Friday, November 30, 2012

อธิปัญญาสิกขา

อธิปัญญาสิกขา
สัมมาทิฏฐิ

         อธิปัญญาสิกขา หมายถึงข้อปฏิบัติในการฝึกอบรมปัญญาเพื่อทำให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูง ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงคุณธรรม 4 ประการที่ก่อให้เกิดความเจริญงอกงามทางปัญญาเรียกว่า ปัญญาวุฒิธรรม 4 อันประกอบด้วย 1. สัปปุริสสังสวะ คบหาสัตบุรุษ คนดีมีปัญญามีคุณธรรม มีความรู้ความเข้าใจในธรรม 2. สัทธัมมัสสวนะ เอาใจใส่เล่าเรียนหาความรู้จริง 3. โยนิโสมนสิการ คิดวิเคราะห์หาเหตุผลอย่างถูกวิธี 4. ธัมมานุธัมมปฏิบัติ ปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามหลักสัมมาทิฏฐิ

          คำว่า สัมมาทิฏฐิ หมายถึง การมองเห็นถูกต้อง มีความเห็นถูกต้อง ทฤษฎีถูกต้อง และมีความเข้าใจถูกต้อง ในเรื่องของเหตุปัจจัยต่อการประกอบศุลกรรมหรืออกุศลกรรม มีความเข้าใจถูกต้องต่อกฏไตรลักษณ์ เข้าใจถูกต้องตามกระบวนการทางรูปและนามในปฏิจจสมุปบาท สัมมาทิฏฐิเป็นมรรคข้อแรกและเป็นข้อสำคัญในหมวดว่าด้วย " ปัญญา " ซึ่งเป็นหนึ่งในสามตามทางหลักทางสายกลางแห่งไตรสิกขา ที่เราสามารถนำไปพัฒนาให้เกิดปัญญา เพื่อความเข้าใจในสัจธรรมของชีวิต หากเเข้าใจด้วยสัมมาทิฏฐิว่า สรรพสิ่งทั้งหลายต่างต้องอาศัยซึ่งกันและกันแล้ว เราก็จะอยู่อย่างสันติปราจากการเบียดเบียนทั้งต่อธรรมชาติ และต่อสิทธิประโยชน์ส่วนบุคคล ซึ่งผู้ยังมองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจในมรรคข้อนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นบุคคล ผู้ซึ่งยังมองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจในมรรคข้อนี้ ย่อมถือได้ว่าเป็นผู้ที่ตกอยู่ในอวิชชา


           ตามคำสอนทางพุทธศาสนา ปัญญาในสัมมาทิฏฐิบังเกิดได้จากปัจจัย 2 ประการ คือ ปรโตโฆสะ และ โยนิโสมนสิการ

           1. ปัจจัยภายนอกที่เรียกว่า ปรโตโฆสะ หมายถึงการรับฟังคำสั่งสอน การเล่าเรียนหาความรู้ด้วยการสนทนาซักถาม ฟังคำบอกเล่าชักจูง จากผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ตำรา และสื่อต่างๆ

           2. ปัจจัยภายในคือ โยนิโสมนสิการ หมายถึงการใช้ความคิดพินิจพิเคราะห์ พิจารณาสืบสาวหาเหตุผล แยกแยะสิ่งต่างๆ ให้เห็นตามสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยเพื่อนำมาวิเคราะห์แก้ไขปัญหา การที่จะบรรลุเป้าหมายจากการคิดแบบวิเคราะห์ขึ้นอยู่ปัจจัยอีก 2 ประการ คือ ภูมิหลัง กับระดับของสติปัญญาในการมองเห็นปัญหาของแต่ละบุคคล

            นอกจากนี้ พุทธศาสนายังมีธรรมข้ออื่นที่ส่งเสริมให้เกิดสัมมาทิฏฐิ เช่น อิทธิบาท 4 ซึ่งถือว่าเป็นคุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ 4 ประการ คือ

             ฉันทะ ความพอใจ ความต้องการ ความใฝ่ใจ ที่จะทำ ที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ถูกต้อง

             วิริยะ ความเพียร ความพยายามในการแสวงหาแนวทางสัมมาทิฏฐิ

             จิตตะ ความคิด การตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำ ด้วยการใช้ความคิดอย่างเป็นระบบ

             วิมังสา การไตร่ตรอง การทดลอง การพิจารณาด้วยเหตุผลในการตรวจสอบทฤษฎีความเชื่อต่างๆ ด้วยโยนิโสมนสิการ ในข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง และได้เรียนรู้ ตามที่ทางพุทธศาสนาเรียกว่า ปรโตโฆษะ ดังที่กล่าวมาแล้ว

             พุทธศาสนาจัดให้สัมมาทิฏฐิ อยู่ในหมวดปัญญาแห่งไตรสิกขาและเป็นปัญญาที่พัฒนาขึ้นมาจากความเชื่อความศรัทธาที่ถูกต้องโดยอาศัยการคิดแบบวิเคราะห์ในหัวข้อที่ยังเป็นปัญหาหรือที่สงสัยจากการได้ยินได้ฟังมาด้วยโยนิโสมนสิการ ดังที่กล่าวมาแล้วเกี่ยวกับเรื่องกาลามสูตร

             สัมมาทิฏฐิ แบ่งออกได้เป็น 2 อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิในระดับโลกิยะกับสัมมาทิฏฐิในระดับโลกุตระ สัมมาทิฏฐิในระดับโลกิยะหมายถึงสัมมาทิฏฐิที่ยังประกอบด้วยอสวะที่จัดอยู่ในฝ่ายบุญกล่าวคือ มีการหวังผลในการกระทำ ( เช่น เห็นว่า การทำบุญให้ทานก็ดี การทำกรรมดีกรรมชั่วก็ดี มีผลมีวิบาก เห็นว่า โลกนี้มี ปรโลกมีมารดาบิดามี สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ เป็นต้น ) ส่วนในระดับโลกุตระนั้น สัมมาทิฏฐิ หมายถึงตัวปัญญาที่ปราศจากอาสวะเจือปน ที่นำมาใช้ในการปฏิบัติธรรมเพื่อความดีงามที่อยู่เหนือความรัก ความเมตตา กล่าวคือ กระทำโดยไม่หวังประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง ปราศจากความโลภ โกรธ หลง กระทำความดีเพื่อความดี จึงจะจัดเป็นสัมมาทิฏฐิแห่งองค์มรรคที่ทำให้จิตหลุดพ้นอย่างแท้จริง

            คุณสมบัติเบื้องต้นในการแสวงหาปัญญาด้วยสัมมาทิฏฐินั้นแม้ว่าโดยทั่วไปผู้ปฏิบัติจะต้องมีความเชื่อความศรัทธาเสียก่อนแต่พุทธศาสนาแตกต่างจากศาสนาอื่นที่สอนให้นำศรัทธาไปเชื่อเพื่อการสร้างปัญญา ไม่ใช่เป็นศรัทธาแบบหลงใหล ดังที่ศาสนาเทวนิยมสอนให้มีศรัทธาต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าหรือต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวพึ่งพาอาศัย สำหรับพุทธศาสนา สอนให้มีศรัทธาเพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ในการฝึกจิตและพัฒนาปัญา หรือศรัทธาเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฏธรรมชาติ ศรัทธาดังกล่าวนี้มีคุณลักษณะ 3 ประการคือ

            1. เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสัมมาวายามะ และ สัมมาทิฏฐิ
           
            2. เป็นศรัทธาที่ใช้เหตุใช้ผล บนรากฐานแห่งปัญญา เพื่อนำไปสู่การพินิจพิจารณาในกระบวนการเรียนรู้ด้วยโยนิโสมนสิการ

            3. ไม่ใช่ศรัทธาแบบที่มีต่อเทวโองการในศาสนาเทวนิยมที่สอนให้มอบความไว้วางใจให้กับพระเจ้าโดยไม่ต้องสงสัยสอบถามหาเหตุผล

            ก็ด้วยเทวโองการนี้เองที่ กาลิเลโอ นักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาถูกสถาบันศาสนาเทวนิยมในสมัยนั้นเรียกมาสอบสวนเอาผิดและในทีสุด เขาถูกลงโทษจองจำกักขังอยู่ภายในบ้านตลอดจนสิ้นชีวิตพร้อมทั้งถูกบังคับให้ถอนความเชื่อในทฤษฎีของโคเปอร์นิคัสที่กล่าวว่า " โลกต่างหากที่หมุนรอบดองอาทิตย์ " ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นความเชื่อทีค้านกับคำสอนทางศาสนาที่ยึดอยู่ในทฤษฎีของอริสโตเติลที่กล่าวว่า " โลกคือศูนย์กลางแห่งจักรวาล โดยมีพระอาทิตย์โคจรรอบ " กาลิเลโอให้การในครั้งนั้นว่า ในคัมภีร์ มิได้ตั้งใจที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการอธิบายทางวิทยาศาสตร์ หากจะถือว่าขัดแย้งกับสามัญสำนึก ก็เป็นเพียงการสาธกแบบอุปมาอุปมัยดังนั้นการที่เขาถูกตั้งข้อหาว่าขัดกับโองการจึงไร้เหตุผลและฟังไม่ขึ้น กาลิเลโอกล่าวคำคมก่อนถูกตัดสินลงโทษไว้ดังนี้

            " ข้าพเจ้าไม่ค่อยจะเชื่อว่า เป็นพระประสงฆ์ของพระผู้เป็นเจ้าพระองค์เดียวกันกับที่ได้เคยประทานปัญญาให้กับมนุษย์ แล้วจะทรงห้ามไม่ให้มนุษย์ใช้ปัญญาในการพิจารณาไตร่ตรองใคร่ครวญแสวงหาความจริงอย่างมีเหตุผล "






By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment