Monday, October 22, 2012

ทางออกประชาชน ( ตอนที 1 )






" สร้างภูมิปัญญาใหม่
เพื่อความเป็นไท
เป็นธรรม
และคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน "

40 ปีภายหลังยุค " ฉันจึงมาหาความหมาย "
เราเรียนรู้อะไร และเราควรจะทำอะไรกันต่อไป

เผด็จการทหาร 2501 - 2516



         เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว นิสิตนักศึกษาจำนวนหนึ่งไม่พอใจกับมหาวิทยาลัยที่มีปรัชญาการสอนหนังสือแบบท่องตำราฝรั่งและมุ่งวัดผลแบบท่องมากเกินไป ไม่พอใจกับพวกนักศึกษารุ่นพี่ที่ทำตัวเป็นอภิสิทธิชน เอาแต่สนุกสนานกับงานรับน้องใหม่ งานลีลาส การเชียร์กีฬามากเกินไป ในสภาพที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจนและถูกทอดทิ้ง ไม่พอใจกับรัฐบาลเผด็จการทหารผู้ทุจริตฉ้อฉล ใช้อำนาจบาตรใหญ่และไม่พอใจกับนโยบายการเปิดประเทศให้สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพ เพื่อส่งทหารไปรบกับประเทศอินโดจีนเพื่อนบ้าน และส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนกอบโกยทรัพยากรของประเทศ เพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจกลุ่มน้อย โดยกดราคาข้าวในประเทศ ทำให้ชาวนายากจน และกดค่าจ้างแรงงานเพื่อเอาใจภาคอุตสาหกรรม


เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516



          ในต้นทศวรรษ 2510 นักศึกษากลุ่มเล็กๆ ผู้สนใจแสวงหาชีวิตที่มีความหมาย และสังคมไทยที่ดีขึ้นกว่าเดิม ได้เริ่มจับกลุ่มค้นคิด ศึกษา เผยแพร่ ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งค่อยๆ พัฒนาสู่ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย " 14 ตุลาคม 2516 " เหตุการณ์ " 14 ตุลา " ทำให้นักศึกษาประชาชนได้รับชัยชนะมาระดับหนึ่งคือ ได้รัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่นักการเมืองพลเรือนที่ได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลในช่วงปี 1517 - 2519 ก็ยังคงสนใจแต่การรักษาอำนาจและผลประโยชน์กับพรรคพวก ไม่ได้พยายามปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย และความเป็นธรรม แก่ประชาชนส่วนใหญ่ ในยุคนั้นจึงได้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิความชอบธรรมจากคนงาน ชาวนา และประชาชนทั่วไป

 6 ตุลาคม 2519



          แต่กลุ่มผู้ปกครองของไทย ทั้งทหารและพลเรือน ยังคงมีความคิดจารีตนิยมแบบสุดโต่ง ไม่ยอมปฏิรูปเปลี่ยนแปลง กระจายสิทธิ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจสู่ปะชาชน สังคมไทยในยุคนั้นจึงเกิดความขัดแย้งแบบ 2 ขั้ว ระหว่างฝ่ายขวากับฝ่ายซ้าย ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เพียง 3 ปีของการได้ประชาธิปไตยแบบรัฐสภากลับคืนมา ก็ได้เกิดกรณีสังหารหมู่นักศึกษาประชาชน ที่ชุมนุมคัดค้านการกลับมาของทรราชที่ถูกขับออกไปสมัย 14 ตุลาคม 2516 ยังผลให้มีผู้สูญเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายร้อยคน และจำนวนหลายพันคนถูกจับกุมคุมขัง การที่ผู้ปกครองใช้ความรุนแรงอย่างเหี้ยมโหด ทำให้การตอบโต้ที่รุนแรงจากขบวนการประชาชน นำไปสู่การขยายตัวของสงครามจรยุทธ์ ระหว่างฝ่ายรัฐบาลเผด็จการกับขบวนการสังคมนิยมที่ได้รับการสนับสนุนจากนักศึกษา ปัญญาชน ประชาชนทีมีแนวคิดก้าวหน้า ทำให้เกิดสงครามยืดเยื้อเป็นเวลาหลายปี

           จนในราวปี 2522 - 2523 รัฐบาลชุดใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากนายทหารสายปฏิรูป ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบายจากการปราบปรามฝ่านค้านด้วยกำลัง มาใช้วิธีเจรจาสงบศึก และนิรโทษกรรมนักศึกษาประชาชนที่ถูกสถานการณ์ 6 ตุลาคม 2519 บีบให้ต้องจับอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับกองทัพรัฐบาล ประกอบกับเกิดความขัดแย้งภายในขบวนการสังคมนิยม ทั้งในระดับสากลและภายในประเทศทำให้นักศึกษาปัญญาชนหลายพันคนที่เข้าป่าตอนหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทยอยจากป่าคืนเมือง

การประนีประนอมและการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเน้นความเติบโต

           การใช้นโยบายประนีประนอมของรัฐบาลไทย และความล้มเหลวของขบวนการสังคมนิยม ตั้งแต่ทษวรรษ 2520 เป็นต้นมาทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวาหมดไปรัฐบาลซึ่งนำโดยนักการเมือง นักธุรกิจ และนายทหาร ส่งเสริมการลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งพาทุนและการค้าระหว่างประเทศอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดการบริโภคและการเก็งกำไรสูง เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วแบบฟองสบู่ คนรวยคนชั้นกลางมีรายได้และจับจ่ายใช้สอยฟุ่มเฟือยมากขึ้น คนไทยส่วนใหญ่ก็พลอยได้ประโยชน์ทางการเติบโตด้านวัตถุไปด้วย

           แม้ว่าช่องว่างความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนมีมากขึ้นพร้อมทั้งทรัพยากรธรรมชาติแวดล้อมถูกทำลายมากขึ้น ปัญหาความขัดแย้งความรุนแรง ปัญหายาเสพย์ติด ปัญหาสังคมและวัฒนธรรมด้านต่างๆ จะมีมากขึ้น แต่คนไทยส่วนใหญ่ ในช่วงศตวรรษ 2520 และ 2530 ก็ดูจะพอใจกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นความเจริญเติบโตทางด้านวัตถุ ที่ทำให้คนมีเงินใช้จ่าย และทำให้เกิดค่านิยมแบบมุ่งแข่งกันหาเงิน แข่งกันบริโภคมากขึ้น

           หลังจากความล้มเหลวของขบวนการสังคมนิยม ขบวนการประชาธิปไตยของนักศึกษาประชาชนซบเซามาตามลำดับ ส่วนหนึ่งเพราะคนชั้นกลางที่เติบโตขึ้นได้รับผลประโยชน์จากความเจริญเติบโตแบบฟองสบู่ นิสิตนักศึกษารุ่นใหม่คือลูกหลานคนรวยคนชั้นกลางที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สบายมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะคนที่เคยมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยเพื่อประชาชนเกิดความรู้สึกว่าขบวนการสังคมนิยมเป็นเพียงอดีตที่จบไปแล้ว เป็นอุดมคติที่ใฝ่ฝันที่ไม่อาจบรรลุได้ การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและการปรับเปลี่ยนเป็นทุนนิยมของประเทศสังคมนิยมส่วนใหญ่ และการที่เศรษฐกิจไทยเติบโตสูง ทำให้ส่วนใหญ่คนคิดว่าสังคมนิยมตายแล้ว และทุนนิยมชนะ หรือไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากแนวทางของทุนนิยม แม้ว่าทุนนิยมจะยังเป็นระบบเศรษฐกิจที่มีปัญหาการเอาเปรียบทั้งธรรมชาติและคนมาก แต่พวกเขาก็คิดว่า ต้องตามแก้ปัญหากันไปภายใต้กรอบการพัฒนาแบบทุนนิยม

วิกฤติที่ร้ายแรงยิ่งกว่ายุคเผด็จการ

           แต่วิกฤติของการเป็นหนี้ต่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่การลดคาเงินบาท และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาการว่างงานในไทยและหลายประเทศในเอเชียและลาตินอเมริกา ตั้งแต่กลางปี 2540 เป็นต้นมาได้ทำให้คนเริ่มตั้งคำถามว่าการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางทุนนิยมตะวันตก คงไม่ใช่ทางเลือกทางเดียวที่มีอยู่อีกต่อไป หลายคนตั้งถามว่าการพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางทุนนิยมตะวันตก คงไม่ใช่ทางเลือกทางเดียวที่มีอยู่อีกต่อไป หลายคนตั้งคำถามว่า ก็ไม่ใช่เพราะการพัฒนาตามแนวทางทุนนิยมตะวันตก ที่พึ่งพาการลงทุนและการกู้ยืมจากต่างประเทศมากดอกหรือ จึงทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤติทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ขนาดนี้ ?

