Thursday, November 08, 2012

กฏธรรมชาติ

กฏธรรมชาติ

           กฏธรรมชาติ หรือ นิยาม 5 หมายถึง การจัดระเบียบของธรรมชาติในทางพุทธศาสนา แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ อุตุนิยาม กฏธรรมชาติที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมภายนอกตัวมนุษย์ เช่น อุณหภูมิดินฟ้าอากาศและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ พีชนิยาม กฏธรรมชาติทางด้านชีววิทยา ทางพันธุกรรม จิตนิยาม กฏธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของจิต กรรมนิยาม กฏธรรมชาติที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ และ ธรรมนิยาม กฏธรรมชาติที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์และอาการอันเป็นเหตุเป็นผลต่อกันแห่งสิ่งทั้งหลาย

            ตามกฏธรรมชาติ พุทธศาสนาไม่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลกสรรพสิ่งทั้งหลายที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตล้วนแต่เป็นสังขตธรรม เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งจากเหตุปัจจัย จึงล้วนแต่เป็นสังขตธรรม เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งจากเหตุปัจจัย จึงล้วนแต่อยู่ภายใต้กฏไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท และกฏธรรมชาติทั้งสิ้น

            กฏธรรมชาติประกอบด้วย อุตุนิยาม พีชนิยาม จิตนิยาม กรรมนิยาม และ ธรรมนิยามทั้งหลายที่กล่าวมานี้ขึ้นอยู่กับกฏแห่งเหตุปัจจัยความเชื่อทั้งหลายที่อ้างขึ้นเองโดยปราศจากเหตุปัจจัยทางพุทธศาสนาถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิดังได้กล่าวมาแล้วแต่ต้น


            อุตุนิยาม เป็นกฏทั่วไปที่เกี่ยวกับสสาร เปรียบได้กับกฏเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันว่าด้วยเรื่อง สมมติฐานปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางฤดูกาล ความร้อน ความเย็น ฝนลง หิมะตก ดอกไม้ผลิออกช่อในหน้าฝนและแห้งเหี่ยวร่วงหล่นในยามแล้งน้ำแห้งขอด ขี้ผึ้งหลอมละลายเมื่อร้อนและแข็งตัวเมื่อถูกความเย็น เป็นต้น

             พีชนิยาม ว่าด้วยเรื่องทางชีววิทยา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับทางพันธุกรรม กระบวนการเปลี่ยนแปลง การถ่ายทอดยีนส์จากเมล็ดจนเติบโตเป็นต้น เป็นใบ ผลิดอกออกผลตามเผ่าพันธุ์ของพืชแต่ละชนิด ตลอดจนอธิบายถึงการโอนถ่ายความคล้ายคลึงยีนส์จากพ่อแม่ไปยังลูก เป็นต้น

             จิตนิยาม เป็นกฏธรรมชาติว่าด้วยกระบวนการทำหน้าที่ของจิตเช่นการรับรู้ในวัตถุจากประสาทสัมผัส ประสบการณ์ทำงานของระบบประสาท การทำงานของวิญญาณที่มีการเกิดดับในแต่ละขณะกล่าวถึงระดับจิตและเจตสิกแต่ละประเภทที่ทำหน้าที่ควบคุมและพัฒนาจิตให้อยู่ในระดับต่างๆ ทั้งในขณะหลับและตื่น เป็นต้น

             กรรมนิยาม หรือ กฏแห่งกรรม ถือเป็นคำสอนหลักในทางพุทธศาสนาว่าด้วยเรื่องการกระทำและผลที่เกิดจากการกระทำซึ่งมีรายละเอียดที่จะได้กล่าวต่อไปโดยเฉพาะ เป็นกฏที่ว่าด้วยการกระทำที่เกิดจากเจตนาทั้งดีและชั่ว อิบายถึงวิบาก หรือผลของการกระทำที่จะติดตามมา อธิบายผลกรรมที่ก่อให้เกิดบุคลิกภาพและพฤติกรรมของแต่ละคนที่เกิดมาเนื่อจากผลของกรรม กฏแห่งกรรมถูกกำหนดภายใต้ข้อเท็จจริงทางธรรชาติที่เชื่อว่า กรรมที่ก่อขึ้นนั้นย่อมส่งผลติดตามมาตามระดับและธรรมชาติในการก่อกรรมนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

              ธรรมนิยาม เป็นกฏรวมข้อสุดท้ายเกี่ยวกับกฏแห่งเหตุปัจจัยในการปรุงแต่งควบคุมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีความสัมพันธ์และพึ่งพาอาศัยกันของสรรพสิ่งทั้งหลาย ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเน่าเปื่อย เกิดดับ อย่างไร ทำไมชีวิตจึงมีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะเหตุใดสรรพสิ่งทั้งหลายจึงตั้งอยู่ภายใต้กฏไตรลักษณ์ ที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment