ขันธ์ 5
ตามหลักพุทธศาสนา ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์เป็นของไม่เที่ยงแท้ไม่ถาวร ปราศจากแก่นสาร เพราะชีวิตนั้นเป็นเพียง " สังขตธรรม " ที่เกิดจากการรวมกันแห่งขันธ์ 5 ได้แก่ รูป และนามอันประกอบด้วย เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ โดยท่านพระธรรมปิฎกให้คำนิยามไว้ดังนี้
รูป คือร่างกายซึ่งประกอบด้วยธาตุ 4 และคุณสมบัติของธาตุทั้ง 4 เป็นส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรม หมายถึงร่างกายและพฤติกรรมรวมทั้งสสารและพลังงานฝ่ายวัตถุ พร้อมทั้งคุณสมบัติและพฤติการณ์ต่างๆ ของสสาร และพลังงานเหล่านั้น
เวทนา คือความรู้สึก สุข ทุกข์ และเฉยๆ อันเกิดจากผัสสะทางประสาททั้ง 5 และทางใจ
สัญญา หมายถึงความกำหนดได้ ความจำหมายรู้ ความตระหนักรู้ต่อ อาการ เครื่องหมาย และลักษณะต่างๆ
สังขาร คือ ความคิดดี คิดชั่ว ซึ่งเป็นคุณสมบัติของจิตที่ก่อให้เกิดกระบวนการปรุงแต่งที่ดีหรือชั่ว เช่น ศรัทธา สติ หิริโอตัปปะ พรหมวิหารธรรม ปัญญา กิเลส และ ปปัญจ อันได้แก่ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ เป็นต้น
วิญญาณ คือ ความรู้ผ่านทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 และทางใจเช่น การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ
ปกติ มนุษย์เรามักจะมีความโน้มเอียงที่จะใฝ่หาอัตตาไว้เป็นที่ยึดเหนี่ยวเพื่อป้องกันความสูญสลาย บ้างก็ยึดถือเอาว่า กายและจิตแห่งตนนั้นเป็นอัตตา จะคงอยู่ตลอดไป บางคนก็เชื่อว่ามีอัตตาอื่นซุกซ่อนอยู่ภายในร่างกายของตน และเป็น " ตัวการ " ที่จะคอยควบคุมคุ้มครองบังคับบัญชากายและใจ บ้างก็เชื่อว่า " อัตตา " เป็นสิ่งที่สามารถดลบันดาลกำหนดชะตาชีวิตได้ การทำความเข้าใจในแนวคิดแบบวิเคราะห์ตามหลักพุทธศาสนาในเรื่องขันธ์ 5 ว่า ชีวิตเป็นเพียงสิ่งที่เกิดจากการอิงอาศัยกันแห่งเหตุปัจจัย จึงไม่เป็นอิสระ ไม่มีโดยตัวของมันเอง ชีวิตหรือร่างกายจึงไม่ใช่ตัวตนเมื่อมองเห็นเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมจะถอนความยึดมั่นถือมั้นในเรื่องตัวตนนี้ได้ ดังนี้
By แก่นพุทธธรรม
No comments:
Post a Comment