Monday, November 05, 2012

พอหมาะ พอดี ถูกต้อง ตรงเผง


ไม่เหลือจิตปกติ

          ศิษย์เซนถามอาจารย์ว่า " ศิษย์นั่งสมาธิทุกวัน สวดมนต์บ่อยๆ นอนแต่หัวค่ำ ตื่นแต่เช้า จิตไม่คิดฟุ้งซ่าน ในสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ไม่มีใครขยันไปกว่าข้า แต่ทำไมข้ายังไม่บรรลุธรรมสักที "

          พระอาจารย์ไม่พูดไม่จา เดินเข้าไปในห้อง หยิบน้ำเต้ามาลูกหนึ่ง เกลือเม็ดใหญ่มากำมือหนึ่ง ส่งให้ลูกศิษย์ แล้วบอกว่า " เจ้านำน้ำเต้านี้ไปใส่ให้เต็ม แล้วใส่เกลือเข้าไป พอเกลือละลาย เจ้าก็จะบรรลุธรรมทันที "

          ศิษย์เซนทำตามที่อาจารย์บอก ครู่ต่อมา เขาวิ่งมาบอกว่า " ปากน้ำเต้าเล็กไป ใส่เกลือลงไปไม่ได้ เอาตะเกียบแหย่เข้าไปก็คนไม่ได้ดูท่าศิษย์คงจะบรรลุธรรมไม่ได้อีกตามเคย "

           พระอาจารย์ไม่พูดไม่จา คว้าน้ำเต้ามา เทน้ำทิ้งไปหน่อยนึง ใส่เกลือลงไปแล้วเขย่าเบาๆ เกลือก็ละลาย

           พระอาจารย์เซนพูดอย่างเมตตาว่า " ขยันทั้งวัน ไม่เหลือจิตปกติไว้บ้าง ก็เหมือนกับน้ำเต้าที่ใส่น้ำจนเต็มแล้วเขย่าไม่ได้ คนไม่ได้ จะละลาย เกลือได้อย่างไร จะบรรลุธรรมได้อย่างไร ? "

          ศิษย์ถามอาจารย์ว่า " ไม่ขยัน จะบรรลุธรรมได่อย่างไร "



          อาจารย์กล่าวว่า " การปฏิบัติธรรมก็เหมือนกับการดีดพิณ สายพิณตึงเกินไป ย่อมขาดง่าย สายพิณหย่อนเกินไปก็ไม่เกิดเสียง ต้องยึดทางสายกลาง หรือมีจิตปกติธรรมดาๆ จึงจะบรรลุธรรมได้ "

          ศิษย์เซนจึงเข้าใจ

แง่คิด

          ใช้ชีวิตให้เหมาะพอดี ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป

          เรื่องต่างๆ ในโลกใบนี้ ไม่ใช่ว่าเราอยากจะให้มันเจริญก้าวหน้าเร็วๆ มันจะเจริญก้าวหน้าไปโดยเร็วตามที่ใจเราปราถนา ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการเรียน การงาน ชีวิต ล้วนเป็นเช่นนี้ เราน่าจะเหลือที่ว่างให้ตัวเองได้หายใจหายคอ ยืดเส้นยืดสายเสียบ้าง ไม่ใช่กำหนดตายตัว แน่นเอี๊ยดทุกตารางนิ้ว แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจอีเหละเขละขละ 

           พระพุทธเจ้าสอนให้เราเดินทางสายกลาง ไม่เข้มงวดเกินไป ไม่ย่อหย่อนเกินไป เป็นคำสอนง่ายๆ แต่ลึกซึ้งยิ่งใหญ่ คนทั่วไปมักไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด

           ทางสายกลางไม่ใช่นกสองหัว เหยียบเรือสองแคม ทางสายกลางจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเป้าหมายอันแจ่มชัด ถูกต้อง ยิ่งใหญ่ จากนั้น จึงใช้ศาสตร์และศิลป์แห่งความพอเหมาะพอดีมาเป็นวิธีการในการเดินสู่เป้าหมาย

           สำหรับคนทั่วไป หากปฏิบัติได้ตามนี้ ชีวิตก็จะประสบความสำเร็จอย่างราบรื่นตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปยันเรื่องใหญ่ๆ สำหรับผู้ที่มีอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ หากปฏิบัติตามนี้ ในที่สุดจิตใจก็จะว่าง สงบ ไม่ยึดติด ทั้งความดี - ความชั่ว ไม่มีเทพไม่มีมาร

           การละความชั่ว สร้างความดี นั้นเป็นเรื่องที่ดีของชาวโลก แต่ความเชื่อกับความดีมักเป็นกฏสมมติของมนุษย์ ซึ่งแม้จะมีมาตรฐานแห่งเวลา สถานที่ ชนชั้น การเมือง วัฒนธรรม ฯลฯ เป็นตัวชี้วัดแต่เมื่อทัศนะ มุมมอง ความรู้ของมนุษย์ในยุคๆ นั้น เปลี่ยนแปรไปมองต่างมุม มองรอบด้าน รู้มากขึ้น อารยะยิ่งขึ้น มาตรฐาน ถูก - ผิด ดี - ชั่ว ก็ย่อมเปลี่ยนไป

           เมื่อศึกษาธรรมถึงขั้นหนึ่ง พระพุทธเจ้าจะสอนให้ละทิ้งทั้งภาระความชั่วสร้างความดี เพราะว่า ทางทั้งสองล้วนเป็นทางที่ลุ่มหลง ไม่ใช่ทางที่สงบ เป็นทางตึงกับความหย่อน

           ในทางเซนหมายถึงให้ทลายกรอบทวินิยมเสีย แล้วพาตัวเองขึ้นไปยืนอยู่บนยอดปราสาทปัญญา มองให้เห็นโลกใบใหญ่ที่กว้างใหญ่ไพศาล

           น่าเสียดายที่สัตว์ทั้งหลายมักจะยึดติดอยู่ในฐานทั้งสอง มองไม่เห็นทางสายกลาง

           ทางสายกลางสำหรับจิตใจก็คือภาวะที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ เพราะสุขกับทุกข์ก็คืออารมณ์อย่างหนึ่งที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจิตใจก็จะไม่สงบ สุขกับทุกข์เปรียบเสมือนงูตัวหนึ่งที่คอยฉกกัดเราอยู่ตลอดเวลา ยามสุข ยามดีใจ ชอบใจ งูแห่งความทุกข์ก็ฉกกัดจิตใจของเรา ดีใจจนนอนไม่หลับ เสียใจก็นอนไม่หลับ อารมณ์กลางๆ เฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นจิตที่สงบนิ่ง ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา รู้จักพิจารณาตัวเอง ไม่ลุ่มหลงในอารมณ์ จิตจึงจะไม่เคลื่อนไหวไปมา จิตที่สงบนิ่งเป็นฐานแห่งการรู้แจ้ง





By สุภาพร  ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่างเซน )

No comments:

Post a Comment