ชายคนหนึ่ง หลังจากไหว้พระเสร็จ ก็ออกมาเดินเล่นในสวนหลังวัด เขาเห็นท่านเหวียนโถวกำลังตัดแต่งต้นไม้อยู่ ก็ยืนดูว่าท่านทำอะไรบ้าง
ท่านเหวียนโถวใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตัดใบทิ้ง บางต้นถึงกับถอนทิ้ง บางต้นก็ย้ายไปปลูกลงในกระถาง บางต้นเหี่ยวๆ เหลืองๆ ท่านก็รดน้ำใส่ปุ๋ย ดูแลเป็นพิเศษ
ชายฆราวาสเดินเข้ามาทักทาย " ท่านเหวียนโถว ท่านมีหลักในการดูแลต้นไม้อย่างไร "
ท่านเหวียนโถวตอบว่า " การดูแลต้นไม้ก็เหมือนกับการอบรมบ่มเพาะลูกศิษย์ คนต้องได้รับกาศึกษา ต้นไม้ก็ต้องได้รับการดูแล "
ชายฆราวาสถามว่า " ดูแลต้นไม้มีอะไรเหมือนกับดูแลคนบ้างครับ "
ท่านเหวียนโถวกล่าวว่า " การดูแลต้นไม้
1. ต้องตัดแต่งกิ่งใบที่เจริญเติบโตผิดปกติ แต่ขึ้นมั่วๆ ไม่มีระเบียบ กิ่งใบแบบนี้ต้องตัดทิ้ง ริดทิ้ง จะได้ไม่เปลืองปุ๋ย ริดกิ่งใบผิดปกติทิ้งไป ต้นไม้จึงจะเจริญเติบโตดี นี่เปรียบได้กับการลดทอนความซ่าของคนหนุ่มสาว ดัดนิสัยเสียๆ ของพวกเขา ควบคุมให้พวกเขาเดินเข้ามาอยู่ในกรอบที่ถูกที่ควร
2. ต้องถอนต้นไม้ทั้งต้น ย้ายลงกระถาง เป้าหมายก็เพื่อให้ต้นไม้หลุดพ้นจากดินเสื่อมๆ ดินที่ขาดปุ๋ย ไปสัมผัสกับดินที่ดีๆ ดินที่อุดมสมบูรณ์ มีสารอาหารครบถ้วน ประเด็นนี้ก็เหมือนกับการแยกวัยรุ่นออกจากสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี พาเขาไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ ไปสัมผัสกับปิยมิตรและอาจารย์ที่เป็นบัณฑิต เขาจะได้มีสติปัญญา มีวิชาความรู้สูงขึ้น
3. ดูแลต้นไม้ที่เหี่ยวเฉาเป็นกรณีพิเศษ มองผิวเผิน ต้นไม้ที่เหี่ยวเฉา เหมือนตายแล้วนั้น แท้จริงข้างในกลับเต็มไปด้วยพลังชีวิตที่ต้องการอยู่รอด นี่ก็เหมือนกับเด็กเลว จงอย่าคิดว่าเด็กเลวๆ ล้วนฝากความหวังไม่ได้ แล้วทอดทิ้งเขา รังเกียจเขา ความจริงมนุษย์ทุกคนล้วนมีพุทธจิต ดังคำกล่าวที่ว่า มนุษย์นั้นดีมาแต่กำเนิด เพราะฉะนั้น ขอเพียงเรารู้จักรักเขา ดูแลเขาให้ถูกวิธี เขาก็จะเกิดใหม่ได้
4. ต้องพรวนดินให้ดินร่วนซุย เพราะว่าในดินยังมีเมล็ดพืชอีกมากมายที่รอโอกาสงอก นี่ก็เหมือนกับเด็กนักเรียนที่รักดีแต่ฐานะยากจน หากเราช่วยเขาสักหน่อย เปิดโอกาสให้เขาได้เงยหน้าอ้าปาก ได้งอกเงย เขาก็จะเจริญเติบโตเป็นบุคลากรเก่งๆ ของสังคมได้ "
ชายฆราวาสฟังจบ ก็กล่าวอย่างชื่นชมว่า " ขอบคุณมากครับอาจารย์ ที่ชี้แนะวิธีอบรมสั่งสอนคนให้ "
แง่คิด
ดูแลถูกวิธี ต้นไม้ที่เหี่ยวเฉาก็ฟื้นคืนชีพ เด็กเกเรก็กลายเป็นคนดีได้
การบรรลุธรรมก็คือการรู้ความจริงแท้ หลักแห่งความจริงดำรงอยู่ในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคน ต้นไม้ สัตว์ สิ่งของ ฯลฯ พระเซนในนิทานเรื่องนี้จึงสามารถนำเอาธรรมจากการดูแลต้นไม้มาประยุกต์เป็นธรรมในการดูแลอบรมบ่มสอนคนได้
ศาสนาพุทธให้ความสำคัญแก่การศึกษาอย่างยิ่ง โดยเห็นว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และต้องฝึก หากไม่ฝึกก็หาประเสริฐไม่ และเห็นว่ามนุษย์จะต้องทำการศึกษาชั่วชีวิต เพื่อฝึกฝนหล่อหลอมตนเองให้พึ่งตัวเองได้ หลังจากพึ่งตัวเองได้แล้วจึงเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้
สังคมมนุษย์จะดำรงความเป็นสังคมอยู่ได้ ก็ด้วยมีบุคลากรที่สามารถเป็นแก่นเป็นแกนในการผดุงสังคม เพราะฉะนั้น การบ่มเพาะฝึกฝน อบรมบุคลากรที่จะมาสืบทายาท สังคมจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่สำคัญยิ่ง
ในนวนิยายเรื่อง The Catcher in the Rye โฮลเดน คอลฟิลด์ ตัวเอกของเรือง เป็นเด็กเลวที่ชอบพูดคำหยาบ สูบบุหรี่ หนีเรียน เที่ยวผู้หญิง ฯลฯ ( ถ้ายังมีอีกคงเหมือนคนพิมพ์ ) ถูกโรงเรียนคัดชื่อออกถึง 4 ครั้ง ( ไม่เคย จิตพิสัย เต็ม 100% ) ในสายตาของผู้ใหญ่ โฮลเดนเป็นเด็กเหลือขอที่เยียวยามิได้ ไม่มีใครคาดคิดเลยว่าสุดท้าย เมื่อโฮลเดนโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะกลายเป็นคนที่ทำตัวเป็นผู้คอยรับเด็กไม่ให้ตกหน้าผาดังที่เขาตั้งปณิธานเอาไว้
กิ่งไม้ที่เหี่ยวเฉา ตัดแต่งได้ เด็กเกเรก็ปรับเปลี่ยนนิสัยสันดานกันได้ ขอเพียงได้รับการดูแลเอาใจใส่หรือได้รับการศึกษาอบรมที่ถูกต้องทั้งเป้าหมายและวิธีการ
By สุภาพร ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )
No comments:
Post a Comment