Tuesday, October 23, 2012

ทางออกประชาชน ( ตอนที่ 3 )


ประชาชนไทยมีทางเลือกอื่น 
แต่จะต้องกล้าเดินด้วยตัวเอง



ทำไมประชาชนต้องร่วมกันสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ?

          เพราะแนวคิดของชนชั้นนำไทยในการพัฒนาประเทศแบบเชื่อฟังประเทศมหาอำนาจตะวันตก โดยไม่รู้จักคิดแนวการพัฒนาอย่างเป็นตัวของตัวเอง คือสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤติทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม มาแล้ว การที่ชนชั้นนำยังคิดแก้ปัญหาโดยใช้กรอบแนวคิดเดิม คือ การหวังกู้เงินเพิ่มมากขึ้น ขายรัฐวิสาหกิจ ธนาคาร กิจการต่างๆ ให้ต่างประเทศมากขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างฉายฉวย คือฟื้นเพียงบางส่วน ได้เพียงระยะหนึ่ง แต่การจ้างงาน การเพิ่มรายได้คนส่วนใหญ่จะไม่ฟื้น และยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ภายใต้การครอบงำและเสียเปรียบต่างชาติมากยิ่งขึ้น ต่อไปประเทศไทยจะมีสภาพแบบประเทศในลาตินอเมริกาส่วนใหญ่ ที่มีคนรวยและชนชั้นกลางส่วนน้อยเท่านั้นที่รวยขึ้นหรืออยู่รอดได้ แต่คนส่วนใหญ่จะยากจนและทุกข์ยากมากขึ้น

         วิกฤติเศรษฐกิจสังคมของคนไทยส่วนใหญ่จะยืดเยื้อต่อไปอีกหลายปี และจะมีผลกระทบรุนแรงกว้างขวางมากขึ้น เพราะพรรคการเมืองใหญ่ๆ ทุกพรรคยังคงคิดแก้ไขปัญหาในกรอบของการกู้เงินต่างชาติเพิ่มขึ้น ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน เข้ามาซื้อกิจการมากขึ้นพยายามส่งออกให้มากขึ้น ( โดยไม่สนว่าเป็นสินค้าที่ต้องพึ่งการสั่งเข้ามากแค่ใหน ) การที่นักการเมืองแบบเก่ายังคิดในกรอบการพัฒนาแบบเก่านี้ นอกจากจะแก้วิกฤติทางโครงสร้างไม่ได้แล้วยังทำให้ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อมล้มละลาย ประชาชนตกงาน รายได้ลดลง เป็นหนี้ และถูกครอบงำจากต่างชาติมากขึ้น


          ถึงรัฐบาลจะออกกฏหมายเอาใจต่างชาติ ขายกิจการราคาถูกๆ เพื่อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่ม กู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจก็จะฟื้นได้เพียงบางส่วนและแค่ช่วงสั้นๆ ปัญหาการว่างงาน ความยากจนของคนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ไม่ฟื้นแล้ว ยังขยายตัวมากขึ้นและยิ่งทำให้ปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น ยาเสพย์ติด โสเภณี โรคเอดส์ ปัญหาครอบครัวแตกแยก ปัญหาสุขภาพจิต ฯลฯ ขยายตัวมากขึ้น

แนวคิดใหม่หมายถึงอะไร ?

           แนวคิดใหม่ คือ แนวคิดที่แตกต่างไปจากแนวคิดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF ) ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าหนี้ต่างชาติเศรษฐกิจเป็นเรื่องการทำให้ประชาชนในประเทศส่วนใหญ่กินดีอยู่ดีดังนั้นจึงควรมุ่งแก้ไขฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคการผลิตที่แท้จริงภายในประเทศ เพื่อคน 65.4 ล้านคนเป็นด้านหลัก แทนที่จะคิดในเชิงพึ่งพาการกู้เงิน การลงทุนและการค้ากับต่างประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจชนิดที่เอื้อประโยชน์ต่อเจ้าหนี้ นายทุนต่างประเทศ นายธนาคาร และธุรกิจขนาดใหญ่ มากกว่าประชาชนทั่วไป

           แนวคิดใหม่หมายถึงการกล้าคิดในเชิงปฏิรูปโครงสร้างทั้งทางเศรษกิจ การเมือง สังคม อย่างเชื่อมโยงเป็นองค์รวม เพื่อยกฐานะชีวิตความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่อย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเป็นส่วนๆ เช่น การช่วยเหลือ ธนาคารพาณิชย์ การช่วยเหลือการค้าระหว่างประเทศ และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเพียงบางส่วนในระยะสั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาเพื่อประชาชนไทยส่วนใหญ่ในระยะยาว

แนวนโยบายและมาตรการที่จะกู้ชาติจากการครอบงำของทุนต่างชาติได้ คืออะไร ?

           1. ต้องปฏิวัติหรือปฏิรูประบบโครงสร้างการเมืองการบริหารอย่างพลิกโฉม คือทำลายระบบผูกขาด ระบบอุปถัมภ์ และสร้างระบบประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ด้วยการทำให้องค์กรของรัฐมีขนาดเล็กลง ถูกตรวจสอบจากประชาชนได้ง่ายขึ้นและกระจายอำนาจให้องค์กรประชาชนเติบโตเข้มแข็งมีลักษณะเป็นสังคมประชา ( civil society ) ที่ประชาชนมีอำนาจมีบทบาทแท้จริงไม่ใช่ " ประชาสังคม " แบบให้ประชาชนไปร่วมมือกับข้าราชการและนายทุนโดยประชาชนเป็นเพียงไม้ประดับ อย่างที่กลุ่มชนชั้นนำพยายามทำกันอยู่บ้างในขณะนี้

            ต้องมุ่งเน้นการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ฯลฯ อย่างถึงราก และอย่างเชือมโยงเป็นองค์รวมคือปฏิรูปทุกด้านพร้อมๆ กัน ให้สนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนสังคมทั้งสังคมให้มีประสิทธิภาพ เป็นประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมจริงจัง

            การจะก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ จะต้องมุ่งขยายแนวคิดและการจัดตั้งองค์กรของประชาชนอย่างกว้างขวางหลากหลายทำให้ประชาชนฉลาดและเข้มแข็งเป็นด้านหลัก กลุ่มการเมืองหรือกลุ่มผู้นำใหม่ๆ ควรเป็นเพียงหน่วยในการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยให้ประชาชนช่วยตัวเองได้ต่อไป ไม่ควรคิดหรือทำตัวเป็นผู้อุปถัมภ์ประชาชนกลุ่มใหม่

            2. แก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างกล้าหาญ เป็นตัวของตัวเองรักษาผลประโยชน์ของประชาชนไทยส่วนใหญ่ในระยะยาว โดยการตั้งคณะกรรมการต่อรองปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างชาติ เพื่อต่อรองยืดอายุหนี้ ต่อรองปรับหนี้เป็นการลงทุน ต่อรองขอลดดอกเบี้ยกับเจ้าหนี้ต่างชาติ โดยใช้มาตรการประกาศหยุดพักชำระหนี้ต่อรองกับเจ้าหนี้ต่างชาติ เพื่อทำให้เราไม่ต้องทำตามเงื่อนไขกองทุน IMF ไม่ต้องกู้หนี้ใหม่ ไม่ต้องรีบขายรัฐวิสาหกิจ กิจการต่างๆ ให้ต่างชาติในราคาถูก ทำให้ประเทศไทยมีเวลาและมีกำลังที่จะระดมเงินระดมแรงงานและทรัพยากรที่เรามีอยู่ในประเทศอยู่แล้ว ดำเนินปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ ให้เศรษฐกิจโดยรวมสามารถฟื้นฟูได้ บนพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่มีงานทำ มีรายได้จับจ่ายใช้สอย แล้วเราจึงค่อยทยอยชำระหนี้เจ้าหนี้ต่างประเทศในภายหลัง

