กฏเกณฑ์ของการเป็นคนดี
เมื่อขงจื้ออายุ ๕๒ ปี ได้รับตำแหน่งเป็นนคราภิบาล นครซุงตู ภายในระยะเวลาไม่ถึงสามปี เมืองซุงตูก็มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว
เกียรติศัพท์เล่าลือว่า ตั้งแต่ขงจื้อมาเป็นนครภิบาลจะหาชาวเมืองไหนที่ว่านอนสอนง่าย และมีความสุขเสมอชาวเมืองซุงตูเป็นไม่มี
เจ้าผู้ครองรัฐลู่ได้ทราบข่าว จึงส่งคนมาเชิญขงจื้อไปเรียนถามว่า " ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่าท่านได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในเมืองซุงตูหลายประการเป็นความจริงหรือไม่ "
ขงจื้อตอบว่า
" เป็นความจริงดังนั้น "
เจ้าผู้ครองรัฐลู่ถามต่อไปว่า
ข้าพเจ้าทราบว่าตั้งแต่ท่านรับหน้าที่ปกครองชาวเมืองมีความสุขเจริญกันทั่วหน้า ท่านใช้วิธีอย่างไร จึงสัมฤทธิ์ผลในระยะเวลาอันสั้นเช่นนั้น "
ขงจื้อตอบว่า
ข้าพเจ้าข่มผู้ควรข่ม ยกย่องผู้ควรยกย่องเมื่อชาวเมืองเห็นว่าการทำดีได้ผลดี การทำชั่วได้รับผลชั่วจริง จึงพากันทำดี คนดีก็ย่อมซื่อสัตย์ต่อกันและต่อรัฐบาล "
เจ้าผู้ครองรัฐลู่ถามว่า
" จะปกครองรัฐด้วยวิธีเดียวกับที่ท่านปกครองนครได้หรือไม่ "
ขงจื้อตอบว่า
" วิธีการนี้แม้จะใช้ปกครองทั้งประเทศก็ได้ "
เจ้าผู้ปกครองรัฐลู่ จึงตั้งให้ขงจื้อเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมของรัฐลู่เมื่อรับตำแหน่งขงจื้อก็เริ่มศึกษาคุกตะรางก่อน
หลังจากศึกษาข้อเท็จจริงทุกอย่างจนกะจ่างแล้ว ขงจื้อจึงเรียกประชุมผู้พิพากษา นักกฏหมาย และพัศดีทั้งหลาย กล่าวต่อที่ประชุมว่า
" ข้าพเจ้าได้ศึกษาข้อเท็จจริงอย่างถี่ถ้วนแล้วได้ความว่า นักโทษเกือบทั้งหมดเป็นคนจน ไร้การศึกษา ความจนและขาดการศึกษาเป็นสาเหตุก่ออาชญากรรม ถ้าเรากำจัดความโง่เขลา และความจนได้ บ้านเมืองก็เจริญและสงบสุข วิธีการกำจัดความโง่เขลาก็คือ ให้การศึกษาแก่ประชาชนโดยทั่วถึง และวิธีการกำจัดความจนก็คือสนับสนุนให้ประชาชนประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ "
ผู้พิพากษาคนหนึ่งถามว่า
" เราจะเริ่มต้นตรงไหน ด้วยวิธีใด ที่จะให้ประชาชนซื่อสัตย์สุจริตเป็นพลเมืองดี "
ขงจื้อตอบว่า
" เริ่มต้นที่ตัวท่านทั้งหลายนี่แหละ ท่านทั้งหลายเป็นผู้ปกครอง ถ้าผู้ปกครองเลว ประชาชนก็เลวตาม ถ้าผู้ปกครองดี ประชาชนก็ดีตาม กฏเกณฑ์หรือวิธีการข้อแรกของการเป็นคนดีก็คืออยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตนอย่างไร จงปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างนั้น และอย่าปฏิบัติต่อผู้อื่นในสิ่งทีตนเองก็ไม่ต้องการ "
By คิดแบบ " เต๋า " ( นิทานปรัชญา ตีลังกาคิด )
No comments:
Post a Comment