Monday, November 26, 2012

มัชฌิมาปฏิปทา

มัชฌิมาปฏิปทา
หลักการปฏิบัติตามทางสายกลาง

          ในทางพุทธศาสนา มัชฌิมาปฏิปทา หมายถึง หลักปฏิบัติตามทางสายกลางในการดับทุกข์ ที่พระพุทธศาสนาแนะนำให้ประพฤติปฏิบัติทั้งในชีวิตปกติและชีวิตพรหมจรรย์ มัชฌิมาปฏิปทาจัดเป็นจริยศาสตร์แนวพุทธที่สอนให้มนุษย์ในสังคมอยู่ในศีลธรรมจริยธรรมอันดีงามภายใต้มรรค 8 เพื่อเป้าหมายในการดับทุกข์ตามที่กล่าวไว้ในข้อที่ 4 แห่งอริยสัจ เป็นทางสายเดียวกันที่จะนำเราท่านไปสู่เป้าหมายทางพุทธศาสนาที่แท้จริง ทางสายกลางดังกล่าวประกอบด้วยมรรค 8 คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ มรรคทั้ง 8 นี้อาจจัดออกเป็น 3 หมวด เรียกว่า ไตรสิกขา ได้แก่ หมวดศีลเรียกว่า อธิศีลสิกขา หมวดสมาธิเรียกว่า อธิจิตตสิกขา และ หมวดปัญญาเรียกว่า อธิปัญญาสิกขา มรรคทั้งแปดจัดเป็นแนวทางในการพัฒนาจิตวิญญาณสำหรับผู้ครองพรหมจรรย์รวมทั้งฆราวาสที่ต้องการปฏิบัติธรรมโดยเฉพะ ส่วนพระพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปที่เรียกว่า คฤหัสถ์นั้น พระพุทธองค์ ทรงแนะนำให้ประพฤติปฏิบัติตามทางสายกลางแห่ง " บุญญาสิกขา " ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ด้วย " บุญกิริยาวัตถุ 3 " ได้แก่ 1. ทาน หรือ จาคะ การอยู่กับผู้อื่นด้วยการให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล หรือให้การสงเคราะห์ตามความเหมาะสม 2. ศีล หรือ สัญญมะ การควบคุมในการแสดงออกทาง กาย วาจา ด้วยการไม่เบียดเบียนผู้อื่น 3. ภาวนา หรือ ทมะ การฝึกอบรมจิตและภาวนาปัญญาให้คุณภาพ มีสมรรถภาพ และมีสุขภาพที่ดี มีคุณธรรม

            ไตรสิกขา หรือที่พากันเรียกสั้นๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ดังที่ได้กล่าวมานี้เปรียบได้กับคำสอนใน " โอวาทปาฏิโมกข์ " ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า หมายถึง " การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ( ศีล ) การบำเพ็ญความดีให้เพียบพร้อม ( สมาธิ ) และการทำจิตของตนให้ผ่องใส ( ปัญญา ) " ซึ่งหากจะย่อให้สั้นมักเรียกกันว่า " สะอาด สงบ และ สว่าง 


             อธิศีลสิกขา หมายถึง การฝึกภาวนา เพื่อควบคุมการกระทำที่เป็น วจีกรรม และ กายกรรม ภายใต้มรรคสามหมวดคือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และ สัมมาอาชีวะ อธิจิตตสิกขา หมายถึง การฝึกการภาวนาควบคุม มโนกรรมภายใต้มรรคอีกสามหมวด ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ ส่วน อธิปัญญาสิกขา หมายถึง การฝึกภาวนา เพื่อพัฒนาปัญญาภายใต้มรรคสองหมวดแรกคือ สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ

             มัชฌิมาปฏิปทาที่ถูกต้องตามหลักทางพุทธศาสนานั้นเรียกว่า สัมมาปฏิปทา เป็นทางสายกลางในการปฏิบัติซึ่งมีลักษณะดังนี้

             1. เป็นการปฏิบัติที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำในการดำเนินชีวิตและการประพฤติพรหมจรรย์โดยหลีกเลี่ยงการกระทำที่สุดโต่งสองอย่างคือ กามสุขัลลิกานุโยค ไม่หมกมุ่นอยู่ในกามสุขจนเกินเหตุกับ อัตตกิลมถานุโยค การประกอบความเดือดร้อนทรมานให้กับตนเอง ทั้งสองแนวทางนี้พระพุทธเจ้าทรงถือว่าเป็นการสกัดกั้นไม่ให้บรรลุเป้าหมายทางพุทธศาสนา นั่นคือความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณและเข้าถึงปรมัตสัจจะ

             2. เป็นกระบวนการฝึกเพื่อความดับทุกข์ พุทธศาสนาถือว่า ทุกข์คือปัญหาของมวลมนุษย์ สาเหตุแห่งทุกข์ได้แก่ อาสวะ อวิชชา ตัณหา และอุปาทาน การดับทุกข์ก็คือการดับแห่งกรรม สำหรับกระบวนการในการเกิดดับแห่งทุกข์นั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในวงจรปฏิจจสมุปบาท ส่วนวิธีดับแห่งทุกข์ก็ด้วยการปฏิบัติตามทางสายกลางที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาภายใต้มรรคทั้งแปด การที่เรารู้และเข้าใจในเฌนธรรมเทศนาเกี่ยวกับกระบวนการธรรมชาติของการเกิดดับแห่งทุกข์ตามวงจรปฏิจจสมุปบาทก็เพื่อจะได้นำไปสู่การปฏิบัติตามทางสายกลางดังกล่าว

             3. เป็นหลักศีลธรรมจริยธรรม ที่นำไปสู่การเพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตได้จริงหากเราลงมือปฏิบัติโดยการดำเนินชีวิตตามทางสายกลางแห่งมรรค 8 ดังนั้น จริยศาสตร์แนวทางพุทธจึงไม่ใช่เป็น " จริยศาสตร์ทางความคิด " หรือ " จริยศาสตร์ในความฝัน " อย่างที่เคยมีนักวิทยาศาสตร์ชาวตะวันตกบางคนวิจารณ์หลักคำสอนทางพุทธศาสนาไว้ว่า มีแต่การห้ามทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ดังที่ปรากฏอยู่ในไตรสิกขา ซึ่งแท้จริงแล้วคำสอนในพุทธศาสนาประกอบด้วย ศีล และด้วย ธรรม ในการดำเนินชีวิตเพื่อระงับทุกข์ เพิ่มสุขให้กับตนเองและต่อสังคม

             4. เป็นทางสายกลางที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะให้ผู้ครองเรือนและครองพรหมจรรย์ได้นำไปปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ เพราะพุทธศาสนายอมรับในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่แสวงหาประสบการณ์ เพื่อนำมาเพิ่มพูนความสมบูรณ์ให้กับชีวิต โดยเชื่อว่ามนุษย์เช่นเราท่านสามารถตระหนักในคุณค่าต่อการหยั่งรู้ในสัจธรรมได้ด้วยอัชฌัติกญาณที่มีอยู่ภายในตนเอง

              5. เป็นเครื่องมือที่นำไปใช้ในการข้ามฝั่งแห่งวัฏสังสาร เป็นคำสอนที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเพื่อย้ำให้มองเห็นธรรมทั้งหลายในฐานะอุปกรณ์หรือวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมาย นั่นคือการดับแห่งทุกข์การตระหนักรู้ในปรมัตถสัจจะ และความหลุดพ้นแห่งจิตวิญญาณดังที่พระองค์ทรงสอนว่า

              " ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายที่ตถาคตแสดงเปรียบเสมือนแพที่พาข้ามฝั่ง ( แห่งทุกข์ ) เมื่อใดที่พวกเธอทั้งหลายข้ามไปได้แล้ว ก็หามีความจำเป็นติดยึดหรือแบกหามอีกต่อไปไม่ "

              ในการที่จะบรรลุเป้าหมายได้นั้น จะต้องเป็นไปด้วย " สัมมาปฏิปทา " อันประกอบด้วยมรรคที่สำคัญสามอย่างคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ และ สัมมาสติ ดังที่ท่านพระธรรมปิฎกเปรียบการปฏิบัติธรรมที่จัดว่าเป็นสัมมาปฏิปทากับการเดินทางว่า 

              " สัมมาทิฏฐิเป็นประหนึ่งเข็มทิศหรือไฟส่องทางในอันที่จะนำไปสู่จุดหมายปลายทาง สัมมาวายามะ เปรียบเสมือนแรงขับเคลื่อนส่วนสัมมาสติเป็นเหมือนเครื่องบังคับควบคุมให้พาหนะแล่นไปตามทิศทางนั้นๆ ทั้งนี้ ในการปฏิบัติขั้นศีลก็ตาม สมาธิก็ตาม ขั้นปัญญาก็ตาม จะต้องอาศัยองค์มรรคทั้งสามนี้ทุกขั้นตอน "

              ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า มัชฌิมาปฏิปทาที่พระพุทธองค์ทรงค้นพบนั้นเป็นหลักปฏิบัติตามทางสายกลาง ในการตรวจสอบแก้ไขการดำเนินชีวิตให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ และไม่ก่อให้เกิดโทษทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น เป็นหลักธรรมที่สอนให้เรารู้จักว่าอะไรคือทุกข์ ทุกข์อะไรคือสาเหตุแห่งทุกข์ และรู้วิธีแก้ปัญหาอันเนื่องมาจากทุกข์ได้หากเราได้นำมาปฏิบัติตามแนวทางแห่งมรรค 8 ซึ่งจัดเข้าอยู่ในกลุ่มไตรสิกขาได้ดังนี้

กลุ่มไตรสิกขา        มรรค

ปัญญาสิขา            สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปะ

ศีลสิกขา               สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ

สมาธิิกขา              สัมมาวายามะ สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ

             รายละเอียดเกี่ยวกับมรรคแต่ละข้อจะมีดังนี้

* หมายเหตุ จิตที่ได้รับการพิจารณาแล้วมีคุณสมบัติ 3 ประการ คือ

             1. มีคุณภาพดี หมายถึงจิตที่ได้รับการอบรมให้มีคุณธรรม เช่น มี เมตตา กรุณา มุทิตา มีศรัทธา มีความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ มีความคารพ และมีความกตัญญู

             2. มีสมรรถภาพดี หมายถึงจิตที่ได้รับการฝึกให้มี

                 ขันติ - ความอดทน
                 สมาธิ - มีความตั้งใจมั่น
                 วิริยะ - มีความเพียร
                 สติ - มีความระลึกเท่าทัน
                 กัมมนียัง - เหมาะสมหรือควรแก่การใช้งาน

             3. มีสุขภาพดี หมายถึงจิตที่ได้รับการพัฒนาให้มีความเอิบอิ่มแช่มชื่น เบิกบาน ผ่องใส หรือที่เรียกว่า ปีติ ปราโมทย์อยู่เสมอ





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment