Friday, January 18, 2013

การทำงานร่วมกันระหว่างสติกับสมาธิ

การทำงานร่วมกันระหว่างสติกับสมาธิ

           คำว่า สมถะ หมายถึง ภาวจิตที่อยู่ในสภาวะสงบนิ่งเป็น สมาธิ ส่วนคำว่า สมถะ - วิปัสสนา เป็นกระบวนการฝึกสมาธิจิต โดยนำเอาสัมมาสติเป็นเครืองมือในการปฏิบัติ แม้ว่าทั้งสติและสมาธิจะทำหน้าที่คนละส่วนของจิต แต่ในการปฏิบัติวิปัสสนา ทั้งสติและสมาธิจำเป็นจะต้องทำงานร่วมกันและอยู่ในภาวะที่สมดุลซึ่งกันและกัน

           ความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่าง สติ กับ สมาธิ ค่อนข้างที่จะอยู่ในสภาพละเอียดอ่อน แม้ว่าตามคำจำกัดความ สมาธิหมายถึงความสามารถของจิตในการเพ่งไปยังวัตถุใดวัตถุหนึ่งในเวลานานๆ ติดต่อกัน เพื่อให้จิตเข้าสู่สภาวะที่แน่วแน่รวมกันเป็นจุดเดียว หรือที่เรียกว่าเอกัคคตาความจำเป็นต่อการพยายามเพ่งวัตถุในการทำสมาธิดังกล่าวอยู่นานๆ ติดต่อกันนี้ ผู้ปฏิบัติสมาธิย่อมจะต้องใช้พลังทางจิตอย่างสูงในการเพ่งเพื่อให้จิตเข้าสู่สมาธิตามทีตนต้องการ

           ตรงข้ามกับการปฏิบัติวิปัสสนาสมาธิที่ใช้สติเป็นตัวนำไม่จำเป็นต้องใช้พลังจิตในการเพ่งเหมือนกับการปฏิบัติวิปัสสนาในแบบแรก เพียงแต่ใช้สติต่อการตระหนักรู้ในวัตถุที่ใช้ในการรับรู้การฝึกปฏิบัติโดยการนำสติมาใช้ประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ โดยวิธีนี้จะสามารถทำให้มองเห็นความจริงในสัจธรรมได้อย่างละเอียดประณีต

           เมื่อเราสามารถเจริญสัมมาสติร่วมกับการเจริญสัมมาสมาธิได้แล้ว สตินั่นเองจะเป็นปัจจัยในการทำหน้าที่เลือกวัตถุที่ใช้เพ่งและยังเป็นตัวช่วยลดพลังจิตต่อการเพ่งได้ในระดับหนึ่ง จนสามารถรับรู้เกี่ยวกับอารมณ์ที่จะไม่ยึดติดอยู่กับพลังความอยากเหล่านั้น



           และเมื่อเจริญสติให้มั่นได้ดียิ่งขึ้น ก็เท่ากับเป็นการเจริญสมาธิให้สูงขึ้นไปด้วย และเช่นเดียวกัน หากสติอ่อนลง สมาธิก็จะอ่อนลงตาม เมื่อเกิดสมาธิจิต สติจะยิ่งเป็นตัวขัดเกลาความสามารถของจิตให้ว่องไวและแหลมคมต่อการับรู้ได้ดียิ่งขึ้น จนในที่สุดนำไปสู่การพัฒนาความสามารถในการหยั่งรู้ ทำจิตให้เกิดความสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากอาสวกิเลสทั้งหลายที่เป็นตัวทำให้เกิดการรับรู้ที่บิดเบือนหรือเบี่ยงเบน ไม่เป็นไปตามความเป็นจริง

           นอกจากนี้ สติ ยังเป็นปัจจัยที่สามารถเอาชนะเรื่องต่างๆ ทั้งหลายที่เข้ามากระทบกับอารมณ์ความรู้สึกในประสบการณ์ของจิตขณะที่กำลังทำสมาธิ เพ่งต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราเลือกใช้ในการปฏิบัติสมาธิภาวนาเพียงสิ่งเดียว โดยการบังคับไม่ให้รับรู้ต่อสิ่งอื่นที่อาจจะทำให้จิตไม่แน่วแน่ได้ในขณะนั้น

            กล่าวโดยพื้นฐานแล้ว สมาธิเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดพลังบังคับจิตให้แน่วแน่คงที่ ส่วนสติเป็นตัวที่ทำให้สมาธิจิตดื่มด่ำลุ่มลึกลงไปในจิตวิญญาณของมนุษย์ ยกตัวอย่าง หากจะเปรียบให้สมาธิเป็นเสมือนพลังงานอย่างใดอย่างหนึ่ง สติย่อมหมายถึงตัวควบคุมทิศทางของพลังงานนั้นๆ สมาธิกับสติจึงมีความจำเป็นในการถ่วงดุลในอัตราส่วนที่พอเหมาะต่อจิตวิญญาณในการเข้าถึงปัญญาที่จะทำความเข้าใจในสัจธรรม

            สัมมาสมาธิแห่งภาวจิตที่เป็นเอกัคคตาในทางดีงาม เป็นเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาปัญญาและส่งเสริมคุณธรรมพลังแห่งสมาธิจิตเป็นปัจจัยในการกำจัดอาสวกิเลส เช่น กามฉันทะ ความพยาบาท เฉื่อยชา เกียจคร้าน วอกแวก เปิดโอกาสให้จิตสร้างและสั่งสมความดีงาม หากพลังแห่งสมาธิจิตอ่อนลงหรือไม่อยู่นิ่งในขณะทำสมาธิ สติจะเป็นตัวรับรู้และช่วยควบคุมสมาธิให้กลับมาดำเนินต่อไป

           จะเห็นได้ชัดว่า การทำหน้าที่ของสมาธิเพื่อควบคุมจิตให้เพ่งอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ใช้ในการทำสมาธิ โดยมีสติเป็นตัวช่วยเสริมให้การบำเพ็ญสมาธิดำเนินต่อไปอีกจนกระทั่งจบ โดยมีสติเป็นตัวช่วยเสริมให้การบำเพ็ญสมาธิดำเนินต่อไปจนกระทั่งจบ เป็นการทำหน้าที่ร่วมกันระหว่าง สมาธิ กับ สติ ในการฝึกตามหลักไตรสิกขาทางพุทธศาสนา

           โปรดสังเกตว่าการฝึกสมาธิโดยการเพ่งจิตเพื่อเป็นหนึ่งเดียวนั้น แม้ว่าผู้ประพฤติปฏิบัติจะบรรลุฌานสมาบัติขั้นสูงก็เป็นเพียงผลสำเร็จขั้น " สมถะ " ซึ่งทางพุทธศาสนาถือว่า เป็นเพียงวิธีการปฏิบัติเพื่อที่จะนำไปสู่ " วิปัสสนา " ด้วยการนำสติและสมาธิใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการแสวงหาปัญญาดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment