Friday, September 14, 2012

หลักปฏิบัติที่ทำให้คนญี่ปุ่นอดทนอดกลั้น




หลักปฏิบัติ 3 ข้อ 
ที่ทำให้คนญี่ปุ่นอดกลั้น 
และ การเรียกบูชิโดอย่างถูกต้อง

         การที่ชาวญี่ปุ่นต้องประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างร้ายแรง ทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ และมีแนวโน้มที่จะถูกซ้ำเติมจากสารกัมมันตรังสี ที่รั่วออกมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ แต่พวกเขาก็ยังคงใช้ชีวิตกันอย่างสงบ ปราศจากการโวยวาย หรือ ก่อจราจลหรือปล้นสะดมภ์ พวกเขาทำได้อย่างไร

         ทั้งนี้ เวลาพูดถึงคนญี่ปุ่นหลายคนมักจะให้คำจำกัดความพวกเขาว่า " เลือดบูชิโด " และการที่พวกเขายังคงสงบ และมีวินัยแม้จะเพชิญภัยพิบัติ ที่ทำให้เกิดการสูญเสียญาติพี่น้อง เพื่อนและทรัพย์สิน พวกเขาก็ยังคงอยู่ในวินัย ก็เลยทำให้คิดว่าเป็นเพราะ การเป็นสายเลือด " บูชิโด " อีกเช่นกัน

          ที่จริงแล้ว บูชิโดไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เลยแม้แต่น้อย เพราะประเทศญี่ปุ่นไม่ได้มีแต่ซามูไร ยังมีชาวไร่ ชาวนา พ่อค้า และอื่นๆ แต่สิ่งที่ผู้คนเหล่านี้มีเหมือนกัน 3 สิ่งคือ สิ่งที่พวกเขาถือเป็นหลักปฏิบัติ สั่งสอนกันตั้งแต่เข้าโรงเรียนด้วยซ้ำ นั่นคือ



  1.  คามัน ( Kaman ) แปลว่า ความอดกลั้น อดทน
  2. นินชิกิ ( Ninshiki ) แปลว่า ความรับผิดชอบ
  3. กิริ ( Giri ) แปลว่า ความผูกพัน หรือ ผูกมัดกับสังคม
     
          คนญี่ปุ่นต้องมีทั้ง 3 สิ่งนี้  คนที่ไม่มีจะถูกเรียกว่า บุราโกมัน หรือ คนที่สังคมดูแคลน

          ส่วนคำว่า " บูชิโด " ที่มักจะถูกนำมาเรียกขานเวลาพูดถึงชนชาวญี่ปุ่นนั้น ความหมายลึกซึ้งกว่ามาก บูชิโดมีความหมายตามตัวอักษร คือ วิถีแห่งนักรบ  ( The way of Knight ) คำว่า " บูชิ " แปลว่า นักรบ  ส่วน " โด " แปลว่า วิถี ซึ่งก็คือ วินัยและคุณธรรมแห่ง " นักรบ "

          ญี่ปุ่นที่มีรากฐานธรรมจรรยาในลัทธิเต๋า และขงจื้อของจีน และเชื่อว่าหลักธรรมในพุทธศาสนา ที่ญี่ปุ่นรับเข้ามาเป็นศาสนาประจำชาติในภายหลังนั้น มีนิกายเซนผสมผสานอยู่ด้วย

          " บูชิโด " ไม่ได้เป็นตำราที่เขียนกันเป็นลายลักษณ์อักษร หรือเป็นหลักฐาน แต่เป็นหลักปฏิบัติตนของนักรบโบราณ หรือ ซามูไร ที่สั่งสอนและถือปฏิบัติสืบทอดกันมา ตั้งแต่ญี่ปุ่นปกครองด้วยระบบศักดินาสวามิภักดิ์ครองนคร ( Feudalism ) ระหว่าง พ.ศ. 1643 ถึง 1843 จนกลายเป็นลัทธิประจำชาติ บางทีก็เรียกว่า จรรยาของชนชาติทหาร ที่เน้นเรื่องความเด็ดเดี่ยว เมื่อต้องเสียเกียรติยศ ก็ต้องเลือกความตายเป็นปลายทาง ซึ่งก็คือการทำ " ฮาราคีรี " ด้วยความเชื่อที่ว่า ความตายเท่านั้นที่จะล้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงได้

          อย่างไรก็ตาม แม้ " บูชิโด " จะไม่ได้เป็นตำราที่มีลายลักษณ์อักษรณ์ เป็นหลักฐานให้เห็น แตนักปราชญ์ในยุคโบราณของญี่ปุ่น ยอมรับว่า " บูชิโด " มีกำเนิดจากหลักทางศาสนาประจำชาติของญี่ปุ่นเอง คือศาสนาชินโตส่วนหนึ่ง และเกิดจากหลักธรรมในศาสนาอื่น ที่ญี่ปุ่นรับเข้ามาในประเทศอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งก็คือ เต๋า และ ขงจื้อ ของจีน กับนิกายเซน

          หลักธรรมเหล่านี้หล่อหลอมให้บูชิโด กลายเป็นบทอบรมสั่งสอนให้ปฏิบัติกันมา และกลายเป็นในรูปของ วิญญาณ ( Spirit ) และสายเลือด ( Blood ) นั่นก็คือที่มาของคำว่า " เลือดบูชิโด " หรือ " สายเลือดที่ไม่มีวันเหือดหาย " ซึ่งการอบรมและการปฏิบัติตามยุทธจริยา " บูชิโด " มีดังนี้

  1. ให้รู้จักค่าของชาติและธรรมชาติ
  2. ให้มี เมตตา กรุณา กล้าหาญ
  3. ให้เป็นสุภาพบุรุษ
  4. ให้รักษาสัจจะความจริง
  5. ให้ข่มใจตนเอง
  6. ให้รักดาบเสมือนชีวิต
  7. ให้รักครอบครัว
  8. ให้เคารพภักดีบรรพบุรุษ - องค์พระจักรพรรดิ
  9. ให้แก้ไข - แก้แค้น
  10. ให้รักษาเกียรติยศ ด้วยวิธี ฮาราคิรี



No comments:

Post a Comment