Thursday, November 01, 2012

เสน่ห์ที่มนุษย์ควรมี

หญิงที่มีเสน่ห์เพียบพร้อมที่สุด

           แต่ก่อน มีหญิงสูงศักดิ์คนหนึ่ง ทั้งสวยทั้งรวย การศึกษาก็สูง แถมยังเฉลียวฉลาดมีความรู้ความสามารถ รอบด้าน เรียกว่าทั้งรูปสมบัติคุณสมบัติไม่มีใครเทียบเคียงได้ ไม่เพียงเท่านี้ เธอยังถือศีลกินเจหมั่นเข้าวัดทำบุญทำทาน แต่เธอกลับหาความสุขไม่ได้เลย เธอรู้สึกโดดเดียวอย่างยิ่ง ไม่มีเพื่อน ไม่มีผู้รู้ใจ มีความในใจ ก็ไม่รู้จะไปพูดไประบายกับใครดี

           วันหนึ่ง หญิงผู้เพียบพร้อม เหงาจนทนไม่ไหว จึงไปขอคำชี้แนะจากท่านอู๋เต๋อพระอาจารย์เซนว่า " ข้าโดดเดี่ยวเหลือเกิน ท่านอาจารย์ได้โปรดชี้แนะข้าด้วยเถิดว่า ทำอย่างไรจึงจะเป็นที่รักที่ชมชอบของคนอื่น "


           ท่านอู๋เต๋อตอบว่า " ขอเพียงท่านสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่น มีจิตใจที่เมตตาประณีดุจพุทธะ พูดจาภาษาธรรม ฟังเสียงธรรม ทำความดี ไม่เห็นแก่ตัว ท่านก็จะกลายเป็นคนที่มีเสน่ห์ น่าคบหา มีคนมารักมาชอบมากมาย "

           หญิงสูงศักดิ์ถามว่า " พูดจาภาษาธรรม เป็นเช่นไร "

            ท่านอู๋เต๋อตอบว่า " พูดจาภาษาธรรมก็คือ พูดเรื่องจริง พูดเชิงบวก วาจาอ่อนน้อม เป็นประโยชน์ต่อผู้คน "

           หญิงสูงศักดิ์ถามอีก " ฟังเสียงธรรมล่ะคะ "

           ท่านอู๋เต๋อตอบว่า " ฟังเสียงธรรมก็คือ ฟังแต่เรื่องดีๆ แปลงสรรพสำเนียงให้เป็นเสียงอันไพเราะ เช่น แปลงเสียงด่าทอให้กลายเป็นเสียงแห่งความเมตตาปราณี แปลงเสียงซุบซิบนินทาให้กลายเป็นเสียงแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่ร้องไห้ ไม่โวยวาย ไม่พูดจาหยาบคาย นี่แหละฟังเสียงธรรม "

           หญิงสูงศักดิ์ถามอีกว่า " ทำความดีล่ะคะ "

           ท่านอู๋เต๋อตอบว่า " ทำความดีก็คือ ทำบุญทำทาน รู้จักบริจาค รู้จักแบ่งปัน รู้จักให้ รู้จักรับใช้ผู้อื่น "

           หญิงสูงศักดิ์ถามว่า " ไม่เห็นแก่ตัวล่ะคะ "

          ท่านอู๋เต๋อตอบว่า " ไม่เห็นแก่ตัวก็คือ มีจิตใจอันยิ่งใหญ่ ไม่แบ่งเขาไม่แบ่งเรา ไม่มีเทพไม่มีมาร เป็นจิตว่าง รองรับได้ทุกสิ่ง เป็นพุทธปัญญา "

          ได้ฟังเช่นนี้แล้ว หญิงสูงศักดิ์ก็กลับไปแก้ไขปรับปรุงตัวเองครั้งใหญ่ เวลานี้ เธอไม่เย่อหยิ่งเหมือนแต่ก่อน เธอไม่พูดจาอวดร่ำอวดรวย ไม่คุยทับคนอื่นว่าตัวเองสวยงามเลอเลิศ ทั้งปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างมีมารยาท รู้จักทำคุณประโยชน์ต่อผู้อื่น ปฏิบัติตนเช่นนี้ไม่นาน ใครๆ ก็รักเธอ ชมเธอว่าเป็นหญิงสาวที่มีเสน่ห์ที่สุด สวยเพียบพร้อมที่สุด



