ควรรุกก็รุก ควรถอยก็ควรถอย
พระลูกศิษย์ในวัดหลงหู่วาดภาพมังกรกับพยัคฆ์ต่อสู้โรมรันกันไว้บนกำแพงวัด จากนั้นก็ไปเชิญพระอาจารย์อู๋เต๋อมาตัดสินให้คะแนน
ท่านอู๋เต๋อดูเสร็จก็กล่าวว่า " รูปลักษณ์ภายนอกของมังกรกับเสือวาดได้ไม่เลว แต่เสือกับมังกรไม่ถูกท่า ก่อนหน้าที่มังกรจะจู่โจม หัวมังกรต้องถอยมาข้างหลังก่อน เสือก็เหมือนกัน หัวยิ่งใกล้พื้น พลังในการจู่โจมก็ยิ่งรวดเร็วทรงพลัง ขายิ่งเอนมาทางข้างหลัง ก็ยิ่งกระโดดได้สูํง "
พระลูกศิษย์รู้สึกเลื่อมใสอย่างยิ่ง พากันพูดว่า " อาจารย์วิจารณ์ถูกจุดตรงเผงเลยแหละ มิน่าเล่า พวกเราถึงได้รู้สึกทะแม่งๆ คล้ายๆ กับว่าท่วงท่ามันไม่ค่อยจะถูกต้อง "
" เป็นคน ศึกษาธรรมะ บำเพ็ญพรต ก็ใช้หลักเหตุผลเดียวกันนี้ถอยก้าวหนึ่ง จึงจะพุ่งทะยานไปข้างหน้าได้เร็วยิ่งขึ้น ไกลยิ่งขึ้น ถ่อมเนื้อถ่อมตัว ก้มหัวลงต่ำ จึงจะไต่เต้าสู่ที่สูงได้สูงยิ่งๆ ขึ้น "
" อาจารย์พูดแปลกๆ ถอยหลังมันจะทำให้คนเราก้าวหน้าได้อย่างไร ก้มหัวลงต่ำ แล้วจะไต่เต้าที่สูงได้อย่างไร " ศิษย์ที่ไม่เข้าใจถามขึ้น
ท่านอู๋เต๋อกล่าวว่า " เคยปักดำนาหรือไม่ เวลาก้มหน้าดำนา หัวที่ก้มต่ำมองเห็นอะไร มองเห็นท้องฟ้าที่อยู่ในน้ำ ยามจิตใสใจสว่างก็จะมองเห็นธรรม แท้จริงการถอยหลังมาก้าวหนึ่งคือพลังที่พุ่งทะยานไปข้างหน้า "
แง่คิด
คนฉลาดต้องรู้จักถอย
การถอยไม่ได้หมายถึงพ่ายแพ้หรือขี้ขลาด ตรางข้าม คนที่รู้จักถอยหรือถอยเป็น กลับคือผู้ยิ่งใหญ่ ผู้กล้า ผู้มีสติ เป็นคนเฉลียวฉลาดอย่างแท้จริง
ในสมัยจ้านกว๋อ เถียนจี้แข่งม้ากับฉีอ๋อง ยกแรก เถียนจี๋เอาม้าเลวลงแข่ง ฉีอ๋องชนะอย่างง่ายดาย เกิดความชะล่าใจ จึงแข่งม้าต่อไปตามกลยุทธ์เก่าๆ คือเริ่มต้นเอาฤกษ์เอาชัยด้วยการเอาม้าดีลงแข่งตามด้วยม้ากลาง ปิดท้ายด้วยม้าเลว ส่วนเถียนจี๋ทำการบ้านมาอย่างดีรู้ว่าฉีอ๋องใช้กลยุทธ์ ดี - กลาง - เลว จึงสู้ด้วยกลยุทธ์ เลว - ดี - กลาง ผลปรากฏว่า ฉีอ๋องชนะยกแรก แพ้ 2 ยกหลัง ส่วนเถียนจี๋ชนะ 2 ต่อ 1
นี่คือกลยุทธ์ถอยตั้งหลัก ถอยเพื่อพุ่งทะยานไปข้างหน้าให้เร็วและแรงยิ่งขึ้น
แต่ว่า ทำอย่างไร การถอยของเราจึงจะเป็นการถอยเพื่อตั้งหลักถอยเพื่อก้าวไปข้างหน้า ไม่ใช่ถอยหลังลงคลอง ถอยแล้วแพ้ ถอยแล้วเสีย
ปมเงื่อนอยู่ที่ รู้เขา - รู้เรา รู้จักกุมโอกาส ควรรุกก็รุก ควรถอยก็ถอย
แต่คนส่วนใหญ่มักจะถอยไม่เป็น รู้แต่เพียงว่า ถอยไม่ได้ ถอยหมายถึงพ่ายแพ้ เสียศักดิ์ศรี เสียประโยชน์ จริงๆ แล้ว การถอยเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง ประกอบขึ้นจากการมีวิสัยทัศน์อันกว้างใหญ่มองเห็นหมากทั้งกระดาน ( องค์รวม ) มีความอดทนอดกลั้น ยอมเสียเปรียบไปก่อนเพื่อประโยชน์สุขอันยิ่งใหญ่ในภายหลัง มีแต่ผู้กล้าหาญที่สุด มีสติปัญญาที่สุดเท่านั้นจึงรู้จักถอย
By สุภาพร ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )
No comments:
Post a Comment