อาสวกิเลส
หากมีการสังเกตกระบวนการทำงานของจิต เราจะพบว่าคนเรานั้นมักจะคิดจะทำหรือจะประเมินคุณค่าสิ่งต่างๆ จากประสบการณ์หรือสถานการณ์ใดๆ ภายใต้อิทธิพลของความเบี่ยงเบนเอนเอียงที่จัดว่าเป็นอาสวะอยู่ 4 ประการคือ
1. กามาสวะ ความเบี่ยงเบนอันเกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส
2. ภาวสวะ ความห่วงในความมีอยู่แห่งตน
3. ทิฏฐาสวะ ความเชื่อ ความเคยชิน ทฤษฎี แนวความคิด อย่างใดอย่างหนึ่งที่สร้างสมอบรมมาและยึดถือเชิดชูไว้
4. อวิชชาสวะ ความหลง ความไม่เข้าใจ ความไม่ตระหนักรู้ ในความหมายความเป็นไปในสภาวะที่แท้จริงของธรรมชาติ จึงนำไปสู่ความเชื่อหรือก่อให้เกิดความเชื่อในความมีตัวตน
หากพิจารณาตามวงจรปฏิจจสมุปบาท เราจะพบว่า ตัณหาหรือความอยากเหล่านี้เป็นผลมาจากอวิชชาหรือความหลงผิดในการมีตัวตนซึ่งมนุษย์ทั่วไปมีแนวความคิดที่หลงผิดเช่นนี้อยู่ภายใต้จิตสำนึกด้วยกันทุกคน จึงก่อให้เกิดความอยาก โดยเฉพาะความอยากสองประการ กล่าวคือ ความอยากที่จะอยู่ จะมี จะเป็น ไม่อยากสูญสิ้นเช่นนี้ตลอดไปที่เรียกว่า ภวตัณหา กับอีกประเภทหนึ่ง คือ เมื่อไม่ประสบสิ่งดังหวัง ก็มีความต้องการเพื่อที่จะให้หลุดพ้นสูญสิ้นไปเสีย ซึ่งทางพุทธศาสนา เรียกว่า วิภวตัณหา
โดยเฉพาะในข้อ 3 และข้อ 4 นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในปุถุชนทั่วไปที่ปราศจากปัญญาในการที่จะนำมาพิจารณาใคร่ครวญ ย่อมก่อให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนเอนเอียงในค่านิยมหรือคตินิยมทางสังคม การเมือง รวมทั้งความเชื่อและแนวทางในการประพฤติปฏิบัติทางด้านศาสนา อาสวกิเลสเหล่านี้ จะคอยควบคุมปรุงแต่งจิตอยู่ตลอดเวลาในด้านความรู้สึก รัก เกลียด ตลอดจนการแสวงหาวิธีการและแนวทางเพื่อสนองความต้องการให้กับตนเองอย่างไม่รู้ตัว โดยพากันคิดว่า ตัวเรานั้น มีความคิดมีการะทำที่เป็นอิสระตามที่ตนเองต้องการเสมอ แต่หากสังเกตให้ดีเราจะพบว่า พฤติกรรมของมนุษย์มิได้เป็นไปอย่างอิสระ หากแต่ตกอยู่ในวังวนแห่งความหลงผิด เพราะแท้ที่จริงแล้วมนุษย์ไม่มีอะไรเป็นของตนเองนอกจากพฤติกรรมที่ได้สั่งสมมาจากการเรียนรู้ในโรงเรียน จากการเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอน ทางด้านศาสนา สังคม วัฒนธรรม จึงก่อให้เกิดการปรุงแต่ง ความชอบ ความไม่ชอบ ตามกระแสแห่งโลกียวิสัย อาสวกิเลสเหล่านี้คือพลังกดดันให้จิตตกอยู่ใต้การควบคุมของ อวิชชาสวะ และ ทิฏฐาสวะ ทำให้มนุษย์ปุถุชนขาดเจตจำนงเสรี กล่าวคือ เป็นมิจฉาทิฏฐิซึ่งจัดว่าเป็นอวิชชา เป็นอวิชชาที่ก่อเป็นอาสวะดังกล่าว อันเป็นปัจจัยเริ่มแรกในกระบวนการเกิดทุกข์ในวงจรปฏิจสมุปบาทที่จะดำเนินต่อไปให้เกิด สังขารวิญญาณ ติดต่อไปจนกระทั่งเกิด " กองทุกข์ทั้งปวง "
By แก่นพุทธธรรม
No comments:
Post a Comment