Wednesday, November 07, 2012

ขุนช้าง - ขุนแผน " แว่นใหม่ที่ใส่มอง " ( ตอนที่ 1 )


ขุนช้าง - ขุนแผน " แว่นใหม่ที่ใส่มอง " ( ตอนที่ 1 )

           จากการอ่านวรรคดีไทยมาช้านานเหลือหลายและมากมายหลายฉบับ พอจะนับเนื่องเอาได้ว่าเสภาขุนช้างขุนแผนนั้นเป็นวรรณคดีที่มีผู้กล่าวขานทั้งนิยมอ่านกันมากเป็นลำดับแรก โดยแยกออกเป็นกลุ่มก้อนตามขั้นตอนดังนี้

            - กลุ่มที่หนึ่ง อ่านเพราะพึงต้องการศึกษาค้นคว้าตามหน้าที่

            - กลุ่มที่สอง อ่านเพราะต้องการอ่าน

            - กลุ่มที่สาม อ่านตามคนมีชื่อยึดถือมาว่าเป็นวรรณคดีไทยแบบไทยแท้จริง

            - กลุ่มที่สี่ อ่านเพราะมิอยากขึ้นนามถูกหยามว่าล้าสมัย

            จับเค้าได้ว่ากลุ่มหนึ่งเป็นนักเรียนนักศึกษา กลุ่มที่สองเป็นครูบาอาจารย์ที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์ กลุ่มสามคือผู้กำลังใส่ใจวรรณคดีและกลุ่มที่สี่เป็นผู้ที่มุ่งมั่นการแต่งร้อยแก้วร้อยกรอง

             แทบทุกคนในทุกกลุ่มมักจะเห็นพ้องว่าเสภาขุนช้างขุนแผนเหมาะเป็นวรรณคดีคู่แผ่นดินที่สุดยิ่งกว่ารามเกียรติ์หรืออณุรุทหรือสมุทรโฆษ ฯลฯ ก่อนอื่นโปรดอ่านและสังเกตคำนิยมของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ทรงชำระ ( ร่วมกับพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา ) จากเสภาขุนช้าง - ขุนแผน 4 สำนวน คือฉบับในพระบรมมหาราชวัง ฉบับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ฉบับหลวงในรัชกาลที่ 5 และฉบับชาวบ้าน


             ทรงเล่าในด้านหนึ่งว่าเป็นเรื่องจริงอิงนิทาน เหตุการณ์จริงน่าจะมีเพียงขุนแผนรบพุ่งเชียงใหม่แล้วมีชัยกลับมา ส่วนรายละเอียดนอกนั้น น่าจะแต่งประกอบขึ้นเมื่อเป็นนิทานและเสภาในภายหลัง

             ดังนั้นฉบับชำระที่กรมศิลปากรอนุญาติจัดพิมพ์จึงมีอยู่ 43 ตอน หรือ 43 เล่มสมุดไทย เริ่มตั้งแต่กำเนิดขุนช้าง ขุนแผนและนางพิม ไปจนจบตอนพลายชุมพลปราบจรเข้เถรขวาดจนพระพันวษาทรงตั้งเป็นหลวงนายฤทธิ์

             เคยจับผิดวรรณคดีเรื่องนี้ไว้บ้าง อย่างการหลุดรายละเอียด ( ที่มิได้ละเมียดในการชำระ ) ดังนี้

ขุนแผนจับฟ้าฟื้นแล้วขึ้นบก
บุกรุกเยื้องกรายผายผัน
เห็นโพรงต้นไทรใหญ่ใส่ดาบพลัน
แล้วร่ายเวทอาถรรพ์กันกำบัง

             ลองเทียบกับตอนที่ 27 ดังนี้

ขุนแผนจึงเรียกเจ้าพลายงาม
เดินตามไปที่ต้นไทรใหญ่
หมากพลูธูปเทียนถือเอาไป
ถึงต้นไทรก็กราบลง

บอกลูกว่าฟ้าฟื้นของพ่อฝัง
ไว้แต่ครั้งพระพิจิตรเขาบอกส่ง
ดาบนี้มีฤทธิ์ปราบณรงค์
ฝังไว้ตรงกึ่งทิศบูรพา

            ตอนที่ 21 บอกว่าใส่โพรงของต้นไทร ตอนที่ 27 บอกฝังไว้ซึ่งพลายงามก็ขุดขึ้นมาด้วย

            หรือการหลุดรายละเอียดเรื่องระยะเวลาเช่นตอนที่ 24 ( กำเนิดพลายงาม ) เนื้อความบอกว่าขุนช้างวางแผนฆ่าพลายงามเมื่ออายุได้ 9 ปี แต่มาตอนที่ 34 ( ขุนช้างขอโทษ ) กลับบอกว่าขุนช้างวางแผนฆ่าพลายงามเมื่ออายุแค่ 7 ปี

            ส่วนรายละเอียดด้านอื่นๆ เช่น เรื่องชื่อบุคคลประกอบเรื่องไม่ตรงกัน หรือใช้วัสดุสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเข้าไปปรากฏเพราะทรงสันนิษฐานว่าช่วงของขุนแผนคือรัชสมัยพระบรมไตรโลกนาถจรดสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ( โอรสของพระบรมไตรโลกนาถ พระนามเดิมว่าพระเชษฐา )

             แม้จะดูว่าเล็กน้อยแต่เมื่อพบบ่อยเข้าเราก็ต้องสะดุดเป็นธรรมดาหากสักแต่ว่าอ่านแต่แค่เอาสนุกใจก็คงมิเป็นไรนัก เพราะจุดหลักๆ ของเสภาขุนช้างขุนแผนนั้นน่าจะแสดงถึงจุดบันเทิงจิตด้านการขับกับสำนวนกลอนง่ายๆ มากกว่า

            แต่ทว่าวรรณคดีสโมสรในรัชกาลที่ 6 ได้ยกย่องเสภาขุนช้างขุนแผนว่าเป็นยอดแห่งกลอนสุภาพขับเสภา โดยตีตรารับประกันออกมาหลายชั้นคือ คุณค่าทางวรรณศิลป์ ( ได้แก่ดีเด่นด้วยจังหวะกลอน, การใช้ภาษา, เชิงการแต่งอันสมจริงทั้งโครงเรื่อง - ตัวละคร - ฉาก, การถ่ายทอดอารมณ์ ) และคุณค่าทางความรู้ ( ได้แก่ความรู้ด้านวัฒนธรรมคนภาคกลางสมัยก่อน, ความรู้ด้านภูมิศาสตร์, ความรู้ทางธรรมชาติวิทยา, ความรู้เกี่ยวกับวรรณคดีอื่นๆ, ความรู้เกี่ยวกับคำสอน, ความรู้เกี่ยวกับการแต่งกลอนเสภาธรรมเนียมแต่งวรรณคดีไทย, ความรู้เกี่ยวกับนิทานพื้นบ้าน )

            อ่านและจับเข้าจริงๆ มีสิ่งเดียวที่พอจะโน้มเหนี่ยวคุณค่าว่าเป็นยอดคือการให้ความรู้ด้านขนบธรรมเนียมทางสังคมวัฒนธรรมชาวบ้านภาคกลางยุคโน้น ( ตอนต้นรัตนโกสินทร์ ) ส่วนที่ว่ามาสิ้นกระบวนทบทวนแล้วยังรับไม่ได้เต็มที่โดยเฉพาะที่ว่าการสมจริงทั้งตัวละคร - ฉาก, ความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาและอะไรต่อมิอะไร

            ความยิ่งใหญ่ความยิ่งใหญ่ของขุนช้างขุนแผนมีอยู่ตรงแกนแท้ เป็นวรรณคดีที่มีตัวเอกเป็นชาวบ้านและใช้สารสื่อด้วยภาษาที่เรียบง่ายมาก นอกจากนี้ยังมีเนื้อเรื่องผูกรับกระชับกันพอสมควร

            นอกนั้นล้วนระดับพื้นๆ ทั้งเพ

            ที่หักเหเช่นนี้มิใช่หักหน้าครูบาอาจารย์แต่กาลก่อน ด้วยการสะท้อนมุมมองของแต่ละบุคคลอยู่ที่เหตุผลแต่ละราย

            ในบทเสภาขุนช้างขุนแผน มีตัวละครโลดแล่นโลดเล่นเด่นๆ อยู่ 4 บุคคลและวนเวียนวนว่ายขยายพฤติกรรมการกระทำไปสู่ผู้อื่นตลอดมา

             คือตัวขุนแผน - ขุนช้าง - นางพิมพิลาไลยหรือชื่อใหม่นางวันทองและตัวของพระพันวษา ซึ่งโครงเรื่องกำหนดลีลาให้สถานภาพเช่นนั้น โดยการสรรใส่วิสัย จิตใจ อารมณ์อื่นๆ เกิดขึ้นจากประดากวีรจนานั่นเอง

             หากเพ่งให้ลึกอีกสักนิดด้วยการใช้จิตวิทยาวิเคราะห์ แล้วเจาะจับด้วยภาพแห่งการรับรู้ความเป็นไปในความเป็นจริงแล้ว พลายแก้วหรือขุนแผนเป็นตัวเอกแสนจะน่าชัง ส่วนขุนช้างถูกสร้างให้น่าเกลียดน่าเหยียดหยัน สำหรับวันทองน่าสังเวช และสมเด็จพระพันวษานั้นน่าสงสัยไม่ต่างไปกับความน่าสงสารเลย

             ขอให้เราแยกส่วนตัวละครก่อนดังนี้

             ขุนแผน

             แกนของเรื่องผูกไว้ว่าบิดาชื่อขุนไกรพลพ่ายไปต้อนควายป่าไม่เป็นไปตามพระราชประสงค์ ถูกลงพระราชอาญาสั่งตัดหัว ทิ้งนางทองประศรีผู้มารดาของพลายแก้ว ( หรือขุนแผนเมื่อยังเด็ก ) จึงทำให้นางทองประศรีหนีไปอยู่กาญจนบุรี ครั้นอายุได้ 15 ปี พลายแก้วก็มาบวชเรียนต่อที่วัดป่าเลไลย เมืองสุพรรณ กับเรียนวิชาเวทมนต์เป็นหลักกับอาจารย์คงวัดแค เมืองสุพรรณเช่นกัน เมื่อเณรแก้วไปรับบาตรที่หน้าบ้านนางพิมพ์ก็เกิดหลงรักซึ่งกันและกัน ถึงขั้นนัดพบกันในไร่ฝ้าย พอตกกลางคืนเณรแก้วก็ทำพิธีลาสึก ลอบเข้าหานางพิมและก็ได้เสียกันในคืนนั้นเลย รุ่งเช้าเจ้าทิดแก้วก็กลับไปบวชใหม่...

             ใครที่ร้องแรกแหกกระเฌอว่าเด็กยุคนี้ผู้คนยุคนี้เป็นตัวทำลายขนบธรรมเนียมประเพณียับเยินก็เชิญคิดดู พลายแก้วผู้ฉายแววต่ำช้ายิ่งกว่าใครมิได้เป็นตัวทำลายมาแต่คราก่อนดอกหรือ หรือแกล้งมองไม่เห็นปล่อยให้ขุนแผนเป็นวีรทหารไปเสียนี่ กระนี้กระสือผ้าเหลืองถึงรุ่งเรืองหลอกคนทั้งเมืองได้ทุกยุคทุกเวลา...

             ถึงฉงนว่าทำไมหนาจึงยกย่องขุนแผนกันนักโดยเฉพาะความเป็นนักรักเจ้าชู้

             พินิจดูแล้วขุนแผนนั้นถึงขั้นต้องบอกกระจอกมาก

             แล้วจะเลื้อยลากออกมาให้เห็นเป็นลำดับเป็นตับเป็นแถว






By คมทวน  คันธนู ( วรรณวิพากษ์ )
            

No comments:

Post a Comment