อรหันต์กับลา
ครั้งหนึ่งที่ท่านกวงหย่งพบท่านหย่างซัน
ท่านหยางซันถามว่า " ท่านมาทำอะไร "
ท่านกวงหย่งตอบว่า " มาคารวะท่านอาจารย์ "
ท่านหยางซันถามว่า " ท่านมองเห็นข้าใหม "
ท่านกวงหย่งตอบว่า " มองเห็นขอรับ "
ท่านหย่างซันถามว่า " ข้าเหมือนลาไหม "
ท่านกวงหย่งตอบว่า " ข้าเห็นว่าท่านไม่เหมือนพระอรหันต์ "
ท่านหยางซันถามว่า " ในเมื่อไม่เหมือนพระอรหันต์ แล้วเหมือนอะไร "
ท่านกวงหย่งตอบว่า " ถ้าจะให้พูดว่าเหมือนอะไร ถ้าเช่นนั้นเหมือนลาจะเป็นอะไรไป "
ท่านหย่างซันหัวเราะฮ่าๆ ชมว่า " คำพูดประโยคนี้ของท่าน ข้าคอยมา 20 ปีเต็มๆ แล้ว 20 ปีมานี้ ข้าใช้คำถามคำเดียวกันทดสอบคนทั่วไป ไม่มีใครเข้าใจคำพูดนี้อย่างแท้จริง ตอนนี้ เจ้าบรรลุธรรมถึงขั้นไม่มีเทพไม่มีมาร เจ้ารู้จักโลกตามที่โลกเป็นอยู่จริง มิใช่รู้จักโลกจากการแยกแยะ ดีจริงๆ ขอให้ยืนหยัดต่อไปเช่นนี้ "
สุดท้าย ท่านหย่างซันยังอุทานอีกว่า " ท่านกวงหย่งเป็นอรหันต์กายเนื้อโดยแท้
แง่คิด
สรรพสิ่งในโลกนี้เสมอกัน
ในมุมมองของพระอาจารย์เซนซึ่งยืนอยู่บนปราสาทปัญญา โลกอันกว้างใหญ่ที่ท่านมองเห็น คนกับลาล้วนเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนๆ กันไม่มีอะไรแตกต่าง ดังเช่นเมื่อเผชิญหน้ากับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่อย่างสึนามิ มหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่กับกระจอกบุรุษผู้เส็งเคร็งก็ล้วนหนีไม่พ้นความฉิบหายวายวอดเหมือนๆ กัน ไม่มีมนุษย์หน้าไหนสามารถต้านทานพลังมหาประลัยที่ใหญ่กว่าตัวเองหลายล้านๆ เท่าแบบนั้นได้ หรืออย่างเช่นเมื่อเรานั่งอยู่บนเครื่องบินที่บินอยู่เหนือพื้นดินเป็นพันๆ เมตร เมื่อมองลงมาข้างล่าง ตึก 100 ชั้น 40 ขั้น 20 ขั้น ก็เตี้ยๆ พอกัน
นิทานเซนเรื่องนี้บอกเราว่า สรรพสิ่งในโลกนี้ดำรวอยู่อย่างนั้นเองแต่ด้วยมุมมองอันจำกัด มนุษย์จึงใช้จิตปรุงแต่งไปแบ่งแยกมัน สรุปมันกล่าวหามัน เช่นว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนั้นเลว สิ่งนี้ผิด สิ่งนั้นถุก สิ่งนี้สวย สิ่งนั้นน่าเกลียด สิ่งนี้มีประโยชน์ สิ่งนั้นไม่มีประโยชน์ สิ่งนี้สมควรถูกกำจัดไปจากโลกใบนี้ สิ่งนั้นสมควรอนุรักษ์และเผยแพร่ขยายให้เต็มโลก ฯลฯ
จริงอยู่ ในกฏมนุษย์ มาตรฐานถูก - ผิด - ดี - ชั่ว มีประโยชน์ - ไร้ประโยชน์ ฯลฯ นับเป็นกฏแห่งความเป็นจริงที่แน่นอนในบริบทที่แน่นอนหนึ่งๆ แต่บ่อยครั้งทีเดียวที่จิตปรุงแต่งของมนุษย์ทำให้กฏเหล่านี้ล้ำเส้นจนกลายเป็นบรรทัดฐานเว้าๆ แหว่งๆ ความรู้ - ความเข้าใจที่ต่างกัน ทำให้มุมมองต่างกัน บรรทัดฐานที่เว้าแหว่งทำให้ใจคนแคบลงๆ จนกระทั่งรับอะไรไม่ได้เลย แม้กระทั่งตัวเอง
เซนเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่พยายามถ่างโลกทัศน์ที่เว้าแหว่งตีบตันของคนเราให้กว้างขึ้นตรงขึ้น เซนจะคอยเตือนสติให้เราอย่ามีอคติ ให้มองโลกตามที่มันเป็นอยู่จริง เพื่อที่ใจของเราจะได้กว้างขึ้น อ่อนโยนลงรู้จักเคารพคนอื่นและสรรพสิ่ง ไม่ก้าวร้าว ไม่เบียดเบียน ยอมรับความจริงที่ว่าโลกนี้เป็นของสรรพสิ่ง มิใช่ของเราคนเดียว สรรพสิ่งในโลกนี้เสมอกัน ธรรมชาติให้สิ่งเหล่านั้นเกิด ธรรมชาติย่อมให้สิทธิ์คิดทำลายล้างหรือกำจัดสิ่งเหล่านั้นเท่าๆ กับเรา เพราะฉะนั้น เราจึงไม่มีสิทธิ์คิทำลายล้างหรือกำจัดสิ่งใดๆ ให้สิ้นซากไปจากโลกนี้
By สุภาพร ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )
No comments:
Post a Comment