มหายาน กับ เถรวาท
เมื่อเวลาได้ล่วงเลยประมาณ 100 ปี ภายหลังพุทธปรินิพพานได้เกิดความแตกแยกทางความคิดความเห็น ทำให้พุทธศาสนาถูกแบ่งออกเป็น 2 นิกาย ได้แก่นิกายมหาสังฆิกะ ซึ่งมีความเห็นว่า ควรมีการแก้ไขปรับปรุงพระธรรมวินัยบางข้อ กับนิกายเถรวาทที่เห็นควรให้คงไว้ซึ่งพระธรรมวินัยดั้งเดิม ต่อมานิกายสังฆิกะได้พัฒนากลายมาเป็นพุทธศาสนานิกายวัชรยาน
มีคำถามอยู่เสมอว่า พุทธศาสนาทั้งสองนิกายคือมหายานกับเถรวาทมีความแตกต่างกันอย่างไร คำตอบที่แน่ๆ ก็คือ ในด้านเปลือกนอก เราจะมองเห็นความแตกต่างในรูปแบบของการครองจีวรระหว่างภิกษุทั้งสองนิกาย ความแตกต่างในการประกอบพิธีทางศาสนา กับประการที่สองมีความแตกต่างกันในภาษาที่ใช้บันทึกคำสอนของพระพุทธองค์โดยทางเถรวาทให้ภาษาบาลี ขณะที่นิกายมหายานใช้ภาษาสันสกฤต
ส่วนความแตกต่างในแนวลึกได้แก่การเน้นความสำคัญในด้านการสอนการปฏิบัติพระธรรมวินัย เช่นทางเถรวาทเน้นความสำคัญในการรักษาพระธรรมวินัยเดิมซึ่งถือว่าเป็นความจำเป็นพื้นฐานต่อการปฏิบัติธรรมชั้นสูง ส่วนมหายานมีการปรับปรุงพระวินัยย่อยบางข้อเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น แนวความคิดในเรื่องของพระโพธิสัตว์ที่ทางเถรวาทแม้จะยอมรับและมีการสอนอยู่บ้าง แต่กลับเป็นเรื่องที่ทางมหายานเน้นย้ำและให้ความสำคัญและเป็นหัวใจหลักในการปฏิบัติภาวนา
อย่างไรก็ตาม แนวทางปฏิบัติทั้งในฝ่ายเถรวาทและมหายานหากจะมองให้ลึกก็จะมีความเห็นตรงกันในแก่นคำสอนหลัก เช่น ในเรื่อง อริยสัจ 4 มรรค 8 การบำเพ็ญทศบารมีในเถรวาท และบารมี 6 ในทางมหายาน สติปัฏฐาน 4 ความเกี่ยวพันระหว่างปัจจัยทั้ง 12 อย่างในปฏิจจสมุปบาท กฏว่าด้วยเหตุปัจจัย แนวทางการตรัสรู้ และการถือนิพพานคือเป้าหมายสูงสุดต่อการปฏิบัติธรรม ทั้งนี้รวมทั้งเรื่องกฏแห่งกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด นอกจากนี้ทั้งสองนิกายยังมีความเห็นร่วมกันในเรื่องบทบาทของความเมตตากรุณาและปัญญา ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความรู้แจ้งในสัจธรรม โดยทั้งสองนิกายยึดมั่นในการสอนให้หมั่นบำเพ็ญเพียรภาวนาในการสร้างคุณงามความดีทั้งหลาย เช่น สอนให้มีความเมตตากรุณา มีความกตัญญูรู้คุณ และให้ความเคารพนับถือต่อผู้สูงวัย มี นิวาตะ ได้แก่ ความอ่อนน้อมถ่อมตน เห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่น มีการทำบุญให้ทาน รักษาศีล มีสติ ไม่ยึดติด และให้ความเมตตาต่อสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกเป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ จึงอาจสรุปได้ว่า ความแตกต่างในสองนิกายยังคงตั้งอยู่บนหลักการเดียวกันในด้านแก่นคำสอน วัตถุประสงค์แนวทางในการปฏิบัติรวมทั้งเป้าหมายสูงสุดแห่งพุทธศาสนา
ในขณะที่พุทธศาสนานิกายเถรวาทได้แผ่กระจายลงมาทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียรวมทั้งประเทศไทย มหายานได้แผ่กระจายไปทางตอนเหนือของทวีป เริ่มตั้งแต่เนปาล มองโกเลีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และเวียดนาม ส่วนวัชรยานของชาวธิเบตซึ่งพัฒนามาจากมหายานในอดีตนั้นเป็นพุทธศาสนาอีกนิกายหนึ่งที่ชาวตะวันตกให้ความสนใจอยู่ในปัจจุบัน
By แก่นพุทธธรรม
ขอขอบคุณอย่างที่สุด
ReplyDelete