Saturday, November 24, 2012

อุปาทาน

อุปาทาน

          กิเลสอีกชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ต่อจากตัณหา คือ อุปาทาน หรือการยึดมั่นถือมั่น ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ

           1. กามุปาทาน ความยึดมั่นในกาม อันเป็นผลมาจากความอยากจึงพยายามแสวงหาวัตถุกามาสนองความอยาก ครั้นได้สิ่งที่ต้องการแล้วก็จะแสวงหาต่อมากมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนำมาสะสมยึดมั่นไว้เป็นของตนเพราะเกรงว่าจะสูญหายหรือหลุดลอยไป ในกรณีที่เกิดความผิดหวังเพราะสูญเสียหรือเบื่อหน่ายในสิ่งที่ตนมี ก็จะแสวงหาสิ่งใหม่เพื่อสนองความอยากอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งๆ ที่โดยความจริงแล้ว ไม่มีสิ่งใดยิ่งยืนถาวรพอที่จะนำมายึดเป็นของตน นี่คือความคิดที่มีอยู่ในมนุษย์ปุถุชนที่ติดยึดอยู่กับการเป็นเจ้าของเพื่อการครอบครอง 

           2. ทิฏฐิปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในทฤษฎีต่างๆ เพื่อความอยากให้เป็นหรือไม่อยากให้เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ตนต้องการจึงก่อให้เกิดความเอนเอียงยึดมั่นในทัศนคติ ทฤษฎี หรือหลักปรัชญาต่างๆ อย่างใดอย่างหนึ่งที่เข้ากับความคิดเห็นของตน จนกลายเป็นแนวความคิด ความเชื่อ และแนวการสอบอบรมสั่งสอน ครั้นเมื่อมีทฤษฎีความเชื่ออื่นมาคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีของตนก็จะต่อสู้ คัดค้าน ถกเถียงเพื่อรักษาหรือปกป้องความเชื่อเดิมจนนำไปสู่ความขัดแย้งทางความคิดซึ่งถือว่าเป็นการปิดกั้นการแสวงหาความรู้ใหม่



            3. สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลในพรต อันเป็นผลมาจากความเชื่อที่ตั้งอยู่ในภวตัณหาและทิฏฐุปาทานเดิม เช่นการเซ่นไหว้หรือประกอบพีธีกรมด้วยเวทย์มนตร์คาถาอาคมต่างๆ โดยเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้จะสามารถช่วยสนองความต้องการตามรูปแบบที่เคยยึดมั่น ก่อให้เกิดความเชื่อในแบบแผน ความประพฤติ ความเชื่อ ลัทธิพิธี ในสถาบัน ต่างๆ อย่างแน่นอนตายตัว ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นโดยไม่ตระหนักรู้ในความหมาย คุณค่า วัตถุประสงค์ ความสัมพันธ์โดยเหตุผล กลายเป็นว่า มนุษย์สร้างสิ่งต่างๆ นี้ขึ้นมาเพื่อกีดกั้นปิดล้อมตนเอง ทำให้เกิดการอุดตันทางความคิด ยากต่อการนำมาปรับปรุงหรือสร้างประโยชน์ที่ควรจะได้รับให้กับตนเอง

            4. อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในความเชื่อของการมีตัวตนซึ่งถือว่าเป็นความหลงผิดในระดับพื้นฐานที่มนุย์ปุถุชนมีอยู่เสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดจากความหลงผิดจากการตีความอันเนื่องมาจากการสื่อภาษาและการติดต่อสื่อสารในระดับ " ภาษาธรรม " กับ " ภาษาคน " ดังที่ท่านพุทธทาสภิกขุนิยมนำมาอธิบาย ทำให้คนเราติดยึดกับบัญัติทางโลกิยะ มองเห็นว่ามีตัวตน ความรู้สึกนี้กลายเป็นความยึดมั่น เพราะมีตัณหาเป็นเหตุปัจจัยเดิม ทำให้เกิดภาวะของการมี " ตัวกู ของกู " ขึ้นมาเพื่อครองความเป็นเจ้าของสิ่งเหล่านั้นทั้งภวตัณหาและวิภาวตัณหาที่ว่านี้จึงกลายเป็นปัจจัยให้เกิดอัตตาและมีความยึดมั่นในอัตตา

            เมื่อมนุษย์ปุถุชนตกอยู่ในอุปาทานหรือความยึดมั่นถือมั่นดังได้กล่าวมาแล้ว ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิด ภพ ชาติ ชรา มรณะ ตลอดจนความเศร้าโศก คร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส คับแค้นใจ อันเป็นมวลแห่งทุกข์เนื่องจากอาสวะ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เมื่อไม่เข้าใจและไม่ตระหนักรู้ว่าสิ่งทั้งหลาย " มันเป็นเช่นนั้นเอง " จึงทำให้มนุษย์ปุถุชนตกอยู่ในวังวนแห่งวัฏสงสารเช่นนี้ตลอดไป






By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment