Tuesday, January 29, 2013

ปรัชญาเถรวาท

ปรัชญาเถรวาท

          พุทธธรรมเป็นปรัชญาหรือศาสนา ขึ้นอยู่กับการตีความตามคำนิยาม หากพิจารณาตามหนังสือปทานุกรมฉบับของเวบส์เตอร์ที่ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับ ปรัชญา ว่า หมายถึง " การรักที่จะแสวงหาปัญญาความรู้ โดยการทำความเข้าใจในสิ่งที่เป็นคุณค่าและเป็นสัจธรรม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ที่ได้มาจากการคิดใคร่ครวญมากกว่าที่จะได้จากการสังเกตุการณ์ " ส่วนศาสนา หมายถึง " การกราบไหว้บูชาต่อพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ "

           ตามทัศนคติแห่งพุทธปรัชญา มุ่งมองปัญหาของมนุษย์เป็นศูนย์กลาง อภิปรัชญาใดที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์เพื่อความมุ่งมั่นต่อการรู้แจ้งในอภิสัมโพธิ เช่นปัญหาที่ว่า โลกจะมีอยู่ตลอดไปหรือไม่ วิญญาณกับร่างกายเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ ตายแล้วสูญหรือว่าตายแล้ววิญาณไปเกิดใหม่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่คำตอบแต่เป็นคำถามที่จัดเป็น อัพยากตปัญหา ที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์และไม่ได้ให้ความสนใจจากทางพุทธศาสนา

            เนื่องจากพุทธศาสนามองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่จีรังยั่งยืนในสรรพสิ่งทั้งหลาย พระพุทธองค์จึงไม่ได้ทรงให้ความสนใจในเนื้อหาทางอภิปรัชญาใดๆ ด้วยจุดยืนทางตรรกะแห่งทัศนคติดังกล่าวพระองค์ทรงมองสรรพสิ่งทั้งที่เป็นรูปและนามว่าเป็นกระบวนการทางด้านพลวัตทรงเล็งเห็นว่า ชีวิตไม่มีอะไรเลยนอกจากเป็นเพียงอนุกรมแห่งการเกิดดับ มันเป็นเพียงกระแสแห่งภพและชาติที่เป็นอนิจจัง

            พุทธศาสนามีทัศนะที่ว่า เหตุการณ์ทุกสิ่งทุอย่างที่เกิดขึ้นและปรากฏในโลกที่เรารับรู้ได้หรือจากที่ใดๆ ก็ตามย่อมเกิดจากเหตุดังนั้นปรากฏการณ์ต่างๆ จึงอยู่ภายใต้กฏแห่งเหตุปัจจัยด้วยกันทั้งสิ้นเพราะสรรพสิ่งทั้งหลายโดยตัวของมันเองเป็นสังขตธรรม ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้อย่างอิสระ นี่คือปรัชญาพุทธ ดังเราจะพึงสังเกตหลักการในแก่นคำสอนของพระพุทธองค์ได้ต่อไป



            แม้ว่าคำสอนในพุทธศาสนาจะไม่ถือว่าเป็นปรัชญา เพราะญาณวิทยาหรือกระบวนการเรียนรู้ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ มิได้เกิดจากการใช้เหตุผลทางตรรกะ แต่พุทธธรรมที่พระองค์นำมาสอนแสดง ได้มาจากประสบการณ์ที่วิเคราะห์ด้วย สติ ปัญญา ความรอบรู้ และด้วยการเฝ้าสังเกตโดยเฉพาะ แต่อย่างไรก็ตามก็พอมีหลักฐานที่ปรากฏอยู่นสังคารวสูตรได้กล่าวถึงลักษณะของนักปราชญ์รุ่นก่อนและรุ่นร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าไว้ ๓ ประเภท คือ 

            ๑. แบบประเพณีนิยม หมายถึงนักปราชญ์ที่นำเอาองค์ความรู้ทั้งหมดจากตำรา คัมภีร์อันเป็นประเพณีดั้งเดิมมาถ่ายทอดสอนแสดง

            ๒. แบบจิตนิยมและอภิปรัชญานิยมที่แสวงหาองค์ความรู้จากการคิดใคร่ครวญหาเหตุผลและการคาดคะเนว่าน่าจะเป็นเช่นนั้น

            ๓. แบบประสบการณ์นิยม หมายถึงปราชญ์ที่แสวงหาองค์ความรู้จากประสบการณ์ส่วนบุคคลที่เกิดจากปัญญาชั้นสูง

            พระพุทธเจ้าทรงจัดให้พุทธธรรมคำสอนอยู่ในกลุ่มที่สาม กล่าวคือ จัดเป็นปรัชญาประสบการณ์นิยมที่ใช้ประสบการณ์ในการตัดสินความจริงเพื่อตั้งทฤษฎีการเรียนรู้ พระธรรมคำสอนในพุทธศาสนาจึงจัดว่าเป็นเอหิปัสสิโก เชิญชวนให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ด้วยการทดลองปฏิบัติ เพราะพุทธธรรมตั้งอยู่บนฐานความจริงสูงสุดที่พระองค์ทรงค้นพบเป็นประสบการณ์ที่ได้จากการหยั่งรู้มองเห็นสัจธรรมด้วยปัญญา ด้วยเหตุนี้ ปรัชญาพุทธจึงเป็นองค์ความรู้ที่มิได้มาจากคำสอนที่บอกต่อกันมาจนเป็นประเพณี เพราะปรัชญาพุทธถือว่า การแสวงหาองค์ความรู้ด้วยวิธีเหล่านี้ยังไม่เป็นการพอเพียง ในการแสวงหาความจริงแท้ ดังเช่นที่ชาวจิตนิยมและชาวประเพณีนิยมนำมาใช้

             ดังนั้น หากถือว่าพุทธธรรมคำสอนส่วนหนึ่งเป็นปรัชญา หลักธรรมที่เกี่ยวกับเรื่องอนัตตา และทฤษฎีว่าด้วยเรื่องวิญญาณ ย่อมถือว่าเป็นปรัชญาประสบการณ์นิยมที่มีลักษณะโครงสร้างพิเศษที่มีอยู่เฉพาะในพุทธศาสนาที่พระองค์ทรงปฏิเสธการมีอยู่ของอัตตา หรือ อาตมัน และ วิญญาณอันนิรันดร์ตามความเชื่อของปรัชญาอินเดียอื่นๆ โดยสิ้นเชิง ซึ่งผู้อ่านสามารถสังเกตุได้จากทฤษฎีแนวคิด ว่าด้วย อนัตตา และวิญญาณ ซึ่งผู้รวบรวมได้คัดและเรียบเรียงบางส่วนมาจากหนังสือ ปรัชญาเอกซิสเตนเชียลิสม ของ สาร์ต กับ พุทธศาสนานิกายเถรวาทดั้งเดิมว่าด้วยปรัชญาเปรียบเทียบเกี่ยวกับเรื่องอัตตา อนัตตา ที่แต่งโดย พระเมธีธรรมาภรณ์ ( หรือ พระเทพโสพณ อธิการบดีมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย ในปัจจุบันดังต่อไปนี้






By THE BUDDHA'S Core Teachings
         

No comments:

Post a Comment