Monday, November 05, 2012

การแปลความในวงจรปฏิจจสมุปบาท

การแปลความในวงจรปฏิจจสมุปบาท

          เนื่องจากหลักคำสอนเกี่ยวกับวงจรปฏิจจสมุปบาทมีความลุ่มลึกและสัมพันธ์กับคำสอนอื่นๆ ในทางพุทธศาสนา ซึ่งพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปยอมรับว่า หลักธรรมทั้งหลายย่อมประกอบด้วยพระธรรมคุณ 6 ประการ คือ เป็นความจริงแท้ที่พระพุทธองค์ทรงนำมาประกาศเห็นประจักษ์ได้ด้วยตนเอง ไม่ขึ้นกับกาลเวลา ตรวจสอบได้ เชิญชวนให้ลองปฏิบัติดู และเป็นวิสัยแห่งวิญญูชนจะพึงรู้ได้ ดังนั้นเราท่านทั้งหลายก่อนที่จะตัดสินใจเชื่อควรพิจารณาให้รอบคอบในการตีความเกี่ยวกับคำสอนในเรื่องปฏิจจสมุปบาทให้ละเอียดสักหน่อยว่าสิ่งใดขัดหรือไม่ขัดกับหลักอนัตตาอันถือว่าเป็นคำสอนที่มีอยู่เฉพาะในทางพุทธศาสนา

           เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงเกี่ยวกับกฏธรรมชาติที่พระองค์ทรงกล่าวว่า ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งตามหลักฐานในคัมภีร์หลายแห่งได้แบ่งพอสรุปออกได้เป็น 2 รูปแบบ กล่าวคือ แบบที่หนึ่ง อธิบายหลักการทั่วไปที่ส่อแสดงว่า ยังคงยึดติดในเรื่องของอัตตาชาติก่อน ชาตินี้ ชาติหน้า ตามความเชื่อในปรัชญาอุปนิษัทของพราห์มหรือของชาวยิวชาวคริสต์ กับแบบที่สอง เป็นการอธิบายตามหลักปัจจยากร เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันระหว่างตัวปัจจัยทั้งสิบสองที่ก่อให้มีเกิดดับแห่งทุกข์ในประสบการณ์แห่งการรับรู้ของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน

            ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ทั้งสองรูปแบบต่างอธิบายวงจรปฏิจจสมุปบาท ออกเป็น 2 ทิศทาง ทางแรก เป็นแบบสมุทัยวารแสดงการเกิดขึ้นแห่งทุกข์จากปัจจัยทั้งสิบสองไปข้างหน้า คล้ายการอธิบายเรื่องของ ทุกข์ สมุทัย ในหัวข้ออริสัจ 4 กับอีกทางหนึ่งเรียกว่า แบบนิโรธวาร ที่อธิบายย้อนกลับเพื่อความดับแห่งทุกข์ซึ่งตรงกับหัวข้อที่สาม คือ ทุกข์นิโรธ ในอริยสัจ


            การอธิบายวงจรปฏิจจสมุปบาททั้งสองแบบ ตั้งอยู่บนหลักการแห่งเหตุปัจจัย ซึ่งในพระไตรปิฎกเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อทัปปัจจัยตาโดยมีการใช้คำในลักษณะดังนี้ คือ

เมื่อสิ่งนี้มี  สิ่งนี้จึงมี  หรือ

เมื่อสิ่งนั้นเกิด สิ่งนี้จึงเกิด หรือ

เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี  หรือ

เมื่อสิ่งนี้ดับ  สิ่งนี้จึงดับ  ดังนี้เป็นต้น

           โปรดสังเกตว่า ในหลักฐานตามคัมภีร์พระอภิธรรม และหลักฐานอื่นๆ กล่าวว่า การตีความแห่งวงจรปฏิจจสมุปบาทก็เพื่อวัตถุประสงค์ในการอธิบายกระบวนการเกิดดับแห่งทุกข์ แต่ก็ยังมีหลักฐานอื่นอย่างเช่นในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ที่ผ่านพระพุทธโฆษาจารย์ ได้อธิบายไว้เมื่อกว่าสองพันปีมาแล้วในทำนองที่ส่อแสดงว่า เป็นกระบวนการเกิดดับแห่งทุกข์และแห่งชีวิตของมนุษย์แต่ละคนนับตั้งแต่ชาติก่อน ชาตินี้ ต่อไปจนกระทั่งถึงชาติหน้า ซึ่งการแสดงธรรมในลักษณะเช่นนี้น่าจะขัดกับแก่นคำสอนเกี่ยวกับเรื่องอนัตตาในทางพุทธศาสนาหรือไม่ เป็นสิ่งที่ผู้เริ่มต้นศึกษาธรรมพึงทำความเข้าใจให้กระจ่าง เพราะพุทธศาสนาถือว่า แนวคิดใดๆ ที่นำมาใช้ในการอธิบายโดยอ้างถึงการกำเนิดโลกเนื่องจากมี " มูลการณ์เป็นผู้สร้าง ย่อมขัดแย้งกับหลักการแห่งวงจรปฏิจจสมุปบาทที่เชื่อในเรื่องของเหตุปัจจัยหรือเรียกว่าอิทัปปัจจยตา ที่สอนว่า สรรพสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นได้จากเหตุปัจจัยที่อิงอาศัยกัน มูลการณ์ใดๆ ที่อ้างว่า คือพระเจ้าผู้สร้างโลกย่อมป็นไปไม่ได้ในทางพุทธศาสนา ซึ่งการอธิบายในลักษณะนี้ ท่านพุทธทาสภิกขุ ที่ล่วงลับไปแล้วไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือว่าเป็นสัสสตทิฏฐิ ที่ขัดกับหลักมัชเฌนธรรม ดังนั้นชาวพุทธทั้งหลายที่ศึกษาพระธรรมคำสอนพึงควรระวังในการทำความเข้าใจใน " ภาษาคน ภาษาธรรม " ดังเช่นมีการนำเอาปัจจัยทั้ง 12 มาอธิบาย โดยจัดให้กลุ่ม อวิชชา และ สังขาร เป็นเรืองของธรรมชาติก่อน จัดให้วิญญาณทั้งหก รูปนาม อายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน และภพ เป็นเรื่องของธรรมชาตินี้ และจัดให้ ชาติ ชรา มรณะ ( รวมทั้ง ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ) เป็นเรื่องของทุกข์ที่จะต้องได้รับในชาติหน้า เป็นต้น

            ขอย้ำว่าความสำคัญจริงๆ ในการแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องปฏิจจสมุปบาทของพระพุทธองค์ก็คือ การชี้ให้เราเข้าใจปัญหาของชีวิตเพื่อนำมาใช้ในทางปฏิบัติ พระองค์มิได้ทรงต้องการที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสัจธรรมด้วยด้วยการคาดเดา การถกเถียง อภิปราย วิเคราะห์ปัญหาในแง่อภิปรัชญา เพราะทรงเห็นว่าไร้แก่นสาร ทั้งนี้ รวมทั้งการครุ่นคิดค้นหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องมูลการณ์ เรื่องพระเจ้าผู้สร้างสรรพสิ่ง ซึ่งปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญในทางคุณค่าน้อย เพราะพระองค์ทรงถือว่า ไม่เป็นไปตามแนวทางในการแก้ปัญหาหรือสร้างคุณค่าให้กับชีวิตมนุษย์

            ดังนั้น โดยแก่นพุทธธรรม หลักคำสอนและการตีความในเรื่องปฏิจจสมุปบาทจึงเป็นกระบวนการเกิดดับแห่งทุกข์ที่มนุษย์ทุกคนต้องประสบ คำว่า ทุกข์ ในทางพุทธศาสนานั้นมีความสำคัญกว่าคำว่า ทุกข์ในภาษาสามัญที่เราใช้กันอยู่ โดยจะสังเกตได้ว่ามีการเน้นถึงคำว่า ทุกข์ในคำสอนหลายๆ ตอน ดังนั้นผู้ศึกษาพุทธธรรมเกี่ยวกับเรื่องปฏิจจสมุปบาทพึงต้องทำความเข้าใจให้เกิดความแจ่มแจ้งกับศัพท์ต่างๆ เหล่านี้เป็นพิเศษ เช่นคำว่า ทุกข์ กิเลส ตัณหา อุปาทาน อนิจจัง อนัตตา วิญญาณ ที่ปรากฏอยู่ในหลักธรรมต่างๆ เช่น ขันธ์ 5 กฏธรรมชาติ ไตรลักษณ์ อริยสัจ 4 ซึ่งคำสอนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเกี่ยวพันอยู่กับเรื่องปฏิจจสมุปบาทเกือบทั้งสิ้น





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment