Monday, October 22, 2012

ทั้งยาก ทั้งเหนื่อย

สัตบุรุษ กับ คนถ่อย

          ศิษย์ถามอาจารย์ว่า " สัตบุรุษทำผิดอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็ถูกคนตำหนิติเตียน แต่คนถ่อยทำผิดคิดชั่วสารพัด ทำไมเขาถึงไม่รู้สึกอะไร "

           อาจารย์ตอบว่า " สัตบุรุษเปรียบประดุจหยกชิันงาม เนื้อหยกหากมีตำหนิแม้เพียงเส้นเท่าขนแมว คนเขาก็มองเห็น และลงคะแนนว่าเป็นหยกมีตำหนิ ส่วนคนถ่อยที่ทำเลวทำชั่วทุกวี่วัน ชั่วจนชินตา ชั่วทุกตารางนิ้ว ชั่วจนหาดีไม่เจอ จึงไม่มีใครนึกจะตำหนิติเตียน "


แง่คิด

          เป็นคนดี มันยาก ทั้งหนักทั้งเหนื่อยทั้งถูกจับจ้องคาดหวัง

          " สัตบุรุษ " แปลว่า คนดี คนสงบ คนที่พร้อมมูลด้วยธรรม ภาษาจีนแปลว่า ปัญญาชน สุภาพชน

          นิทานเซนเรื่องนี้ บอกว่า " สัตบุรุษ " เป็นกันยาก เรามาดูกันหน่อยว่า สัตบุรุษ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

          สัตบุรุษหมายถึงคนมีคุณธรรม คนที่เป็นสัมมาทิฐิ คนที่ประพฤติธรรมเป็นปกติ ในทางปฏิบัติคือคนที่ประกอบธรรม 7 ประการ คือ

  • เป็นคนที่มีศรัทธา มีความละอายต่อบาป มีความกลัวต่อบาป เป็นคนได้ยินได้ฟังมาก เป็นคนมีความเพียร เป็นคนมีสติมั่นคง
  • ไม่ปรึกษาอะไรที่บียดเบียนตนและผู้อื่น
  • ไม่คิดอะไรเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื้น
  • ไม่พูดอะไรเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
  • ไม่ทำอะไรเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่น
  • มีความเห็นชอบ เป็นสัมทิฐิ
  • ให้ทานโดยความเคารพ ไม่ให้แบบทิ้งขว้าง
         กล่าวกันว่า เป็นคนนั้นยาก เป็นสัตบุรุษยิ่งยาก แต่หากเราเกิดมาเป็นบัวพ้นน้ำ ธรรมชาติก็ได้โปรแกรมให้เราต้องเป็นสัตบุรุษอยู่แล้ว ยังไงๆ เราก็ไม่เลือกที่จะเป็นคนถ่อย แม้คนถ่อยจะเป็นง่ายกว่าสัตบุรุษหลายพันหลายหมื่นเท่าก็ตาม

         เมื่อธรรมชาติแห่งจิตพุทธะในตัวคนสำแดงเดชให้มนุษย์ต้องเป็นคนดี ยามเจอเงื่อนไขหนักเหนื่อย ก็จงเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม อย่าได้ท้อแท้ทุกข์ตรมไปเลย เพราะนี่คือธรรมชาติ

         ขงจื้อสอนเราว่า ความผิดพลาดของสัตบุรุษนั้น เปรียบประดุจสุริยุปราคา หรือจันทรุปราคา จุดอ่อนข้อบกพร่อง ตลอดจนความผิดพลาดของเขา ใครๆ ก็มองเห็น แต่หลังจากที่เขาแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นแล้ว ทุกคนก็ยังเคารพนับถือเขา






By สุภาพร  ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )

No comments:

Post a Comment