Sunday, November 11, 2012

ขุนช้าง - ขุนแผน " แว่นใหม่ที่ใส่มอง " ( ตอนที่ 3 )

ขุนช้าง - ขุนแผน " แว่นใหม่ที่ใส่มอง " ( ตอนที่ 3 )

          หลังจากขุนแผนกลับบ้านกาญจนบุรี จู่ๆ ก็มีรับสั่งจากพระพันวสาให้เอาขุนแผนขุนช้างมารับราชการด้านฝ่ายใน ทรงให้จหมื่นศรีฯ เป็นคนฝึกหัดจนจัดเจน ทั้งยังสาบานเป็นเพื่อนเกลอกันในวงเหล้า ทำนองเมาแล้วก็พล่ามไปตามเพลง

          ช่วงนี้เองขุนแผนฝากเวรขุนช้างไว้เพราะได้ข่าวว่าลาวทองเจ็บ ขุนช้างเลยทูลเหน็บแนมต่อพระพันวสาว่าขุนแผนหนีเวรปีนข้ามกำแพงวัง พระพันวสาจึงสั่งให้พรากลาวทองมาจากขุนแผน ส่วนขุนแผนโดนเนรเทศให้คุมด่านแถบกาญจนบุรี

           ตรงนี้จะเห็นได้ว่าเนื้อหาค่อนข้างจะหละหลวมกำกวมพิกล ทำไมคนเช่นขุนแผนที่มีความเคืองแค้นทั้งยังสร้างความคับแค้นใจให้ขุนช้างถึงต้องวางใจฝากเวรไว้ และทำไมพระพันวสาจึงเอาลาวทองมากักตัวเล่า เมื่อลาวทองนั้นมิมีวันรู้อิโหน่อิเหน่ด้วย ดังจะหาทางออกสวยๆ ให้ขุนแผนต้องออกหาของดี 3 ประการคือ กุมารทอง ดาบฟ้าฟื้นและม้าสีหมอก

           ( บอกให้ประเด็นหนึ่งคือมาถึงตอนนี้ตัวเอกมีลักษณะคล้ายพระเอกจักรๆ วงศ์ๆ เข้าไปทุกที ต้องมีของวิเศษติดตัวสำหรับสู้กับสิ่งชั่วร้าย ส่วนอีกหลายๆ ประเด็นจะบอกให้ได้เห็นตามลำดับ )

           ในฉบับดั้งเดิมนั้นใจความสำคัญของการทำกุมารทองไม่มี และขุนแผนไม่ได้นางบัวคลี่ ( ได้จากผีตายทั้งกลมคู่หนึ่ง ) ซึ่งครูแจ้งเอามาขยายเติมไข่ใส่สีเป็นนางบัวคลี่ไป โดยลืมนึกว่าการได้มาซึ่งกุมารทองจากท้องของบัวคลี่นั้นมันโคตรจะหฤโหดทำลายบทตัวเอกหมดสิ้น

            เมื่อมีของสามอย่างดังประสงค์ ขุนแผนยิ่งทนงจิต พาลคิดบุกเรือนขุนช้างชิงนางวันทองเป็นหนที่สอง เรื่องพาให้พลัดเข้าไปในห้องนางแก้วกิริยา มีหรือที่ชายชาตรีตามวรรณคดียกย่องจะไม่ได้น้องนางมาเป็นเมียอีกคน ( ตั้งแต่ต้นจนบัดนี้ขุนแผนมีเมีย 4 - 5 เมียเข้าไปแล้ว )


            แล้วขุนแผนก็ใชมนต์ช่วยดลให้วันทองหนีไปกับตัวคือผัวเก่าบทนี้เราจะได้รู้ทันทีว่าวันทองสองจิตสองใจจริงๆ แต่ความเป็นหญิงทำได้เพียงคร่ำครวญด่าตนเอง

            จากนั้นขุนช้างก็ตามหาวันทองพาพลไพร่ล่องไพรไปรบกับขุนแผนแต่พ่ายแพ้กลับมาทูลพระพันวสาว่าขุนแผนเป็นกบฏ จึงโปรดให้ทัพหลวงไปจับ การณ์กลับว่าขุนแผนฆ่ารี้พลทัพหลวงตายหลายร้อย รวมถึงขุนราม ขุนเพชรเพื่อนร่วมน้ำสาบานในวงเหล้าด้วย พระพันวสาต้องทรงสั่งตีตราประทับจับขุนแผนทั่วแผ่นดิน ขุนแผนสิ้นท่าจึงเข้าหาพระพิจิตรบุษบาว่าจะขอมอบตัว ( ดีๆ ชั่วๆ ขุนแผนก็ยังมีดีอยู่ข้อหนึ่งประการคือความกตัญญูรู้คุณ ส่งให้ขุนแผนโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ประจำบท )

            พระพันวสาโปรดฯ ให้ชำระคดีตั้งแต่ต้น ( ถูกมนต์ขุนแผนเป่าเข้า ) สอบเค้าสืบความขุนแผนชำนะคดีได้วันทองคืน ขุนช้างถูกปรับเสียทรัพย์ ( ทั้งที่ขุนแผนควรจะถูกจับข้อหาฆ่าทหารหลวง ) 

            ล่วงมาหลายวันขุนแผนดันนึกถึงลาวทองจึงทูลขอคืนกลับ เลยถูกจำคุก ขุนช้างรู้ข่าวก็บุกเข้ามาฉุดวันทองที่ท้องแก่นั้นคืนสุพรรณบุรี ไม่กี่นานวันวันทองคลอดพลายงามออกมา ขุนช้างเลี้ยงไปเห็นว่าจะเป็นลูกขุนแผนจึงวางแผนฆ่าพลายงาม แต่ไม่ตาย วันทองต้องให้หนีไปอยู่กับนางทองประศรีที่เมืองกาญจน์

            เวลาผ่านไปจนพลายงามโตเป็นหนุ่มซุ่มเรียนคาถาอาคมสมวิชาแก่กล้าเจียนเท่ากับขุนแผนผู้พ่อ เรื่องราวเล่าต่ออีกว่าพระพันสาหาแม่ทัพไปปราบเชียงใหม่ ขุนแผนถึงได้พ้นโทษแถมโปรดฯ ให้เป็นแม่ทัพคู่กับพลายงาม มีทหารอาสาติดตามจำนวนหนึ่ง ซึ่งระหว่างนี้นางลาวทองที่ถูกกักก็พ้นโทษ นางแก้วกิริยาคลอดพลายชุมพลออกมา

            ขุนแผนกับพลายงามประสบความสำเร็จชนะศึกเชียงใหม่ พลายงามได้เป็นพระไวยได้เมียประทานคือนางสร้อยฟ้า ได้แต่งภรรยาแรกคือนางศรีมาลา โดยขุนช้างมาร่วมงานด้วย ช่วยทำให้เรื่องถึงขั้นฟ้องร้องกันเพราะพลายงามนั้นทุบถองจนขุนช้างสลบ ขุนช้างแพ้คดีอีกคำรบต้องโทษประหารแต่วันทองอ้อนวอนพระไวยให้ทูลขอโทษ พระพันวสาก็โปรดฯ อีกครั้ง เรื่องยังเลยไม่จบเพราะพระไวยขบคิดจะพรากนางวันทองจากขุนช้างจึงบุกพานางวันทองไป ขุนช้างได้แต่ถวายฎีกาพระพันวสา ( ที่ในท้องเรื่องไม่ค่อยจะบริหารบ้านเมืองให้เรืองรุ่ง เอาแต่ยุ่งวุ่นเรื่องของ 2 - 3 ตระกูลขุช้างขุนแผนอยู่นั่นแล้ว ) ก็แผ้วคดีให้วันทองเลือกข้างว่าจะเอาขุนช้างหรือขุนแผนเป็นผัวเป็นตัวตน วันทองโดน ( เรื่อง ) บีบก็ตัวลีบอกเต้นหวั่นไหวตัดสินใจไม่ถูก เลยถูกสั่งประหารชีวิต ( เรื่องยังติดตามไปประหารซ้ำให้นางวันทองรับกรรม ตายไปเป็นเปรตทั้งที่มิได้ก่อเหตุร้ายแรงอันใด )

            เมื่อไม่มีวันทอง ขุนช้างจึงต้องจบบทบาทลง ขุนแผนยังคงออกโรงอยู่โดยมีคู่พลายงามกับพลายชุมพลรับช่วงต่อ และเรื่องก็จบลงตรงพลายชุมพลปราบจรเข้เถรขวาดที่ลงมาอาละวาดจากเชียงใหม่ พลายชุมพลได้เป็นหลวงนายฤทธิ์รับราชการกับพระพันวสา ฉบับที่ชำระค้างคาไว้แค่นี้แต่ยังมีฉบับชาวบ้านว่าไปถึงรุ่นหลานรุ่นเหลนยุ่งเป็นยุงตีกันกอปรกับหมดรสบันเทิงบรรเทืองเรื่องจึมิน่าสนใจ ( คล้ายวรรณคดีไทยอื่นๆ หลายกระบิ เช่น อิเหนา รามเกียรติ์ พระอภัยมณี ฯลฯ ที่มีเรื่องยืดยาวเล่าถึงเหลนโหลน ซึ่งคนมินิยมเท่าไหร่นัก )

           ครานี้จักวิเคราะห์ชีวิตจิตใจอุปนิสัยในตัวขุนแผนโดยตรงเสียที... ดังที่เคยตำหนิติเตียนว่าการผูกเรื่องนี้ บรรดากวีผู้รจนาใส่แต่วาจา - อารมณ์เป็นหลักเป็นแก่น ขุนแผนจึงขาดความละเอียดความละเมียดละไปในชีวิตไปเยอะ เจอะกับการจับยัดให้มีความสามารถทางเวทย์มนต์ ซึ่งคนจะเรียนได้เก่งต้องคร่ำเคร่งเป็นพิเศษ เรื่องเพศรส เรืองโฉดฉาวเรื่องคาวต้องไกลตัวไกลหัวใจ แต่ขุนแผนกลับเก่งได้อย่างเหลือเชื่อ เมื่อเทียบกับวัยยิ่งเหลือเชื่อไปกันใหญ่ แม้จะผูกให้เป็นคนรักเพื่อน สัตย์ซื่อ ถือการรู้คุณ ทว่าขุนแผนถูกผูกให้พลาดคือ ขาดเมตตาธรรม

           เรืองนี้สำคัญมาก ใครจะมาจากสวรรค์ชั้นใหนไม่รู้ จะเป็นผู้ดียี่สิบสี่สาแหรกจะแบกบุญบารมีมากี่ปาง หรือจะสร้างกฤษฎาอภินิหารได้ปานเทพยดา ถ้าเขาไร้ความเมตตาแล้ว เขาย่อมยืนอยู่ต้นแถวของความเลวร้ายพร้อมจะลมสลายได้ทุกเมื่อ เนื้อแท้ของวรรณคดีเรื่องนี้มิได้มอง กลับยกย่องกลายๆ ซะด้วย

           หรือช่วยไม่ได้เพราะดันให้เป็นพระเอกแล้วนี่

           ขุนแผนยังมีข้อหาที่ไม่น่าดูอีกกระทงคือตรงเป็นคนเจ้าโทสะ อะไรมากระทบใจเป็นไม่ได้ทีเดียว จะฉุนเฉัยวขึ้นทันควัน อารมณ์หุนหันพลันแล่นของขุนแผนมีปรากฏแทบทุกบททุกตอน

           ขอยกตัวอย่างกลอนทั้ง 2 กรณีมาชี้ช่อง ดังนี้


ขุนรามแทงกรอกด้วยหอกใหญ่
ถูกไหล่ไม่ถนัดสะบัดหัน
ขุนแผนถาโถมเข้าโรมรัน
ฟันขุนรามตกช้างลงกลางดิน

ลงจากหลังม้าฟาดบ่าฉับ
ล้มพับฟันซ้ำคะมำดิน
ขุนรามสิ้นใจเลือดไหลริน
สิ้นคนหนึ่งแล้วอ้ายตัวการ

ขุนเพชรอินทิราเข้ามาช่วย
ชักหอกกรอกกรวยเข้าต่อต้าน
แทงอกขุนแผนแสนสะท้าน
อยู่ยงคงปานกับเหล็กเพชร

ขุนแผนโผนขึ้นช้างง้างคอฟัน
ฉะฉาดขาดสะบั้นดังมือเด็ด
ดาบส่วนเลือดฝาดเหมือนชาดเช็ด
กลับขึ้นม้าระเห็จมากลางทัพ

            ตอนนี้ขุนแผนถูกขุนรามลำเลิกความหลังจึงคลั่งโกรธแล้วกระทำการโฉด ที่มิมีชายชาตรีที่ใหนเขาทำกันคือฟันซ้ำคู่ต่อสู้ ( ซึ่งสู้มิได้ ) มิหนำใจเท่านั้นยังฟันขุนเพชรผู้ที่ทำตามหน้าที่ถึงแก่ชีวิต โดยมิคิดถึงลูกเขาเมียใคร แถมยังสาบานเป็นเพื่อนเกลอกันแม้คำนั้นจะไม่หนักแน่นแต่ขุนแผนก็ฆ่าเพื่อนได้สบายมือ

            ทั้งๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นคนรักเพื่อน มิเคยลบเลือนมิตรไมตรี





By คมทวน คันธนู ( วรรณวิพากษ์ )

No comments:

Post a Comment