Wednesday, December 26, 2012

สัมมาอาชีวะ

สัมมาอาชีวะ

          สัมมาอาชีวะ หมายถึงการดำเนินชีวิตด้วยการทำมาหากินเลี้ยงชีพที่สุจริต ปราศจากการหลอกลวง ทรยศ ต้มตุ๋น หน้าเลือด ไม่ประกอบอาชีพที่เป็นภัย เช่น ค้าอาวุธ ค้าเนื้อสัตว์ ค้าสิ่งมีชีวิต ค้าสารเสพย์ติดและสารพิษให้โทษ เป็นต้น ผู้ดำเนินชีวิตตามแนวสัมมาอาชีวะโดยนัยนี้ ย่อมไม่ควรประกอบอาชีพในโรงงานผลิตอาวุธโรงฆ่าสัตว์ หรือ โรงงานสร้างสารพิษอันก่อให้เกิดมลภาวะต่อมนุษย์ สัตว์ สิ่งแวดล้อม รวมถึงการที่ไม่ประกอบอาชีพตามบ่อนการพนัน ซ่องโสเภณี และการยิงนกตกปลาซึ่งถือเป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตด้วย เช่นเดียวกัน

           กล่าวโดยสรุป การประกอบสัมมาอาชีวะ หมายถึงการทำมาหาเลี้ยงชีพที่เพียงแต่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสิ่งมีชีวิตและต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้นแต่ต้องเป็นการประกอบอาชีพที่เอื้ออำนวยให้เกิดความสุข ความสำเร็จตามอัตภาพของบุคคลแต่ละคนด้วย

           โปรดสังเกตว่า มรรคทั้งสาม คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และ สัมมาอาชีวะ เป็นข้อกำหนดในทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับศีล ซึ่งประกอบด้วยทางกายกรรม 3 ข้อได้แก่ การละเว้นจากการปลงชีวิตการลักขโมย ประพฤติผิดในกาม ทางวจีกรรม 4 ข้อ คือ เว้นจากการกล่าวเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ และการพูดเพ้อเจ้อ ที่สัมพันธ์อยู่ภายใต้ใโนกรรม 3 ข้อ คือ อนภิชญา ความไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น อพยาบาท ความไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น และ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบถูกต้องตามทำนองคลองธรรมแห่งกุศลกรรมบถทั้ง 10 ข้อ ซึ่งทางพุทธศาสนาถือเป็นการปฏิบัติขั้นพื้นฐานของ " การละเว้นจากการทำชั่ว " เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาจริยธรรมขั้นสูงตามหลักคำสอนในโอวาทปาฏิโมกข์ " ทำแต่ความดี " และทำจิตให้ " บริสุทธิ์ " ต่อไป



           มีนักเทววิทยาชาวตะวันตก รวมทั้งชาวพุทธที่เป็นคนไทยบางคนที่ยังศึกษาพุทธธรรมไม่ถ่องแท้วิจารณ์ว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ปฏิเสธโลก สอนใหละเว้นจากการทำชั่วเพียงอย่างเดียว สอนให้ถอนตัว ปล่อยวาง เฉื่อยชา คอยระวังเพียงเพื่อไม่ให้ตนเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับบาป ไม่เอาใจใส่ขวนขวายช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยการลงมือปลดเปลื้องความทุกข์และเสริมสร้างประโยชน์สุขจริงจัง ไม่ชักจูงเร่งรัดให้ทำความดี แม้ให้ความเมตตากรุณาก็เพียงด้วยใจอย่างเดียว เป็นคำสอนแบบมุ่งเข้าหาตัวเองจึงเป็นเพียงคำสอนประเภท " จริยธรรมทางความคิด "

           เกี่ยวกับคำวิจารณ์ดังกล่าว ท่านพระธรรมปิฎก ได้อธิบายแก้ไว้ว่า หากท่านเหล่านั้นได้มีโอกาสศึกษาพุทธธรรมในเรื่องของมรรคที่เกี่ยวกับศีลอย่างเป็นระบบ ก็จะสามารถเข้าใจได้ว่า มรรคทั้งสามที่เกี่ยวกับ " ศีล " นั้นจะต้องคู่ไปกับ " ธรรม " อยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าจะกล่าวเฉพาะในลักษณะปฏิเสธหรือสอนให้เฉื่อยชาปล่อยวางแบบอัตวิสัยกับทั้งมิใช่เป็นการสอน " จริยธรรมทางความนึกคิ หรือจริยธรรมในความฝัน " แต่เป็นการสอนให้ประพฤติปฏิบัติและดำเนินชีวิตไปตามครรลอง เพื่อให้สอดคล้องกับกฏธรรมชาติที่เกี่ยวกับเหตุและผลซึ่งเกณฑ์ตัดสินจริยธรรมทางพุทธศาสนามีความแตกต่างจากแนวความคิดที่นำมาสู่การปฏิบัติในศาสนาเทวนิยมอื่น ดังนี้

            ประการแรก  จริยธรรมทางพุทธศาสนาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของพุทธธรรม ที่เพียงแต่ชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตตามทางที่ถูกที่ควรมิใช่เป็นคำสั่งที่ศาสนิกจำเป็นจะต้องมีศรัทธาปสาทะและต้องปฏิบัติตามแบบเทวโองการ เพื่อรอรับความโปรดปรานจากเบื้องบน ดังเช่นในศาสนาเทวนิยมอันเป็นแนวความคิดที่พุทธศาสนาไม่ยอมรับพุทธศาสนามีความเห็นว่า ความเชื่อที่เกิดจากความภักดีต่อองค์เทวะโดยปราศจากการวิเคราะห์หาเหตุผล ไม่เป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การสร้างปัญญา จัดว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิและมิจฉาสังกัปปะ

            ประการที่สอง การสอนจริยธรรมตาแนวทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะในนิกายเถรวาท จะเริ่มตามลำดับจากขั้นพื้นฐานแห่งศีลสิกขา สอนให้ประพฤติปฏิบัติตามแนวทางแห่งศีล 5 และกุศลกรรมบถ 10 โดยแนะให้ละเว้นจากการทำชั่ว เพื่อเตรียมพร้อมทางกายวาจาในการที่จะทำความดี เพื่อการพัฒนาระดับของจิตใจในการปฏิบัติสมาธิและวิปัสนากรรมฐานต่อไปตามลำดับ

            ประการที่สาม พุทธศาสนาถือว่า มโนกรรมอยู่เหนือและเป็นตัวควบคุมกายกรรมและวจีกรรม การปฏิบัติตามแนวทางแห่งศีลสิกขาก็เพื่อให้มนุษย์ดำเนินแนวทางภายใต้กรอบของกฏธรรมชาติ ซึ่งผลแห่งการกระทำย่อมตอบสนองตัวผู้ปฏิบัติเองตามหลักเหตุและผล ไม่เหมือนกับหลักความเชื่อในศาสนาเทวนิยม ที่ผู้นับถือศรัทธาจะต้องปฏิบัติตามเทวโองการเพื่อให้พระเจ้าโปรดปราน มิฉะนั้นย่อมถือว่าเป็นบาปที่จะต้องได้รับการลงโทษจากพระองค์ พุธศาสนาถือว่า บุญ และ บาป เป็นเพียงคุณค่าที่จะทำให้จิตใจสูงขึ้นหรือต่ำทรามลงแนวคิดทางด้านจริยธรรมดังกล่าวจึงมีความแตกต่างกันระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาเทวนิยม





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment