Tuesday, October 02, 2012

รู้ และ ปฏิบัติ




ใครอันตรายกว่ากัน

         สมัยราชวงศ์หยวน มีกวีชื่อดังท่านหนึ่ง นามว่าไป๋อีจี้ ไป๋อีจี้ศึกษาเล่าเรียนและสอบแข่งขันจนกระทั่งได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองฟู่หยาง

         ไป๋อีจี้ชอบไหว้พระไหว้เจ้า ครั้งหนึ่ง เขาได้ข่าวว่าพระอาจารย์เต้าหลินเป็นอริยสงฆ์ที่น่าเลื่อมใส จึงเดินทางขึ้นเขาไปไหว้เต้าหลิน

         บนเขาเต็มไปด้วยป่ารกครึ้ม ภูมิประเทษสูงชัน แต่เมื่อไป๋อีจี้ เดินทางไปถึง เขากลับเห็นพระอาจารย์เต้าหลินนั่งขัดสมาธิอยู่บนยอดไม้ที่สูงเสียดเมฆบนยอดเขาสูง

         ไป๋อีจี้พูดด้วยความห่วงใยว่า " ท่านอาจารย์ ท่านขึ้นอยู่บนยอดไม้แบบนั้น มันอันตรายนะขอรับ "


          พระอาจารย์ตอบว่า " ข้าอยู่บนยอดไม้นี่ ไม่อันตรายเลยสักนิด ท่านต่างหาก ที่อันตรายอย่างแท้จริง "

          ไป๋อีจี้งง ถามว่า " ข้าน่ะเหรออันตราย "

          พระอาจารย์ตอบว่า " วงการขุนนาง ดวงขึ้นดวงตก ต่อสู้กันสุดฤทธิ์ ใจคนหยั่งยาก คนกลับคิดล้างกัน ทำลายกัน ไม่อันตราย กระนั้นหรือ "

          ไป๋อีจี้เหมือนจะเข้าใจ จึงถามว่า " ถ้าเช่นนั้น ข้าควรจะทำอย่างไรดี "

          พระอาจารย์ตอบว่า " อย่าทำบาป จงทำแต่ความดี "

          ไป๋อีจี้รู้สึกผิดหวังกับคำตอบนี้ จึงพูดว่า " หลักธรรมแบบนี้ เด็กสามขวบก็รู้กัน "

          พระอาจารย์กล่าวว่า " จริงทีเดียวที่หลักธรรมข้อนี้ เด็กสามขวบก็รู้กัน แต่คนแก่อายุ 80 กลับทำไม่ได้ "

         ไป๋อีจี้ บรรลุธรรมในบัดดล นับแต่นั้นมา เขาก็นับถือหลักธรรมแห่งพุทธศาสนาด้วยใจจริง

แง่คิด

         ความรับรู้กับการปฏิบัติ

         " รู้ง่ายกว่า ทำยากกว่า " หรือ " รู้ยากกว่า ทำง่ายกว่า " นี่เป็นปัญหาโลกแตกอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้คนถกเถียงกันมานมนาน

         พระอาจารย์เซนในนิทานเรื่องนี้เห็นด้วยกับทฤษฎีที่ว่า " รู้ง่ายกว่า ทำยากกว่า " ท่านพูดชัดว่า " เรื่องที่เด็กสามขวบรู้ คนแก่อายุ 80 กลับทำไม่ได้ "

        นี่เป็นความจริง และเป็นเรื่องที่ทุกคนพึงสังวร คนที่ดีแต่พูดแต่ไม่ลงมือทำนั้นเขาเรียกว่าพวกบ้าน้ำลาย

        แต่ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ควรปฏิเสธความจริงที่ว่า การเรียนรู้โดยเฉพาะการรู้แจ้ง รู้จริงนั้นป็นกระบวนการที่สลับซับซ้อนและลำบากยากยิ่ง ดังนิทานเซนเรื่อง " ใจไหว ลมไหว ธงไหว " ที่ชี้ให้เห็นว่าการปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวงจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสมองสั่งการ (ใจไหว ) แล้วทั้งนั้น สมองจะสั่งการได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีความรับรู้เข้าใจอย่างแท้จริง แต่ถ้าความรับรู้เข้าใจนั้นไม่ทะลุปรุโปร่ง รู้ผิดๆ ครึ่งๆ กลางๆ การกระทำก็บิดๆ เบี้ยวๆ เพี้ยนๆ 

       หลังจากไอสไตร์ค้นพบทฤษฎีสัพันธภาพแล้ว ต้องอาศัยความมานะบากบั่น ศึกษา เรียนรู้ ปฏิบัติ สรุปบทเรียน แล้วเรียนรู้ใหม่ ปฏิบัติใหม่ ค้นหาจนกว่าจะค้นพบความจริง






By สุภาพร ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )

       

No comments:

Post a Comment