           3. เปลี่ยนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เน้นการพึ่งตนเองในระดับประเทศ ( ผลิตเพื่อบริโภคเองและซื้อขายกันเอง ) เป็นหลัก ลดขนาดของการเปิดประเทศ การพึ่งพาการค้าและการลงทุนต่างประเทศจากประมาณ 70 - 80 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในปัจจุบันลง ให้เหลือต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เพราะนโยบายพึ่งพาเงินทุนและการค้าจากต่างประเทศมากเกินไป คือตัวการสร้างวิกฤติและเป็นตัวปัญหาที่จะยิ่งทำให้วิกฤติยืดเยื้อเรื้อรัง เราต้องเปลี่ยนนโยบายใหม่ หันมาแก้วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำภายในประเทศ โดยจัดสรร บริหารแรงงานและทรัพยากรในประเทศใหม่ ปฏิรูปการคลังการเงินขนาดใหญ่ กระจายทรัพย์สิน รายได้และความรู้สู่ประชาชนอย่างทั่วถึง ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ บนพื้นฐานที่ให้คนส่วนใหญ่มีงานทำมีรายได้ ซึ่งแม้จะฟื้นตัวได้ช้ากว่า แต่จะเข้มแข็งยั่งยืนกว่าการฟื้นตัวแบบพึ่งทุนและการค้ากับต่างประเทศ

           ปัจจุบันคนไทยถูกหลอกว่าการลงทุนของต่างประเทศจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น โดยมองแต่ในเรื่องเงินทุนไหลเข้าด้านเดียวไม่ได้คิดถึงว่าวันหนึ่งนักลงทุนต่างชาติก็ต้องขนกำไร ดอกเบี้ย และทุนกลับประเทศของเขา การส่งออกของเขาขณะนี้ก็ขึ้นอยู่กับการสั่งเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ เคมีภัณฑ์ น้ำมันเชื้อเพลิงมาก ดังนั้นยิ่งส่งออกมาก กลับยิ่งสั่งเข้ามีมูลค่ามากกว่า ทำให้ไทยขาดดุลการค้าเพิ่มมาตลอด เรื่องนี้ต้องปรับแนวคิดใหม่ เลือกส่งออกเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานและทรัพยากรในประเทศมาก ทำให้เราได้มูลค่าเพิ่มสูงและลดการสั่งเข้าที่ไม่จำเป็นลงอย่างเข้มงวด

           4. แก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำแบบช่วยคนระดับล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ก่อน โดยทุ่มเทแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และการว่างงานทั้งในภาคชนบทและภาคในเมืองอย่างจริงจัง ปฏิรูปที่ดินและปฏิรูปการเกษตร รวมทั้งส่งเสริมการปลูกป่าทำสวนเกษตร เน้นนโยบายการพึ่งตนเองในระดับประเทศ ใช้เทคโนโลยีการเกษตรแบบทางเลือกที่ลดการใช้น้ำมัน ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช และพืชพันธุ์จากต่างประเทศ เพิ่มการจ้างงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมของเมือง เน้นการให้ประชาชนมีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เน้นการบริโภคแต่พอดี เฉพาะสิ่งที่มีประโยชน์ ไม่ฟุ่มเฟือย

           5. เปลี่ยนโครงสร้างการผลิตและการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต จากระบบทุนนิยมและรัฐวิสาหกิจผูกขาด ให้เป็นแบบสหกรณ์และทุนนิยมโดยประชาชน คือ พัฒนารูปแบบการเป็นเจ้าของและผู้บริหารให้พนักงาน ประชาชน และชุมชนเข้าไปถือหุ้นข้างมากในรัฐวิสาหกิจ ธนาคาร และธุรกิจต่างๆ ทำให้เกิดการกระจายทรัพย์สินและรายได้ที่ยุติธรรม การบริหารที่มีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าระบบครอบครองและบงการโดยครอบครัวนายทุนเพียงไม่กี่คน ธนาคารชาติซึ่งที่ผ่านมาช่วยเหลือแต่นายธนาคารพาณิชย์ ควรเป็นผู้จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ( SOFTLOSN ) ให้แก่ สหกรณ์ สหภาพ หรือกองทุนพนักงาน สมาชิกองค์กรผ่อนชำระค่าหุ้น โดยใช้หุ้นนั้นค้ำประกันการสร้างระบบทุนนิยมโดยประชาชนจะนำไปสู่ประสิทธิภาพและความเป็นธรรม ได้ดีกว่าระบบทุนนิยมผูกขาดและระบบรัฐวิสาหกิจแบบเล่นพวก และจะเป็นแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลาง ขนาดย่อมที่มุ่งใช้ปัจจัยการผลิตภายใน และการเพิ่มการจ้างงานเพื่อตลาดภายในประเทศ

จะมีทางทำให้แนวคิดใหม่บรรลุได้อย่างไร ?

