Thursday, November 22, 2012

ตัณหา

ตัณหา

          ตัณหา คือ ความอยาก ความต้องการ เป็นกิเลสประเภทที่ 3 ที่ก่อให้เกิดทุกข์ ตัณหาแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ กามตัณหา ภวตัณหาและวิภวตัณหา ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ตัณหาทั้งสามประเภทนี้จะมีอยู่เป็นสามัญอย่างครบถ้วนในชีวิตประจำวันของปุถุชน แต่จะเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเราลองพิจารณาการทำงานของจิตใจในส่วนลึก เริ่มแต่มนุษย์ไม่รู้ไม่เข้าใจและไม่รู้จักมองสิ่งต่างๆ ทั้งหลายในรูปของกระบวนการแห่งความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยต่างๆ ตามธรรมชาติจึงเกิดความคิดปรุงแต่งแต่ว่ามีตัวตนอยู่ในรูปแบบใดแบบหนึ่ง ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดความอยากความต้องการใหักับตนเอง อยากที่จะมีอยากที่จะเป็น อยากที่จะอยู่ อยากปกป้องเก็บรักษาไว้เป็นของตนเองตามอำนาจแห่งความหลงผิดหรืออวิชชา ความอยากเป็น อยากอยู่ จึงสัมพันธ์กับความอยากมี ตัณหาจึงเป็นความอยากในภพ ในภาวะเพื่อเสพสุขเวทนาสนองความต้องการของตนต่อไป ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ความอยากในภพขึ้นอยู่กับความอยากที่จะมี และความอยากมีนี้จะเพิ่มความอยากในภพติดต่อกันไปเป็นลูกโซ่เสมอ



          เมื่อแรงแห่งตัณหาเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้มีผลตามมา เช่นเมื่อไม่สามารถสนองความอยากตามที่ต้องการได้ ภายในจิตใจก็จะเกิดภพหมายถึงสภาวะหรือสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ทนไม่ได้หรือรับไม่ได้ อยากจะให้ผ่านให้พ้นสูญดับเพื่อแสวงหาสภาวะที่ตนอยากต่อไป ความอยากได้ อยากอยู่ อยากเป็น จึงหมุนเวียนไปตลอดชีวิตประจำวันของมนุษย์ปุถุชนทำให้เกิดทุกข์ครั้งที่สองครั้งทีสามเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตราบที่ความอยากในรูปแบบต่างๆ เหล่านั้นยังไม่สามารถสนองความต้องการ นี่คือธรรมชาติของตัณหาซึ่งเป็นธรรมชาติของกิเลสที่มีอยู่ในมนุษย์ปุถุชนที่แสวงหาสิ่งสนองความต้องการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไล่ย้อนกระบวนการนี้ต่อไปอีก จะพบว่า กิเลสตัณหาของมนุษย์ปุถุชนอย่างเราท่านเกิดจากอวิชชา ไม่รู้ ไม่เข้าใจ ในสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น จึงตกอยู่ในมิจฉาทิฏฐิสองประการคือคิดว่ามีความยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป หรือไม่ก็เห็นว่าสิ่งทั้งหลายแตกดับสิ้นสลายไป จึงก่อให้เกิดความผิดหวังนำไปสู่กองแห่งทุกข์ทั้งหลายนั่นเอง





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment