Thursday, October 18, 2012

อารัมภกถา

สถานการณ์ของพุทธศาสนาในประเทศไทย

         มีนักเขียนบทความในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ท่านหนึ่งยกปัญหาเกี่ยวกับความศรัทธาในพุทธศาสนาไว้ในหนังสือ Keeping the faith  ด้วยคำถามว่า " พุทธศาสนาในประเทศไทยในปัจจุบันกำลังจะไปในทางใด ? เกิดอะไรขึ้นกับศาสนาประจำชาติของเรา ?

          ผู้เขียนได้ยกปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของพุทธศาสนิกายเถรวาทดั้งเดิมที่ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ให้ความเคารพนับถือ จากข่าวเล่าลือในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับการมีพระสงฆ์บางรูปมีข้อวัตรฏิบัติผิดวินัย เช่น การทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ นับถือไสยศาสตร์ ประกอบพิธีกรรมผีเจ้าเข้าทรง ตลอดทั้งมีข่าวฉาวโฉ่เกี่ยวกับทางด้านชู้สาว ว่าเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้กำลังนำพุทธศาสนาในบ้านเราไปสู่ความเสื่อมศรัทธาหรืออย่างไร ในบทนำของหนังสือดังกล่าว ผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็นไว้ดังนี้


           " ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่ในบ้านเราจะนับถือพุทธศาสนา แต่ความศรัทธาของคนก็เริ่มเสื่อมลงในรอบศตวรรษที่ผ่านมา ที่ประเทศย่างเข้าสู่ยุคการพัฒนา จนมีผู้วิจารณ์ว่า พุทธศาสนาในปัจจุบันนั้นมีความหมายไม่มากไปกว่าการใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบพิธีกรรมเท่านั้นหรืออย่างไร ในสมัยก่อน วัดเป็นศูนย์กลางสำหรับการศึกษาเล่าเรียน และเป็นศูนย์รวมแห่งกิจกรรมของชุมชน แต่ในปัจจุบันขนบประเพณีเหล่านี้ได้สูญหายไป ปัญญาชนรุ่นหลังสงครามกำลังต้องมนต์ขลังในผลิตผลทางด้านวิทยาศาสตร์ มองพุทธศาสนาแค่เพียงมีไว้สำหรับการทำบุญเพื่อมุ่งสวรรค์หนีนรก ในขณะที่พระสงฆ์หลายรูปประกอบพิธีกรรมด้วยเวทมนต์คาถาหาเลี้ยงชีพโดยอาศัยความเชื่อทางด้านไสยศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีข่าวเกี่ยวกับพระยุ่งกับสีกา พระฉ้อโกง พระประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ ยิ่งทำให้ความศรัทธาของคนในพุทธศาสนาเริ่มสั่นคลอน และหมดหวังยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อคณะสงฆ์ปฏิเสธอย่างไม่ไยดีที่จะคิดปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารองค์กรในระบบศักดินา ที่ประกอบด้วยพระที่ทรงฐานานุศักดิ์ในนิกายที่ต่างก็รักษาผลประโยชน์ เล่นพรรคเล่นพวก และดำเนินงานโดยปราศจากความโปร่งใส

            ...อย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่ใช่มีแต่ข่าวร้ายไปเลยเสียทีเดียวในโลกแห่งพุทธศาสนาในบ้านเรา ขณะที่เราเสื่อมศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์บางรูป แต่พุทธศาสนิกในปัจจุบันก็ได้หันกลับมาให้ความสนใจในการศึกษาธรรมและการปฏิบัติสมาธิวิปัสนาอีกครั้งหนึ่งหลังจากผ่านยุคอุตสาหกรรมเฟื่องมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ประชาชนเริ่มตระหนักว่า วัตถุก่อให้เกิดความสุขได้น้อยกว่าที่คิดยิ่งกว่านั้นยังก่อให้เกิดผลทางตรงกันข้าม มีปัญหาซับซ้อนติดตามมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สังคมขาดความเชื่อมั่น ทำให้คนย้อนกลับมาทบทวนถึงความหมายของชีวิตจากวัฒนธรรมดั้งเดิมนั่นคือ พุทธศาสนา "

           ความเสื่อมโทรมในพุทธศาสนาดังกล่าว ส.ศิวรักษ์ วิจารณ์ไว้ในบทความเดียวกันว่า

           " เป็นเพราะคนยึดเงินและความสำเร็จเป็นเป้าหมายสูงสุด เงินและความสำเร็จคือพระเจ้าอย่างแท้จริง ศาสนาจึงมีความหมายแค่เป็นเพียงเครื่องมือเพื่อที่ใช้นำไปสู่เป้าหมาย นั่นก็คือความสำเร็จในทางวัตถุเท่านั้น "

           นอกจากนี้ ส.ศิวรักษ์ ยังได้แสดงความเห็นโดยออกมาตำหนิการก่อม็อบพระเพื่อต่อต้านและสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. สงฆ์โดยมีตำแหน่งพระสังฆราชเป็นเดิมพันระหว่างนิกายที่สนับสนุนพระเถระชั้นสูงกับฝ่ายธรรมยุตนำโดยพระที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือในการเรี่ยไรบริจาคเงินทองช่วยชาติหลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และสนับสนุนนายกรัฐมนตรีในคดีปกปิดทรัพย์สินที่ผ่านมาซึ่ง ส.ศิวรักษ์ วิจารณ์ว่า เป็นการกระทำที่มิใช่กิจของสงฆ์

           ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีพระสงฆ์คณะหนึ่งพากันออกมาเคลื่อนไหวถือแผ่นป้าย " ไม่มีพุทธศาสนา ไม่มีประเทศไทย " ระหว่างนั่งรอฟังผลการประชุมวุฒิสถาตามคำเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อกระทรวงใหม่เป็นกระทรวงพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทย

           ท่านพระธรรมปิฎก ( ป.อ. ปยุตฺโต ) พระที่ได้รับความเคารพนับถือสูงสุดองค์หนึ่ง มีความเห็นในเรื่องนี้ว่า รากเหง้าของปัญหาแท้จริงที่ทำให้พุทธศาสนาถูกเบียดเบียนย่ำยีอยู่ในปัจจุบัน ก็เนื่องจากพุทธศาสนิกชนขาดความรู้ความเข้าใจในคำสอนของพระพุทธองค์ ยึดเวทย์มนต์คาถาอาคมทางไสยศาสตร์และอำนาจในการดลบันดาลอื่นเป็นที่พึ่งว่าเป็นสิ่งถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกัน ก็พากันออกมาวิจารณ์เฉพาะในเรื่องของการละเมิดศีลข้อกาเมเป็นเรื่องใหญ่ แต่กลับปล่อยให้พระบางรูปที่มีข้อวัตรปฏิบัติทุศีลอาศัยไสยศาสตร์เป็นเครื่องทำมาหากิน ใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ้งเฟ้อเป็นที่ยอมรับของสังคม แม้แต่หนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ภูมิใจเสนอข่าวเกี่ยวกับการเปิดโปงเรื่องทุศีลของพระดังๆ แต่กลับมีที่ว่างสำหรับการเสนอข่าวสารส่งเสริมให้กับธุรกิจเชิงพุทธพาณิชย์ เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์อยู่ยงคงกระพันของพระเครื่องพระบูชา นอกจากนี้ชาวพุทธยังพากันเชื่อว่าการถวายเงินทองให้กับพระดังๆ จะสามารถดลบันดาลให้ตัวเองประสบความสำเร็จสมความปราถนา โดยไม่นำพาว่าพระรูปนั้นจะประพฤติปฏิบัติเหมาะสมกับสมณสารูปหรือไม่ และเงินที่นำไปถวายนั้นจะนำไปใช้ใลักษณะที่เหมาะสมก็ไม่มีใครสนใจติดตามเปิดทางให้มีการนำเงินบางส่วนไปช่วยพระลูกวัด ขณะที่เงินส่วนใหญ่ที่คนนำมาทำบุญบริจาคนั้นถูกจัดเป็นบรรณาการไปถวายพระผู้ใหญ่เพื่อเสริมสร้างบารมี โดยมีลูกศิษย์ลูกหาผู้ติดตามเป็นทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ และผู้มีอิทธิพลคอยสนับสนุน

           สิ่งเหล่านี้คือสาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหา ที่ทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมศรัทธา ท่านพระธรรมปิฎกย้ำว่า ท่ามกลางกระแสที่พุทธศาสนากำลังถูกเบียดเบียน สังคมควรจะหันกลับมาเป็นผู้ควบคุมข้อวัตรปฏิบัติที่นอกลู่นอกทางของพระ โดยยึดหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่เน้นในเรื่องการพึ่งพาตนเอง พุทธศาสนาสอนว่า หากทุกคนพยายามปรับปรุงพัฒนาตนเองให้ดีแล้วสิ่งต่างๆ ก็จะได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นจากผลของความขยันหมั่นเพียร พุทธศาสนามิได้สอนให้ปัดภาระความรับผิดชอบของตนเองไปให้กับอำนาจการดลบันดาลจากภายนอก ท่านพระธรรมปิฎกยกพุทธพจน์ที่เป็นปัจฉิมโอวาทก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงปลงอายุสังขารไว้ดังนี้

          " พุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองหรือเสื่อมโทรมลงนั้น ขึ้นอยู่กับบทบาทหน้าที่ 3 ประการของพุทธบริษัท คือ

          1. ใฝ่ศึกษาหาความรู้ความเข้าใจในแก่นพุทธธรรมคำสอน เพื่อนำมาปฏิบัติได้อย่างถูกต้องไม่บิดเบือน

          2. สามารถนำพุทธธรรมไปเผยแผ่สอนแสดงให้บุคคลอื่นเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้วยความรักความเมตตา

          3. สามารถชี้แจงแก้ไขกำราบปรับวาทให้กับผู้หลงผิดในความเชื่อที่มิใช่คำสอนทางพุทธศาสนาหันกลับมาสู่สัมมาทิฏฐิได้อย่างถูกต้อง

          ด้วยเหตุนี้ เราซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ควรมีบทบาทที่ถูกต้องเหมาะสมในการปกป้องมิให้ศาสนาเดินไปสู่จุดเสื่อม แทนการพร่ำวิพากษ์วิจารณ์อันอาจนำไปสู่การดูหมิ่นศาสนาได้ โดยเร่งศึกษาหาความรู้ความเข้าใจด้วยการพินิจพิจารณาว่า อะไรคือแก่นคำสอนที่แท้จริง เพื่อนำมาประพฤติปฏิบัติตามแนวทางที่ถูกต้องอันจะนำชีวิตไปสู่เป้าหมายอันสูงสุด





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment