ไม่มีเวลาแก่
ท่านต้าจื้อศิษย์ของท่านฝอกวงออกธุดงค์เป็นเวลา 20 ปี เมื่อกลับมาถึงวัด เขาทักทายท่านฝอกวงว่า " อาจารย์ ไม่ได้พบกันเสียหลายปี ท่านสบายดีหรือไม่ "
" สบายดี เทศนาสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหา แต่งหนังสือ เขียนบทสวดมนต์ แหวกว่ายอยู่ในทะเลธรรมทุกวัน ข้าทำงานหนักอย่างมีความสุขทุกวัน " ท่านฝอกวงปรารภอย่างพึงพอใจ
" อาจารย์ ท่านต้องสนใจการพักผ่อนบ้างนะ " ท่านต้าจื้อกล่าวด้วยความห่วงใย
ขณะนั้นดึกมากแล้ว ท่านฝอกวงจึงบอกท่านต้าจื้อว่า " ถ้าเช่นนั้นท่านก็จงพักผ่อนเถิดนะ มีอะไรค่อยคุยกันวันหลัง "
วันรุ่งขึ้นท่านต้าจื้อหลับอุตุอยู่ ก็ได้ยินท่านฝอกวงสวดมนต์ดังงึมงำ และวันนั้นทั้งวัน ท่านฝอกวงก็นั่งพูดคุย เทศนาสั่งสอนเหล่าลูกศิษย์ลูกหา ไม่มีเวลาว่างแม้แต่นาทีเดียว
ท่านต้าจื้อนั่งรออย่างอดทน จนกระทั่งดึกดื่น จึงเห็นท่านฝอกวงว่างลงมาบ้าง เขากล่าวกับท่านฝอกวงอย่างเอาใจใส่ว่า " อาจารย์ จากกันตั้ง 20 ปี ท่านทำงานหนักทุกวันอย่างนี้เลยหรือ ? แต่ดูท่านไม่แก่ลงเลยนะ "
ท่านฝอกวงหัวเราะ กล่าวว่า " มัวแต่เพลินกับการทำงาน จึงไม่มีเวลาแก่ "
แง่คิด
มีความสุขจึงลืมความทุกข์
คนที่ทำงานเพลินจนลืมแก่นั้น ย่อมไม่มีเวลาไปทอดอาลัยกับอดีตอันรุ่งโรจน์ จิตใจของเขามีเพียงปัจจุบันอันแสนสุข แสนเพลิดเพลินคนชนิดนี้ ต่อให้อายุปาเข้าไป 70 -80 แต่ไฟแห่งอุดมการณ์ก็ยังคงโชติช่วงชัชวาลย์ ความหวังยังเรืองรอง จิตใจยังคงคึกคักกระปรี้กระเปร่า เช่นนี้ ย่อมไม่รู้สึกว่าตัวเองแก่เฒ่าไร้ประโยชน์
ขงจื้อกล่าวว่า " ยามศึกษา ไม่รู้จักเบื่อหน่าย ยามสอนคน ไม่รู้จักหน่าย ยามโกรธก็ลืมกิน ยามสุขลืมทุกข์ ทำงานเพลินลืมแก่ " ก็คือสภาวะที่เกิดขึ้นจากจิตใจเช่นนี้เอง
มีคำกล่าวว่า " วันเวลาสร้างความเหี่ยวย่นแก่ผิวหนัง ความท้อแท้สร้างความห่อเหี่ยวแก่จิตวิญญาณ " คนเราหากเลิกตามหาอุดมการณ์ก็จะร่วงโรยแก่ชราอย่างรวดเร็ว ความจริง ในชีวิตของคนคนหนึ่ง ถ้าหากมีกิจการงานที่เป็นที่พึ่งทางใจของตัวเอง มีครอบครัวให้ดูแล มีความรักอันอบอุ่นประดุจดังแสงตะวันที่ให้พลังแก่สรรพชีวิตในโลกหล้าแล้วไซร้ ชีวิตของคนคนนั้นก็จะไม่รู้สึกเศร้าหงอยเหงา เราจะไม่มีวันรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ตัวเองกำลังแก่ชรา
อาจารย์เซนซึ่งทำงานเพลินจนลืมแก่ ก็คือคนที่เดินไปตามหนทางชีวิตที่มีความเจริญเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง อายุจึงเป็นเพียงตัวเลขแต่ชีวิตกลับเป็นพลังที่เปี่ยมไปด้วยความคึกคักกระชุ่มกระชวย ไม่เคยแก่ไม่เคยร่วงโรยตราบจนกระทั่งสังขารแตกดับ
By สุภาพร ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )
No comments:
Post a Comment