อไปในภายหลัง ปี ค.ศ. 1867 ก็จัดพิมพ์บทนิพนธ์สำคัญเรื่อง ว่าด้วยทุน เล่ม 1 บทนิพนธ์อมตะนี้ ได้บรรยายศิลาฤกษ์แห่งทฤษฎีศรษฐศาสตร์การเมืองของมาร์กซไว้อย่างยอดเยี่ยม ได้เปิดโปงความขัดแย้งและกฏแห่งการเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจภายในสังคมลัทธิทุนนิยม อธิบายพิสูจน์ให้เห็นถึงลัทธิทุนนิยมจะต้องดับสูญไปอย่างแน่นอนและลัทธิคอมมิวนิสต์จะต้องได้รับชัยชนะในที่สุด อันได้วางรากฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มั่นคงให้แก่ลัทธิสังคมนิยมในระยะเวลา 20 ปึจากปี ค.ศ. 1850 - 1870 มาร์กซเขียนจดหมายติดต่อแลกเปลี่ยนความเห็นในปัญหาการเมือง วิทยาศาสตร์สังคมและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติกับเองเกลส์ที่อยู่ในเมืองแมนเชสเตอร์เกือบทุกวัน

          เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นของกระแสสูงของการเคลื่อนไหวกรรมกร เดือนกันยายน ค.ศ. 1864 มาร์กซจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรสากล ( คือสากลที่หนึ่ง ) ขึ้นมาในลอนดอน และเป็นผู้นำขององค์การนี้ ได้ต่อสู้อย่างไม่ประนีประนอมภายในสากลที่หนึ่งกับลัทธิปฏิรูป, ลัทธิยอมจำนน, ลัทธิอนาธิปไตย, ลัทธิแตกแยกและการเคลื่อนไหวคัดค้านสากลที่หนึ่งพวกกลุ่มปรูดอง, กลุ่มบากูนิน, กลุ่มสมาพันธ์กรรมกรและกลุ่มลาสเซลล์ วันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1871 กรรมกรปารีสก่อการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธ สร้างอำนาจรัฐของชนชั้นกรรมาชีพแรกสุดในประวัติศาสตร์ ( คอมมูนปารีส ) ขึ้น มาร์กซประเมินจิตใจริเริ่มปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพปารีสอย่างสูง เขียนบทนิพนธ์เรื่อง สงครามภายในประเทศฝรั่งเศส สรุปความจัดเจนของคอมมูนปารีสไว้ในจุลสารเล่มนี้

         ในระหว่างทศวรรษที่ 7 และที่ 8 มาร์กซทุ่มเทกำลังกายกำลังใจทั้งหมดเขียน ว่าด้วยทุน เล่ม 2 และ 3 ในขณะเดียวกันก็สนใจการพัฒนาของการเคลื่อนไหวลัทธิคอมมิวนิสต์ทั่วสากล ปี ค.ศ. 1875 กลุ่มไอเซนนาชในการเคลื่อนไหวกรรมกรเยอรมันรวมตัวกับกุล่มลาสซาล หลงใหลอยู่กับความสามัครคีทางรูปแบบ ถึงกับ " นำหลักการไปเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน " ประนีประนอมกับลัทธิฉวยโอกาสลาสซาล มาร์กซแม้จะกำลังป่วยอยู่ ก็พยายามเขียนนิพนธ์เรื่อง " วิพากษ์หลักนโยบายโกธา " " วิพากษ์ทัศนะลัทธิฉวยโอกาสของศาสนาลาสซาลในหลักนโยบายพรรคกรรมกรเยอรมนีอย่างไม่ไว้หน้า ชี้ให้เห็นชัดว่า ในระหว่างลัทธิทุนนิยมกับลัทธิคอมมิวนิสต์มีระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ก็มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองระยะหนึ่ง รัฐในระยะเปลี่ยนผ่านนี้จะมีได้ก็แต่เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ

         การประทุษร้ายของรัฐบาลปฏิกิริยา ชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากแสนสาหัสและงานทฤษฎีกับการปฏิบัติอย่างจริงจังที่หนักหน่วงเป็นอย่างยิ่ง ได้ทำลายสุขภาพของมาร์กซอย่างร้ายแรง หลังเที่ยงของวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1883 มาร์กซก็ลาโลกไปบนเก้าอี้พักผ่อนตัวโปรดของเขาอย่างสงบ

         เองเกลส์ได้สรุปชั่วชีวิตหนึ่งของมาร์กซไว้ข้อความบางตอนว่า " มาร์กซค้นพบกฏแห่งการพัฒนาของมนุษยชาติ " " และยังได้ค้นพบแบบวิธีการผลิตของลัทธิทุนนิยมตลอดจนกฏแห่งการเคลื่อนไหวเป็นเฉพาะของสังคมลัทธิทุนนิยมที่เกิดจากแบบวิธีการผลิตดังนี้ " มาร์กซเป็น " วิศวกรวิทยาศาตร์ผู้ยิ่งใหญ่ " แต่ก่อนอื่น " เขาเป็นนักปฏิวัติ ได้ใช้แบบวิธีบางอย่างเข้าร่วมภารกิจการโค่นสังคมลัทธิทุนนิยมและระบอบรัฐที่สังคมนี้สร้างขึ้นมา เข้าร่วมภารกิจการการปลดปล่อย ชนชั้นกรรมาชีพปัจจุบันซึ่งได้อาศัยมาร์กซจึงได้สำนึกถึงเงื่อนไขการปลดปล่อยตนเองด้วย นี่โดยความเป็นจริงแล้ว คือภาระหน้าที่ชั่วชีวิตของมาร์กซ "

         มาร์กซจบชีวิตอันยิ่งใหญ๋ของตนไปแล้ว แต่ข้อมูลอันมหาศาล ว่าด้วยทุน เล่ม 2 และเล่ม 3 ยังมิได้เป็นรูปเล่มที่สมบูรณ์ เองเกลส์จึงได้รวบรวมเขียนแทนมาร์กซจนเสร็จสิ้นตามความประสงค์ของมาร์กซ






By นิพนธ์พจน์ลัทธิมาร์กซ

No comments:

Post a Comment