ยานใหญ่ - ยานเล็ก
ครั้งหนึ่ง ขณะพระอาจารย์หวงปอเดินทางไปท่องเที่ยวเขาเทียนไถซัน ระหว่างทางเจอพระสงฆ์รูปหนึ่ง แต่งตัวแปลกๆ พฤติกรรมก็แปลกๆ แต่พอพบกันปั๊บ ทั้งสองก็สนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว จึงเดินทางไปด้วยกัน
วันหนึ่ง พวกเขาเดินทางมาถึงริมธารสายหนึ่ง น้ำไหลเชี่ยวกราก ท่านหวงปอได้แต่ส่ายหน้า พูดว่า " ดูท่า พวกเราคงต้องเดินอ้อมไปทางอื่นแล้วมั้ง "
พระประหลาดกลับพูดอย่างไม่ยี่หระว่า " เดินอ้อมเสียเวลา ข้ามไปตรงนี้แหละ "
ท่านหวงปอถามงงๆ ว่า " ท่านล้อเล่นหรือเปล่า น้ำตรงนี้ลึกและเชี่ยวกรากมาก จะข้ามได้อย่างไร "
พระประหลาดสำแดงปาฏิหารย์ให้ดู เดินบนผิวน้ำประหนึ่งเดินอยู่บนพื้นราบ เดินพลางหันกลับมาพูดกับท่านหวงปอว่า " มาสิ เดินข้ามมา "
ท่านหวงปอยืนนิ่ง พูดอย่างไม่ให้ค่าว่า " ฮึ่ม ที่แท้ก็แค่พระหินยานที่เอาตัวรอดคนเดียว ถ้าข้ารู้แต่แรก คงไม่คบท่านดอก "
พระหินยานชมว่า " ท่านช่างสมกับที่เป็นเครื่องมือทางธรรมฝ่ายมหายานนัก พูดตามตรง ข้าสู้ท่านไม่ได้ " พูดจบก็หายตัวไป
ศาสนาพุทธแบ่งเป็นลัทธิมหายานกับหินยาน มหายานก็คือยานพาหนะลำใหญ่ที่ขนสรรพสัตว์ข้ามฝั่งทุกข์ไปได้คราวละมากๆ ลัทธินี้เน้นที่การทำบุญทำทาน ช่วยคนให้พ้นทุกข์ ส่วนลัทธิหินยานหมายถึงยานลำเล็ก เน้นหนักที่การขัดเกลาตัวเอง เพื่อปลดปล่อยตัวเอง
ศาสนาพุทธในประเทศจีนเป็นมหายาน และมีอคติว่า ต่อให้นักบวชในลัทธิหินยานบรรลุธรรม ภูมิธรรมก็สู้นักบวชบวชใหม่ที่มีจิตเมตตาในลัทธิมหายานไม่ได้ เพราะท่าทีที่ " ต่อให้ถอนขนเส้นเดียวแล้ว ช่วยโลกได้ข้าก็ไม่ทำ " ของนักบวชลัทธิหินยานนั้น ทำให้พวกเขาไม่มีทางบรรลุอรหันต์
นักบวชลัทธิหินยานมักมีฤทธิ์ และคิดว่าคนทั่วไปต่างอิจฉา แต่ท่านหวงปอกลับไม่ให้ค่า ท่านภูมิใจในความเป็นมหายานที่ " มีโพธิจิต ตั้งแต่แรก ตัวเองยังไม่ทันพ้นทุกข์ ก็คิดที่จะช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์ " เหตุนี้เอง นักบวชลัทธิหินยานจึงซึ้งใจ กล่าวชมท่านหวงปอว่า สมแล้วที่เป็นเครื่องมือทางธรรมของลัทธิมหายาน
แง่คิด
แม้แต่ศาสนาพุทธ ศาสนาแห่งปัญญา ก็ยังแบ่งเป็นนิกายต่างๆ ใครชื่นชมลัทธิใดนิกายใด ก็เห็นข้อดีในลัทธินิกายนั้นมากมาย และเห็นข้อเสียในนิกายอื่นเสียดาษดื่น
นี่คือความหลากหลายของมนุษย์ นิ้วของคนเรานั้นมียาวมีสั้น ปัญญาความสามารถของคนเราก็มีมากมีน้อยแตกต่างกันไป ความคิดจิตใจขนคนยิ่งไม่ต้องพูดถึง นานาจิตตัง แถมแปรเปลี่ยนทุกวินาที
จงขึ้นไปยืนอยู่บนปราสาทปัญญา มองให้เห็นความหลากหลายนี้ แล้วเราจะยอมรับความเห็นต่าง ไม่แตกแยก ไม่ก้าวร้าว ไม่พยายามที่จะบังคับคนอื่นให้เห็นตาม
ทุกความคิดล้วนมีข้อดี - ข้อเสีย มีเงื่อนไข มีขอบเขต มีประวัติความเป็นมา มีวิวัฒนาการความเป็นไป
" ทำตัวเองให้ดี ให้พึ่งได้ก่อน แล้วจึงไปช่วยคนอื่น " กับ " ตัวเองยังไม่ต้องดีพร้อมดอก แต่เมื่อเห็นคนตกทุกข์ได้ยากลำบากอยู่ตรงหน้าก็ต้องกะโดดช่วยทันที " ความคิดใหนดีกว่ากัน นี่ไม่ใช่เรื่องที่ควรถกเถียง แต่ควรดูเงื่อนไข เวลา สถานที่ ดจริตตัวเองว่าถนัดแบบไหน ข้อดี - ข้อเสียก็เช่นเดียวกัน ต่างมีดีมีเสีย มีความโน้มเอียง เหมือนๆ กัน คนที่เน้นขัดเกลาจิตวิญญาณตัวเอง หนักข้อเกินไปก็จะตัดขาดจากชาวโลก คนที่เน้นช่วยเหลือคนอื่น หนักข้อเกินไปก็จะปล่อยปละละเลยตัวเอง ไม่สามารถยกระดับตัวเองให้ถึงขั้นบรรลุธรรม
แต่ไม่ว่าจะเลือกเดินหนทางใด สิ่งหนึ่งที่พึงรำลึกอยู่เสมอก็คือต้องศึกษาอย่างอ่อนน้อมถ่อมตัว อย่าทำตัวเป็นชาล้นแก้ว เติมสิ่งใหม่ไม่เข้า ด้วยหลงคิดว่าตัวเองดีที่สุด ถูกต้องที่สุด
By สุภาพร ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )
No comments:
Post a Comment