            ต้องระดมคนมาร่วมมือกันทำงานภายใต้แนวคิดอุดมการณ์ที่ใกล้เคียงกัน จะต้องสร้างจิตใจแบบใหม่ ภูมิปัญญาแบบใหม่ มีการจัดตั้ง และการทำงานแบบใหม่

            จิตใจแบบใหม่ คือ จิตใจเชื่อมั่นว่าประชาชนช่วยตัวเองและช่วยกันและกันได้ โดยไม่ต้องรออัศวินม้าขาวมาช่วย ไม่ต้องหวังผู้เชี่ยวชาญ ( เพราะผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์การคลังการเงินส่วนใหญ่ ก็คือผู้นำประเทศเราไปสู่วิกฤติมาแล้ว ) จิตใจที่เชื่อว่าประชาชนแต่ละคนแต่ละเสียงมีความหมาย และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

            จิตใจที่เชื่อว่าน่าจะมีคนไทยจำนวนไม่น้อย ที่มีจิตใจอยากกอบกู้ชาติ อยากสร้างอำนาจต่อรองใหม่ และทางเลือกใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทยในระยะยาว มากกว่าการแก้ปัญหาอยู่ในกรอบคิดของการกู้ชาติ ขายทรัพย์สินและกิจการให้ต่างชาติ ซึ่งยิ่งจะทำให้เราเข้าไปติดกับของการเป็นหนี้และเป็นทาสทุนต่างชาติที่ดิ้นหาทางออกได้ยากมากขึ้น

            การจัดตั้ง การทำงานของกลุ่ม องค์กรทางการเมืองแบบใหม่ควรประยุกต์ใช้รูปแบบประชาธิปไตยรวมหมู่ ที่สมาชิกใช้สิทธิประชาธิปไตยได้จริงๆ แต่เมื่อผ่านการอภิปรายลงมติแล้วต้องยอมรับเสียงส่วนใหญ่ รูปแบบการสนับสนุนควรเปิดกว้าง ให้ประชาชนช่วยกันออกเงิน สิ่งของ แรงงาน สมอง โดยไม่ขึ้นต่อบุคคล มีการศึกษาข้อมูลข่าวสาร และการขยายองค์กรจัดตั้ง

            กลุ่มใหม่อาจจะเริ่มจากการสรรหาและส่งคนดีๆ เข้าสมัครวุฒิสมาชิก หรือผู้แทนองค์กรบริหารท้องถิ่นระดับต่างๆ เพื่อเผยแพร่แนวคิด แนวทางและหาประสบการณ์ในการทำงานการเมืองร่วมกันแม้ว่าในระยะแรกๆ อาจจะเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ที่มีโอกาสได้ตัวแทนเข้าไปในโครงสร้างการเมืองใหญ่น้อยได้ แต่ถ้าตัวแทนที่ได้เข้าไปมีแนวคิดใหม่ชัดเจน และดีกว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด กลุ่มการเมืองก็จะมีเวทีในการขยายบทบาทได้เพิ่มขึ้น เป็นศูนย์กลางระดมความคิดระดมคน และในอนาคตก็อาจนำไปสู่การขยายตัวเป็นพรรคการเมืองได้

           กลุ่มหรือองค์กรทางการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ อาจทำงานประสานร่วมกับองค์กรประชาชนองค์กรอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาสนับสนุนองค์กรการเมืองโดยเปิดเผย หรือไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับองค์กรการเมืองในทุกเรื่อง องค์กรประชาชนองค์กรต่างๆ อาจจะเห็นด้วยกับองค์กรการเมืองใหม่ในหลักการใหญ่ๆ และเลือกทำงานประสานกันในบางเรื่องบางประเด็น แบบองค์กรพันธมิตรกัน การทำงานแบบนี้น่าจะเหมาะสมกว่าการคาดหมายให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นองค์กรนำที่จะทำทุกเรื่องให้ประชาชน เพราะเป็นไปได้ยาก และอาจนำไปสู่ความผิดพลาดได้

เราจะรวบรวมคนให้สามัคคีกันได้อย่างไร 
จะแก้ไขปัญหาขัดแย้ง
 หรือการเมืองภายในกลุ่มได้อย่างไร ?

           บทเรียนที่ผ่านมาในรอบ 40 ปี คือเราแต่ละคนไม่ค่อยได้ศึกษาและพัฒนาความคิดอย่างเป็นระบบชัดเจน และไม่ได้พัฒนาองค์กรให้ประชาธิปไตยอย่างมีวุฒิภาวะ องค์กรนำในอดีตใช้แนวคิดนโยบายที่เป็นสูตรสำเร็จมากไป ไม่มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป การบริหารองค์กรเป็นลักษณะรวมศูนย์สั่งการจากบนลงล่าง มากกว่าเป็นประชาธิปไตย ที่คนมีส่วนร่วมอย่างมีความรู้ อาศัยศรัทธามากกว่าเหตุผล เมื่อองค์กรนำล้มเหลว จึงเกิดวิกฤติศรัทธาอย่างรุนแรง

           ปัญหาเหล่านี้น่าจะแก้ได้ หากผู้เข้ามาร่วมงานกันพยายามหาจุดที่ร่วมกันได้ และสงวนจุดที่ต่างกัน และเคลื่อนไหวพัฒนากลุ่มอย่างโปร่งใส เป็นประชาธิปไตยทุกขั้นตอน โดยเน้นแนวคิดนโยบายร่วมกัน เน้นการอยู่รอดและการพัฒนาขององค์กรมากกว่าตัวบุคคล ซึ่งเราน่าศึกษาบทเรียนจากประสบการณ์ขององค์กรประชาชนต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในแง่ความสำเร็จและความล้มเหลวได้

           ประชาชนจากกลุ่ม องค์กรหลากหลาย คงต้องเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกัน โดยขัดแย้งและวิจารณ์กันอย่างสร้างสรรค์ เป็นประชาธิปไตย ลดความคิดยึดติดกับตัวเองหรือหมู่พวก ลดการระแวงหรือการไม่ให้ความสำคัญผู้อื่น ให้ความเชื่อถือและเสริมส่วนที่ดีของกันและกันมากขึ้น หากเราสามารถใช้ประสบการณ์หาบทเรียนต่างๆ มาปรับปรุงการทำงานองค์กรกันใหม่ ก็มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนจะสร้างกลุ่มการเมืองใหม่ที่มีพลังพอสมควร แม้จะเริ่มจากกลุ่มเล็กๆ ก็ตาม

           กลุ่มใหม่ที่ว่านี้ต้องอาศัยจินตนาการ และความเชื่อมั่น ของประชาชนแต่ละคนจำนวนมากทีเดียว

           แต่ถ้าประชาชนไม่กล้าแม้แต่จะคิดฝัน เราจะมีชีวิตที่ทุกข์ยากขนาดใหนกันต่อไปในยุควิกฤติอันมืดมนนี้ ?


" ต้องมีแนวคิด มีกลุ่มคน
ที่เข้าใจสาเหตุลึกๆ ของปัญหาวิกฤติ
อย่างเชื่อมโยงเป็นองค์รวม
เข้าใจระบบโครงสร้างทั้งหมด
สามารถคิดและดำเนินการ
ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก
และอย่างมองการณ์ไกล "







By  วิทยากร เชียงกูล ( ทางออกประชาชน, หนังสือระลึกถึง อานนท์  อัศนธรรม, สำนักพิมพ์ บริษัท ชน    นิยม จำกัด

 แก้ไข By PUMICE

No comments:

Post a Comment