           2 ปีผ่านไป รัฐบาลแก้ปัญหาภายใต้กรอบคิดเดิม ตามคำชี้แนะของตัวแทนเจ้าหนี้คือ IMF ทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้น เป็นหนี้สินท่วมตัวล้มละลาย รายได้ลดลง เดือดร้อน เคร่งเครียด หม่นหมองกันทั่วหน้าเกิดการทุจริตฉ้อฉล การเอารัดเอาเปรียบ ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทยแผ่ขยายไปทั่วทุกปริมณฑล

เราเรียนรู้อะไร ?

           บทเรียนในรอบ 40 ปี ที่ผ่านมา คือ คนไทยเราไม่ค่อยได้สนใจการเรียนรู้และการวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจสังคมอย่างวิพากษ์วิจารณ์และเชื่อมโยงเป็นองค์รวม ไม่ค่อยสนใจการวิจัยและสร้างภูมิปัญญาของเราเองอย่างจริงจัง ปัญญาชนส่วนหนึ่งพยายามพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้ทันสมัยแบบทุนนิยมตะวันตก ปัญญาชนส่วนหนึ่งก็พยายามพัฒนาประชาธิปไตยระบบรัฐสภาแบบตะวันตก ปัญญาชนกลุ่มที่มีแนวคิดก้าวหน้าพยายามพัฒนาเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมอยู่ระยะหนึ่ง แต่ก็เป็นสังคมนิยมแบบนำแนวทางของประเทศอื่นๆ มาเป็นแบบอย่าง ความพยายามที่จะพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งนำโดยปัญญาชนหรือชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างครึ่งๆ กลางๆ บางอย่างทำท่าจะดีขึ้น แต่หลายอย่างก็กลับเลวร้ายลง หรือมีปัญหาเพิ่มและสลับซับซ้อนมากขึ้น

           ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงนี้บ้าง แต่ขาดการเรียนรู้และการพัฒนาองค์กรจัดตั้งอย่างต่อเนื่อง และประชาชนทั่วไปยังฝากความหวังไว้กับชนชั้นนำ มากกว่า จะตื่นตัวกล้าคิดกล้าทำ รวมกลุ่มเอง

เราควรจะทำอะไรกันต่อไป ?

           เราควรจะเผชิญกับวกฤติครั้งที่ร้ายแรงที่สุดนี้อย่างตรงไปตรงมา วิเคราะห์ให้เห็นสาเหตุทางโครงสร้างของวิกฤติอย่างแท้จริง และคิดในเชิงผ่าตัดปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย ตลอดจนคิดหาทางเลือกใหม่ที่เป็นทางเลือกเฉพาะของไทย อย่างกล้าพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ใช่การเชื่อตามรัฐบาลและชนชั้นนำที่ชอบสร้างภาพหลอกประชาชน หรือหลอกกันเองว่าวิกฤติครั้งนี้เป็นเพียงเรื่องวัฏจักรขึ้นลงทางเศรษฐกิจ เมื่อถึงจุดต่ำสุดแล้วก็จะฟื้นขึ้นมาเอง หรือถ้าทำตามเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF ) แล้ว ต่างชาติจะมั่นใจกลับมาลงทุนเพิ่มขึ้น ให้กู้เพิ่มขึ้น แล้วเศรษฐกิจไทยก็จะดีเหมือนเดิม

