Thursday, October 11, 2012

รามเกียรติ์ รื้อเรียน เพื่อ รื้อรู้ ( ตอนที่ 1 )



ตอนที่ 1

         วรรณคดีที่มีอิทธิพลโดยส่งผลกระทบทั้งยังกลบกลืนวรรณคดีอื่นๆ มิให้ขึ้นมายิ่งใหญ่เทียมเท่า และถูกยกเป็นเบ้าหลอมหมายเลขหนึ่ง สำหรับตอกตรึงความคิดของสังคมให้นิยมลัทธิเทวราชแห่งชนชาติสยาม นั่นคือ รามเกียรติ์

         แม้จะมีผู้เขียนผู้รู้และผู้ศึกษาได้ค้นคว้าเรียบเรียงโต้เถียงแสดงทัศนะเชิงวิจารณ์ไว้หลายด้านหลายกรณีแต่ก็มิมีแก่นสารเท่าใดนัก เพราะลงท้ายมักยกย่องความสำร็จของรามเกียรติ์อยู่ร่ำไป ไม่ว่าเนื้อหาและความพยายามตลอดจนความเริกไกรทั้งมวล

         โปรดอ่านคำชวนให้เชื่อของอาจารย์เจือ สตะเวทิน ครูวรรณคดี ณ แผ่นดินเราแต่เก่าก่อนตอนหนึ่งดังนี้ 


          อิทธิพลของวรรณคดีรามเกียรติ์นั้นมีอยู่มากมายหลายประการ อาจแยกออกเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้

          1. รามเกียรติ์ในฐานะที่เป็นวรรณดีไทยเรื่องหนึ่ง ก็เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่สมัยโบราณมาจนกระทั่ง บัดนี้คนก็ยังเรียนหนังสือรามเกียรติ์ ได้มีการเล่นโขนเล่นละครบนเวทีไม่ว่าจะเป็นตามสโมสรหรือตามโรงเรียน เรื่องวรรณคดีเรืองนี้ย่อมเข้าไปแทรกอยู่ทั่วไป

          2. นอกจากนั้นรามเกียรติ์ยังดลใจให้จิตรกรสร้างภาพอันวิจิตรบรรจงไว้ตามสถานที่สำคัญ เช่น ตามโบสถ์ ตามวิหารและตามศาลาเป็นต้น จิตรกรรมเหล่านี้ที่มีค่าที่สุดก็คือจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ที่วาดไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นจิตรกรมที่เราได้อวดชาวต่างประเทศอยู่แม้กระทั่งทุกวันนี้

          3. นอกจากนั้นรามเกียรติ์ยังก่อให้เกิดศิลปะแห่งการแกะสลักซึ่งมีอยู่ทั่วไป บางทีก็แกะสลักบนต้นไม้ บางทีก็แกะสลักกันบนหิน ที่ขึ้นหน้าขึ้นตาที่สุดก็คือภาพแกะสลักบนหินที่วัดพระเชตุพน ภาพแกะสลักบนหินนี้ปัจจุบันชาวต่างประเทศนิยมคัดลอกเอาเป็นสมบัติ

          4. ในเรื่องศิลปะการเย็บปักถักร้อย เราก็ยังเห็นอยู่เสมอว่า บรรดาสตรีไทยนั้นเอาเรื่องวรรณคดีเรื่องนี้มาเย็บปักถักร้อย ให้เป็นรูปวิจิตรบรรจง เช่นปักหมอนด้วยรูปหนุมานหาวเป็นดาวเป็นเดือนหรือ ปักผ้าปูโต๊ะด้วยรูปอื่นๆ อีกมากมายหลายอย่าง

          5. แม้แต่ในตำราโหราศาสตร์ของไทยเราก็นิยมเอาเรื่องในรามเกียรติ์มาเป็นข้อเปรียบเทียบสำหรับพยากรณ์โชคชะตาของบุคคล เช่น อ้างว่าท่านผู้นั้นผู้นี้ตกตอนพิเภกถูกขับเป็นต้น

          6. แม้แต่ในวิชาการครัว วิชาปรุงอาหาร เราก็เห็นกันอยู่ทั่วไปว่าเรื่องรามเกียรติ์เข้มามีบทบาทอยู่ด้วยเหมือนกัน พ่อครัวแม่ครัวนิยมตั้งชื่ออาหารด้วยเรื่องรามเกียรติ์ ที่พบมากที่สุดก็คืออาหารที่ชื่อ พระรามลงสรง

          7. บรรดาผู้แต่งหนังสือโดยมากนิยมถือว่าเรื่องรามเกียรติ์เป็นเรื่องสำคัญ คนที่แต่งหนังสือโดยมากนิยมถือว่าเรื่องรามเกียรติ์มาเปรียบเทียบเป็นแบบอยู่เสมอ เช่น เวสสันดรชาดก ลิลิตตะเลงพ่าย หรือ เรื่องอื่นเรื่องใดก็ดีต้องกล่าวถึงเรื่องรามเกียรติ์เป็นพื้น

          ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ จึงเห็นได้ว่าวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์มีอิทธิพลต่อชีวิตคนไทยมาทุกยุคทุกสมัยแม้จนกรัทั่งทุกวันนี้

          ( จากคลังวรรณดคีเล่ม 2 น. 117 - 119 โดย เจือ สตะเวทิน )

          ยังไม่สิ้นสุดกระบวนความสำหรับรามเกียรติ์ เพราะผู้เขียนเห็นว่าอาจารย์เจือยังคงเหลือคำชวนเชื่ออยู่อีกหลายด้าน เช่นการรับข้าราชการของคนไทยเราได้ยึดเอารามเกียรติ์เป็นหลักในความจงรักภักดีถึงกับมีคำว่า " อาสาเจ้าจนตัวตาย อาสานายจนสินลม " ใครที่นิยมหนุมาน ชมพูพาน สุครีพ หรือองคต ย่อมเล็งเห็นแบบบทดังกล่าว

          วกเข้ามาทางกีฬาจะเห็นได้ว่ามีกีฬาอยู่ 2 ประเภท ซึ่งอ้างถึงรามเกียรติ์มากกว่าตำราหรือวิชาการไหน คือมวยไทยกับหมากรุก โดยเฉพาะการผูกชื่อเข้ากลวิธีจะรุกรับเป็นศัพท์ติดปากมากมาย เช่น หนุมานถวายแหวน, หักคอเอราวัณ ฯลฯ ( มวยไทย ) หรือสุครีพถอนต้นรัง พาลีแย่งมณโฑ ฯลฯ ( หมากรุก ) เป็นต้น แม้แต่เรื่องเครื่องกล หรืออาวุธร้ายแรงก็เอาชื่อรามเกียรติ์มาสำแดงข่ม ดูได้จากปืนใหญ่หน้ากลาโหมที่มีชื่อเกี่ยวพันกับรามเกียรติ์หลายกระบอก นอกจากนั้นยัง โผล่ในตำรายาแผนโบราณบ้างหรือลีลาท่าทางการร่วมเพศก็ยังอุตส่าห์ปรากฏให้เห็น ฯลฯ และ ฯลฯ

          เป็นอันว่ารามเกียรติ์เข้ามามีบทบาทกับชนชาติไทยตั้งแต่สมัยเก่าจนล่วงเข้าปัจจุบัน ทว่าประเด็นสำคัญที่เราเพิกเฉยเมินเฉยไปแล้วคือรากแก้วรามเกียรติ์นั้นว่ายเวียนอยู่ในอินเดียทั้งดุ้น แต่เราทำให้คุ้นชีวิตลืมคิดไปว่ารับเอาของเขสมาแล้วสร้างค่าให้ยิ่งใหญ่กว่าของในถิ่นตนย่อมหนีไปไม่พ้นซึ่งการมีวิวัฒนธรรมอันอ่อนแอ หาแก่นแท้แห่งความเป็นชาติได้ขาดๆ เกินๆ

          ดูเผินๆ ย่อมมิอาจแลเห็นเช่นกัน

          การเอาวรรณคดีเรื่องรามกียรติ์โดยประชุมปวงปราชญ์ราชกวีลงฝีมือถือว่ามิธรรมดา ตามเจตนารมณ์ที่อ้างถึง ( ตามฉบับรัชกาลที่ 1 ) ทรงฯ มีพระราชประสงค์จะธำรงวรรณคดีเรื่องนี้ไว้เพื่อไม่ให้สูญหายไปทว่าโคลงปิดท้ายเรื่องกลับกล่าวลอยๆ ว่า ประสงค์จะเป็นการสมโภชกรุงรัตนโกสินต์ ดัง

   จบ      เรื่องราเมศล้าง          อสูรพงศ์ 
     บ      พิตรธรรมทรง            แต่งไว้
     ริ       ร่ำพร่ำประสงค์          สมโภช พระนา
บูรณ์      บำเรอรมย์ไท้             อ่านร้อง รำเกษม

          เมื่อเปรียบเทียบกับเล่มของฉบับพระเจ้ากรุงธนบุรีฯ ( ตากสิน ) แผ่นดินก่อนอันมีเพียง 4 ตอน คือตอนพระมงกุฏ ตอนหนุมานเกี้ยว นางวานริน ตอนเท้ามาลีวราชว่าความ และตอนทกัณฐ์ตั้งพิทีทรายกรด บทละคร 4 ตอนนี้มีจุดมุ่งหมายคล้ายคลึงกันคือแต่งไว้เพราะรามเกียรติ์เป็นที่รู้จักกันมานานแล้ว

          แต่ข้อที่เป็นแนวคิดสำคัญคือพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นตรัสรับสั่งว่าน่าจะมีบทละครที่มีคนนิยมมาประดับพระเกียรติ์ไว้บ้าง

          แบบอย่างเช่นนี้น่าเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดและจุดประกายต่อมามิใช่เพียงแค่ว่าจะแต่งไว้มิให้สูญหรือเพิมพูนความสนุกสนานสำราญใจแต่เพียงถ่ายเดียว

          พูดโดยไม่ลดเลี้ยว รามเกียรติ์ในเรื่องคือเกียรติของพระรามาวตาร แต่รามเกียรติ์ในด้านความเป็นจริงคือเกียรติ์ยิ่งใหญ่ของพระราชวงศ์

          และคงมิมีรามเกียรติ์ฉบับไหนยิ่งใหญ่ไปกว่ารามเกียรติ์ฉบับรัชการที่ 1 เป็นแน่แท้ ด้วยแน่วแน่ในการประชุมปราชญ์ราชกวีที่มีอยู่ทั้งหมด มาแต่งเป็นบทละครยาวเหยียดถึง 117 เล่มสมุดไทย เต็มไปด้วยอภินิหารนานัปการเพื่อส่งสารให้ประชาชนชาวไทยดื่มด่ำในเนื้อเรื่องโดยไม่ต้องเปลืองปัญญาค้นคว้าค้นคิด

         ทั้งนี้เนื้อหาน่าจะผิดพลาดฉกาจฉกรรณ์ อย่างน้อยก็เห็นกันอยู่ 3 ช่วง คือ 

         1. กำเนิดทศกัณฐ์อันมาจากยักษ์ชื่อนนทก

         2. กำเนิดนางสีดา

         3. การกำเนิดพิเภก

         วรรณคดีเรื่องนี้ควรถึงทีสังคยานาเสียบ้าง

         สังคยานาอย่างไร คงต้องไล่เรียงสมข้อบกพร่องนำร่องเสียก่อน ถึงวรรณคดีสโมสรจะยกย่องว่าเป็นบทละครที่ยอดเยี่ยมไร้เทียมทานก็ตามที






By คมทวน  คันธนู ( วรรณวิภากษ์ )


No comments:

Post a Comment