เป้าหมายสูงสุด ในการปฏิบัติสมาธิภาวนา
ดังได้กล่าวมาแล้วในบทก่อนเกี่ยวกับความหมายของคำว่า สมาธิ จากคำดั้งเดิมที่ใช้เรียกว่า ภาวนา หรือ การพัฒนาจิตใจ ซึ่งในทางพุทธศาสนามุ่งถึงการชำระล้างจิตให้ปราศจาก อคติ และ สิ่งรำคาญใจ การทำสมาธิในคุณลักษณะดังกล่าวนี้ จะต้องปะกอบด้วยสติที่จะนำไปสู่ปัญญาต่อการมองเห็นในยถาภูติญาณ ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายล้วนแล้วแต่ " เป็นเช่นนั้นเอง "
ในความหมายของการทำสมาธินั้น แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ การทำสมาธิเพื่อให้จิตไม่วอกแวกหวั่นไหว นิ่งอยู่กับสิ่งที่เพ่งกับการทำสมาธิเพื่อนำไปสู่การพิจารณาเพื่อมองเห็นในสัจธรรมที่เรียกว่า วิปัสสนา ซึ่งถือว่าเป็นการทำสมาธิที่แท้จริงในทางพุทธศาสนา
การปฏิบัติสมาธิ หมายถึงการทำจิตให้สงบนิ่ง ด้วยการเพ่งอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ส่วนการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาเป็นการชำระจิตให้ปราศจากนิวรณ์ 5 ได้แก่ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจ กุกกุจจะ และวิจิกิจฉา เพื่อที่จะนำไปสู่ปัญญาในการรับรู้ สรรพสิ่ง ทั้งหลายว่า " มันเป็นเช่นนั้นเอง " การทำสมาธิโดยนัยนี้จึงเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนของการปฏิบัตวิปัสสนา
การปฏิบัติสมาธิวิปัสสนา เป็นการมุ่งมองเข้าสู่ความจริงของธรรมชาติในสรรพสิ่งทั้งหลาย หรืออีกประการหนึ่ง อาจเรียกว่าเป็นการค้นหาปรากฏการณ์ทางกายและทางจิต โดยการทำอนุวิปัสสนา คิดทบทวนในกระบวนการทำงานของกาย เวทนา วิญญาณ รวมทั้ง เจตสิก ทั้งหลายที่เป็นตัวกำหนดคุณภาพของจิต วิปัสสนาภาวนาจึงนับได้ว่าเป็นวิธีปฏิบัติในทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ส่วนสมาธิภาวนานั้นถือว่าเป็นแนวทางปฏิบัติโดยทั่วไปในเกือบทุกศาสนาภายใต้ความเชื่อของปรัชญาอินเดีย
เนื่องจากพุทธศาสนาถือว่าสังตธรรมทั้งหลายล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้แก่นและปราศจากสาระ ดังนั้นการปฏิบัติวิปัสสนาจึงเป็นการช่วยขจัดความหลงผิดหรือสัญญาวิปลาสอันเกิดจากอโยนิโสมนสิการ ทำให้มองเห็นความจริงในไตรลักษณ์ ลดละการยึดมั่นถือมั่นในสรรพสิ่งเหล่านั้น เพื่อจิตจะได้ปลอดโปร่งเป็นอิสระเข้าสู่กระแสแห่งนิพพาน
ส่วนในความคิดความเชื่อในปรัชญาอุปนิษัท การทำสมาธิภาวนาหมายถึงการปฏิบัติโยคะ เพื่อให้จิตเข้าสู่ฌานหลายระดับจนถึงฌานวิเศษสูงสุดที่สามารถเข้าถึงพระเจ้าและรู้แจ้งในองค์อาตมัน
ก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้ ทรงเคยศึกษาเล่าเรียนการปฏิบัติสมาธิภาวนาในแบบโยคะนี้มาก่อนกับพระอาจารย์หลายคน จนสามารถบรรลุฌานชั้นสูง แต่เนื่องจากพระองค์ไม่พอพระทัยโดยทรงเล็งเห็นว่าการทำสมาธิภาวนาตามแนวทางดังกล่าว ไม่สามารถนำไปสู่ความหลุดพ้นได้ แม้แต่ในขณะที่พระองค์ทรงเข้าฌานถึงชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะอันเป็นฌานชั้นสูงสุดในระดับอรูปพรหมแล้วก็ตาม ก็ยังทรงเห็นแต่ความหลุดพ้นอันสมบูรณ์ตามความเชื่อ ของนักคิดของปรัชญาอุปนิษัท ที่ถือว่าการปฏิบัติโยคะเป็นการเพ่งจิตไปยังพระเป็นเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าการบำเพ็ญโยคะเป็นเพียงการปฏิบัติสมาธิภาวนาที่ไม่ได้ให้อะไรแก่พระองค์ นอกจากเพื่อแสวงหาความสุข ความสงบให้กับชีวิตในระดับโลกียะเท่านั้นด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงลาจากพระอาจารย์เพื่ออกไปแสวงหาวิธีเพื่อความหลุดพ้นตามแนวทางที่ทรงค้นพบในเวลาต่อมาที่เรียกว่า การบำเพ็ญสมาธิวิปัสสนา ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางปฏิบัติที่มีอยู่แต่ในทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะ
By แก่นพุทธธรรม
No comments:
Post a Comment