           จริงๆ แล้วถ้าหากรัฐบาลยังคงแก้ปัญหาภายใต้กรอบคิดเก่าของการกู้หนี้มาใช้หนี้เก่า และส่งเสริมให้ต่างชาติมาลงทุนเพิ่มขึ้นเศรษฐกิจไทยไม่มีทางจะฟื้นกลับมาดีได้ทั่วทุกส่วนได้อีกต่อไป การใช้นโยบายเอาใจให้ต่างชาติปล่อยกู้เพิ่ม เข้ามาลงทุนเพิ่มได้อย่างเสรีและซื้อกิจการของไทยได้ในราคาที่ต่ำมาก ถึงจะทำให้ตัวเลขผลผลิตโดยรวมของเศรษฐกิจไทยฟื้น ( จากจุดต่ำสุด ) ได้ การฟื้นในที่นี้ก็จะเป็นเพียงการฟื้นเพียงบางส่วน เช่น ภาคธุรกิจส่งออก หรือภาคอุตสาหกรรมการค้าบริการ ที่ีสามารถขายสินค้าบริการให้คนที่มีฐานะดีและปานกลางที่ยังคงมีอำนาจซื้อได้ หรือการที่รัฐบาลไปกู้เงินมาช่วยธนาคาร กระตุ้นเศรษฐกิจให้คนมีงานทำและรายได้ช่วงสั้นๆ แต่ไม่ใช่การฟื้นของเศรษฐกิจภายในประเทศทุกส่วน

           การฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบอาศัยต่างประเทศและการใช้จ่ายของคนส่วนน้อย นอกจากจะทำให้รัฐบาลเป็นหนี้สัดส่วนสูงขึ้น และนำประเทศไปอยู่ภายใต้การครอบงำของต่างชาติเพิ่มขึ้นแล้ว ก็ยังจะไม่ได้แก้ปัญหาคนว่างงาน 2 ล้านคน ปัญหาคนจน คนมีรายได้น้อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ เพราะทุนจากต่างชาติจะสนใจการใช้เครื่องอัตโนมัติมากกว่าการจ้างงาน สนใจการขายสินค้าให้ได้กำไรสูงสุด มากกว่าสนใจการผลิตที่จะใช้แรงงานและทรัพยากรภายในประเทศ

           เมื่อคนตกงานเพิ่ม และรายได้แท้จริงลดลง โอกาสที่เศรษฐกิจภายในประเทศทุกส่วนจะฟื้น และเติบโตเข้มแข็งก็จะเป็นไปได้ยากความหวังว่า ถ้าต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้วจะมีงานทำเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจภายในประเทศจะดีขึ้น นั้นเป็นภาพลวงตา การใช้เครื่องอัตโนมัติแทนเพื่อประหยัดต้นทุนการผลิต ทุนต่างชาติต้องลดพนักงาน รัฐวิสาหกิจ ธนาคาร บริษัทต่างๆ ลง และการลงทุนของต่างชาติอาจจะเพิ่มการจ้างแรงงานฝีมือที่จำเป็นบางส่วน แต่กล่าวโดยภาพรวมแล้วการจ้างงานลดลง

           การแก้ปัญหาแบบพึ่งทุนต่างชาติจะทำให้ไทยเติบโตแบบบราซิลและประเทศลาตินอเมริกาอื่นๆ ที่มีเศรษฐกิจภาคที่ทันสมัยควบคู่ไปกับเศรษฐกิจภาคยากจนของประชาชนส่วนใหญ่ มีแต่คนรวยคนชั้นกลางบางส่วนที่ปรับตัวได้เก่งเท่านั้นที่จะฟื้นและอยู่ได้ แต่คนล้มละลาย คนตกงาน คนจนจะมีเพิ่มมากขึ้น ชุมชนแออัดจะขยายใหญ่โตขึ้น ปัยหาความขัดแย้ง ความรุนแรง อาชญากรรมทางการเมืองและสังคม จะเพิ่มมากขึ้น มีความสลับซับซ้อน แก้ไขได้ยากขึ้นด้วย

ทางเลือกแบบคนไข้เรื้อรังของ IMF หรือทางเลือกแบบไทยที่เป็นไท

          เราต้องการทางเลือกแบบลาตินอเมริกา เศรษฐกิจวิกฤติอย่างเรื้อรัง ต้องกลับไปพึ่งหมอเลี้ยงไข้ IMF ทุก 10 ปีอย่างนั้นหรือ ? หรือว่าเราสามารถสร้างประเทศไทยใหม่ด้วยภูมิปัญญา และทางเลือกแบบไทย ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง หรือเศรษฐกิจแบบพอเพียงในระดับประเทศ เน้นการพัฒนาคุณภาพคนการเพิ่มการจ้างงาน การระดมใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และการขยายตลาดภายในประเทศ ให้คน 62 ล้านคนมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น โดยมีอธิปไตยที่จะจำกัดให้ต่างชาติมาลงทุนและเลือกค้าขายกับต่างชาติในสัดส่วนที่เหมาะสม ในส่วนที่จะเป็นประโยชน์กับเรา

          การรีบเปิดรับการลงทุนและการค้าเสรี แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ในสภาพที่เรายังไม่เข้มแข็งพอ มีแต่จะทำให้เราเสียเปรียบต่างชาติ และนายทุนขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดเล็ก และประชาชนทั่วๆ ไปที่อ่อนแอจะยิ่งถูกทอดทิ้ง ไม่สามารถพัฒนาตนเองได้เต็มที่

          ถ้าเรารู้จักเลือกทางเดินใหม่ๆ เช่น แนวทางเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธ เศรษฐศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์มากกว่าการเพิ่มขึ้นของสินค้า เศรษฐศาสตร์คำนึงถึงต้นทุน และผลได้เสียของสังคมมากกว่ากำไรของเอกชน เราสามารถที่จะเลือกเป้าหมายแนวทางการพัฒนาประเทศใหม่ที่เน้นการสร้างคุณภาพชีวิต สภาพแวดล้อมที่ดี การพัฒนาทางด้านศิลปวัฒธรรม จิตใจ ค่านิยมที่ดีงาม ได้ดีกว่าทางเดินเก่าที่เน้นพัฒนาทางวัตถุ ซึ่งทำลายทั้งสิ่งแวดล้อม และทำลายทั้งค่านิยม

           ถ้าเราเลือกแนวทางการพัฒนาอย่างกล้าปฏิรูประบบโครงสร้างทั้งหมด กล้ากระจายทรัพย์สินรายได้ สิทธิทางการเมือง ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร สู่คนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง เลือกแนวทางการพัฒนาแบบมุ่งพัฒนาตนเอง มากกว่าที่จะคิดพึ่งแต่บริษัททุนข้ามชาติขนาดยักษ์ และการกู้ยืมเพื่อลงทุนทางด้านวัตถุมากเกินไป อย่างที่ชนชั้นนำไทยกำลังเลือกเดินอยู่ในปัจจุบัน เราจะมีทางพบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของวิกฤติอันมืดดำนี้ได้

           แต่หากเราไม่กล้าเลือกเดินทางเดินใหม่ ได้แต่ยอมจำนน เดินตาม IMF และพยายามเอาอกเอาใจนายทุนนายธนาคารต่างชาติ สังคมไทยจะยิ่งถลำลึกสู่วิกฤติที่ยืดเยื้อ และแก้ไขได้ยากลำบากยิ่งขึ้นจนมีแนวโน้มว่าจะเกิดมิคสัญญี เกิดความวุ่นวายแบบอนาธิปไตยเหมือนอินโดนีเซีย และที่อื่นๆ ได้ ถึงตอนนั้นสถานการณ์จะแก้ไขได้ยาก จนอาจนำไปสู่เผด็จการรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขวิกฤติเพื่อประชาชนส่วนใหญ่อย่างยั่งยืนได้


" ข้อเขียนชุดนี้
มุ่งเสนอแนวคิดสำคัญ คือ
แนวคิดใหม่ในการแก้วิกฤติ
และแนวทางในการรวมกลุ่ม
จัดตั้งองค์กรเพื่อพัฒนา
เผยแพร่
ทำแนวคิดใหม่ให้มีผลในทางปฏิบัต "






By  วิทยากร เชียงกูล ( ทางออกประชาชน, หนังสือระลึกถึง อานนท์  อัศนธรรม, สำนักพิมพ์ บริษัท ชน    นิยม จำกัด

 แก้ไข By PUMICE
       

No comments:

Post a Comment