แง่คิด

           ประโยชน์ท่านคือต้นธารประโยชน์ตน 

           นิทานเซนเรื่องนี้สอนเราว่า


           1. ธรรมะก็คือชีวิต ในชีวิตมีธรรมะ

           หญิงสูงศักดิ์ในนิทานเรื่องนี้ แม้จะถือศีลกินเจ เข้าวัดทำบุญทำทานเป็นประจำ แต่ใจกลับเข้าไม่ถึงธรรมะโดยดูได้จากเธอไม่เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น

           ในทางรูปแบบ หญิงสูงศักดิ์คนนี้เป็นคนดีเคร่งศีลธรรม แต่ในทางพฤติกรรม เธอกลับเย่อหยิ่งทะนงตน ชอบคุยทับคนอื่น ไม่เมตตา ไม่ช่วยเหลือผู้อื่น

            ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะ

            ๐ ติดกับคุณธรรม คนประเภทหนึ่ง หลังจากเข้าสู่ธรรมะระดับหนึ่งแล้ว ก็ยึดติด หยุดนิ่ง ไม่ยอมศึกษา ไม่ยอมพัฒนาตัวเองให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น แต่กลับหลงตัวเอง คิดว่าตัวเองดีเยี่ยมแล้ว ใครผิดมาตรฐานที่ตนยึดถือ ก็ผิดหมด ต้องถูกลงดาบหมด เข้มงวดกับคนอื่นมากๆ ก็ไม่มีใครอยากคบหา

            ๐ ติดเกาะไสยศาสตร์ ติดเกาะอวิชชา คนบางคนไหว้พระไหว้เจ้า ทำบุญทำทานด้วยความโลภ พวกเขาคิดว่าเมื่อทำบุญไหว้พระแล้วก็จะมีบุญ ทำให้ถูกหวยรวยหุ้น ทำมาค้าขึ้น แม้ขูดรีดเก็งกำไรก็ได้ผลงาม คนที่คิดแบบนี้ ยิ่งได้พระยิ่งทำบุญ ก็ยิ่งเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ คนที่เห็นแก่ตัวมากๆ ทำอะไรก็คิดถึงประโยชน์ส่วนตน เป็นคนไม่มีเสน่ห์ ไม่มีใครอยากคบหา

            ดังนั้น พระอาจารย์เซนจึงชี้แนะหญิงฆราวาสคนนั้นให้เข้าสู่ทางธรรมด้วยการ คิดดี พูดดี ทำดี นี่เป็นธรรมะง่ายๆ พื้นๆ ที่ดำรงอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องไปแสวงหาที่ใหน ไม่ต้องจัดฉากสร้างภาพเพราะแท้จริงแล้ว ธรรมะก็คือชีวิต ในชีวิตก็มีธรรมะ

            2. ประโยชน์ท่านคือต้นธารประโยชน์ตน

             มีคำกล่าวว่า " ผู้มีสติดีๆ นั้นย่อมต้องทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง " " การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนนั้นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ " คำพูดเหล่านี้ไม่ผิด เพียงแต่เรามักเข้าใจคิดว่า ประโยชน์ตนต้องเป็นปฏิปักษ์กับผู้อื่น การทำเพื่อประโยชน์ตนจึงหมายถึงการฟาดฟันผู้อื่นให้ล้มลง

             ความจริง การทำเเพื่อประโยชน์ตนไม่ได้หมายถึงการทำความเห็นแก่ตัว แต่หมายถึงการทำอะไรที่มันดีๆ มีประโยชน์แบบที่สังคมยอมรับ ศาสนาพุทธสอนให้มนุษย์พึ่งตัวเอง หมั่นศึกษาหาความรู้ พัฒนาตนเองให้มีปัญญา เป็นที่พึ่งของตนเองได้ นี่แหละประโยชน์ตน

             มนุษย์เป็นสัตว์สังคม หากสังคมส่วนรวมดี ได้ประโยชน์ ส่วนตนย่อมดี ได้ประโยชน์ไปด้วย ดังภาษิตที่ว่า " แม่หมูอ้วนพี ลูกหมูก็อ้วนตาม " การทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น เพื่อสังคมส่วนรวม จึงเป็นต้นธารของการทำประโยชน์ส่วนตน นี่คือทัศนะแบบ วิน - วิน ชนะทั้งคู่ ไม่ต้องฟาดฟัน ไม่ต้องทำลายล้างใครให้ย่อยยับ






By สุภาพร  ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )

         

No comments:

Post a Comment