Wednesday, October 24, 2012

ทางออกประชาชน ( ตอนที่ 4 )

วิกฤติจะทำให้เกิดโอกาสใหม่ 
และแนวคิดใหม่ ได้อย่างไร



          วิกฤติที่ร้ายแรงกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ คือ วิกฤติทางการเมืองและวิกฤติทางภูมิปัญญา

          สังคมไทยกำลังเผชิญวิกฤติที่ร้ายแรงมากกว่าวิกฤติการเป็นหนี้ต่างชาติ และเศรษฐกิจตกต่ำ อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน เรากำลังเผชิญกับวิกฤติทางการเมืองของระบบประชาธิปไตย แบบกึ่งนายทุนกึ่งผู้อุปถัมภ์ ที่ประชาชนต้องจำใจเลือกนักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์และคุณธรรมต่ำ ไม่แตกต่างกันมากนัก วิกฤติการทุจริตฉ้อฉลของทั้งภาครัฐและเอกชน ความเสื่อมทรามทางด้านสังคมและวัฒนธรรมรอบๆ ตัวเรา โดยที่ประชาชนทั่วๆ ไป อาจยังไม่ได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของวิกฤติ หรือตระหนักอยู่ แต่ยังไม่เห็นทางออกที่ชัดเจน

           ทางด้านเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่ยังถูกครอบงำโดยแนวคิดการพัฒนาแบบพึ่งพาทุนต่างชาติ และมุ่งหากำไรแบบช่วยคนรวยก่อน ทางด้านการเมืองถูกครอบงำโดยนักการเมือง ที่มีฐานการเมืองในฐานะผู้มีอำนาจ และผู้อุปถัมภ์ประชาชน พวกเขาหาเสียงโดยการสร้างภาพพจน์ที่ดีและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันต่อวัน ทางด้านสังคมวัฒนธรรมก็ถูกครอบงำโดยความคิดค่านิยม ว่าการแก่งแย่งแข่งขันเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวระยะสั้นเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ว่าระบบแข่งขันเสรีจะทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ในภายหลัง แต่จริงๆ แล้วเป็นการเอาเปรียบและทำลายกัน ขาดภูมิปัญญาและจิตสำนึกที่จะเข้าใจความจำเป็นของการร่วมมือกัน เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมในระยะยาว


ที่ว่าเศรษฐกิจจะฟื้น ฟื้นแบบไหน ? เพื่อใคร ?

           ผู้นำรัฐบาลอ้างว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้น แต่จริงๆ แล้วสังคมไทยกำลังก้าวถลำลึกไปเป็นประเทศทันสมัยแต่ด้อยพัฒนาแบบลาตินอเมริกา ที่คนรวยส่วนน้อยรวยขึ้น แต่คนจนกลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมของประชาชนส่วนใหญ่ยิ่งเสื่อมทรามลง ดังนั้น ประชาชนไทยจะแก้วิกฤติและหาทางออกได้อย่างยั่งยืน ก็ต่อเมื่อเสามารถสร้างแนวคิดใหม่กลุ่มผู้นำใหม่ ที่แตกต่างจากแนวคิดเก่าผู้นำเก่าโดยสิ้นเชิง

            กล่าวคือ ต้องมีแนวคิดมีกลุ่มคนที่เข้าใจสาเหตุลึกๆ ของปัญหาวิกฤติอย่างเชื่อมโยงเป็นองค์รวม เข้าใจถึงระบบโครงสร้างทั้งหมด สามารถคิดและดำเนินการที่จะก่อให้เกิดเปลี่ยนแปลงปฏิรูปโครงสร้างสังคมไทยอย่างถึงราก และอย่างมองเห็นการณ์ไกล ไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โจมตีฝ่ายตรงข้าม และหาเสียงให้ตัวเองไปวันๆ แบบนักการเมืองแนวเก่า และประชาชนจะต้องมีความตื่นตัว คอยตรวจสอบนักการเมืองอย่างสม่ำเสมอด้วย

โอกาสใหม่คืออะไร ?

            ปัจจุบันเริ่มมีหน่อความคิดใหม่และมีกลุ่มผู้นำหรือมีศักยภาพในการนำใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง แต่พวกเขายังเผยแพร่และทำงานในกลุ่มย่อยๆ ยังขาดความร่วมมือ ขาดการสร้างแนวคิดและองค์กรที่เป็นเอกภาพ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านช่องว่างความเข้าใจและความเชื่อถือไว้วางใจกันและกัน ดังนั้นเราจำเป็นต้องหากลุ่มคนที่กล้าริเริ่มเป็นหัวหอก กลุ่มคนที่มีอุดมคติ จริงใจและมีวุฒิภาวะในการประสานงาน อธิบายทำความเข้าใจ ทำงานร่วมมือกับกลุ่มต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชน เพื่อที่จะสร้างเครือข่ายที่มีแนวคิด นโยบายและแนวทางการทำงานร่วมกัน อย่างมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ไปในทางที่ภูมิปัญญาในการวิเคราะห์และแก้ปัญหาได้มากขึ้น

กลุ่มผู้นำแบบใหม่มาจากใหน ?

           ปัจจุบันสังคมไทยมักจะมองหาผู้นำจากกลุ่มนักการเมืองหรือนักบริหาร นายธนาคาร นักธุรกิจ นักวิชาชีพ ผู้มีอำนาจหรือมีชื่อเสียงในวงการสังคมชั้นสูง ซึ่งเป็นการมองที่คับแคบอยู่เฉพาะในหมู่คนจำนวนน้อย ทำให้ถ้ามองอย่างวิพากษ์จริงๆ แล้ว เราแทบมองไม่เห็นผู้นำแบบใหม่ๆ ที่จะเปรียบเทียบกับผู้นำเก่งๆ ในประเทศอื่นๆ ได้ และทำให้ผู้มีการศึกษาหลายคนเกิดความท้อแท้คิดว่าเมืองไทยคงไม่มีทางเปลี่ยนแปลงได้ ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งก็มีแต่นักการเมืองหน้าเก่าๆ ให้เลือกพรรครัฐบาลกับฝ่ายค้านก็คุณภาพไม่ต่างกัน พวกเขาจึงอยู่กันแบบต่างคนต่างอยู่ไปวันๆ

           การมองเช่นนี้ไม่น่าถูกต้อง เราต้องกล้สจินนาการถึงสิ่งใหม่ๆ ช่วยกันเสาะหา และเสริมสร้างผู้นำแบบใหม่ขึ้นมาด้วย ไม่ใช่นั่งรอผู้นำให้เกิดข้นเองตามสถานการณ์ ซึ่งภายใต้สภาพแวดล้อมของการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และการสื่อสารโดยคนกลุ่มน้อยในปัจจุบัน ย่อมไม่เอื้ออำนวยให้เกิดผู้นำกลุ่มใหม่เกิดขึ้น ถ้าประชาชนไม่คิดต่อสู้ทางการเมืองเมื่อมีเวทีเปิดให้ เช่น เลือกคนใหม่ๆ เข้าไปในวุฒิสมาชิก ผู้บริหารท้องถิ่น ส.ส. ฯลฯ คนกลุ่มน้อยผู้ผูกขาดอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม อยู่ในปัจจุบัน ก็จะส่งลูกหลาน ญาติ พี่น้อง พรรคพวก มาสืบทอดอำนาจกันต่อไป

           กลุ่มผู้นำแบบใหม่อาจเป็นปัญญาชน นักวิชาการ นักบริหาร นักวิชาชีพ ผู้นำชุมนุม ผู้นำองค์กร หรือใครก็ได้ที่มีทั้งวิสัยทัศน์ความรู้ความสามารถในการนำ การบริหาร และมีจิตสำนึกทางสังคมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปสังคม เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในระยะยาว หรืออย่างน้อยมีศักยภาพที่จะพัฒนาความเป็นผู้นำประชาชนแบบใหม่นีได้

           เราควรช่วยกันมองหาและพัฒนาเสริมสร้างให้พวกผู้นำแบบใหม่ขยายบทบาทได้มากขึ้น มีชื่อเสียงเป็นทีรู้จักเป็นที่ยอมรับของประชาชนมากขึ้น เพราะถ้าเราประชาชน โดยเฉพาะสื่อมวลชน ไม่ช่วยกันส่งเสริมบุคคลเหล่านี้ประชาชนก็จะรู้จักเฉพาะบุคคลหน้าเก่าๆ ในวงการสังคมชั้นสูงที่เป็นข่าวบ่อย เพราะมีตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โตมีฐานะทางสังคม หรือรู้จักคนมีชื่อเสียงในวงการบันเทิง วงการกีฬา ฯลฯ มากกว่าปัญญาชน ผู้นำองค์กรหรือผ้นำชุมชน ที่เราคิดว่าเขาน่าจะมีโอกาสเป็นผู้นำที่ดีต่อไปได้

            การแสวงหาผู้มีศักยภาพในการนำในการเปลี่ยนแปลง และการจัดตั้งองค์กรประชาชน คือยุทธศาสตร์สำคัญในการที่ฝ่ายประชาชนจะช่วยกันสานต่อช่วยพัฒนาแนวคิดใหม่ในการแก้ปัญหาวิกฤติให้ชัดเจน และปรับเข้ากับสถานการณ์ที่เป็นจริงได้อย่างต่อเนื่อง


" แนวทางคือ
การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
การผลิต การคลัง การธนาคาร
การกระจายทรัพยากร
การมีงานทำและรายได้
ปฏิรูปโครงสร้างการเมืองและสังคม
ให้เป็นประชาธิปไตย เป็นธรรม
มีภูมิปัญญา และมีจิตำนึกเพื่อส่วนรวม "







By  วิทยากร เชียงกูล ( ทางออกประชาชน, หนังสือระลึกถึง อานนท์  อัศนธรรม, สำนักพิมพ์ บริษัท ชน    นิยม จำกัด








No comments:

Post a Comment