Saturday, November 03, 2012

ปฏิจจสมุปบาท

ปฏิจจสมุปบาท

          ปฏิจจสมุปบาท จัดเป็นพุทธรรมลึกซึ้งที่จำเป็นต้องใช้ปัญญา ในการทำความเข้าใจอย่างมากที่สุดในกระบวนคำสอนของพระพุทธองค์  เป็นความลุ่มลึกยากต่อความเข้าใจและการตีความในวงจรอันประกอบด้วยปัจจัยที่ก่อให้เกิดทุกข์ 12 ประการ ดังจะสังเกตุได้จากการที่พระพุทธองค์ตรัสเตือนไว้ไม่ให้ประมาทในหลักธรรมข้อนี้ ที่พระอานนท์เคยอุทานว่าเป็นหลักเหตุผลที่เข้าใจง่ายดังนี้

          " น่าอัศจรรย์ ไม่เคยมีมาก่อนพระเจ้าข้า หลักปฏิจจสมุปบาทนี้ ถึงจะเป็นธรรมที่ลึกซึ้ง และปรากฏเป็นของลึกซึ้งแต่ก็ยังปรากฏแก่ข้าพระองค์ แต่ก็ยังปรากฏแก่ข้าพระองค์เหมือนเป็นธรรมง่ายๆ "

          " อย่ากล่าวอย่างนั้น อานนท์ อย่ากล่าวอย่างนั้น ปฏิจจสมุปบาท นี้เป็นของลึกซึ้ง เพราะไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่แทงตลอด หลักธรรมข้อนี้แหละ หมู่สัตว์นี้จึงวุ่นวายเหมือนเส้นด้ายที่ขอดกันยุ่ง จึงขมวดเหมือนกลุ่มเส้นด้ายที่เป็นปม จึงเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้องจึงผ่านพ้น อบาย ทุคติ วินิบาต สังสารวัฏ ไปไม่ได้เลย "

           หากเราเชื่อว่า ชีวิตคือทุกข์ การอธิบายวงจรปฏิจจสมุปบาทซึ่งเป็นคำสอนที่จัดได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญทางพุทธศาสนา จะเป็นคำตอบของการเกิดดับแห่งทุกข์ ในวงจรชีวิตได้ดีที่สุด

           ปฏิจจสมุปบาท เป็นแก่นคำสอนที่กล่าวถึงความเป็นเหตุปัจจัยต่อกันระหว่างธรรมนิยาม ที่มีต่อกระบวนการเกิดดับแห่งทุกข์ของมนุษย์ ที่อธิบายให้เห็นเกี่ยวกับเหตุปัจจัย 12 ประการที่สัมพันธ์กันเป็นวงจร ที่พุทธศาสนายืนยันในความไม่มีมูลการณ์แลไม่มีผู้สร้างดังเช่นในศาสนาอื่นๆ

           ตามปกติ การอธิบายวงจรปฏิจจสมุปบาท อาจเริ่มต้นจาก เหตุ คือ อวิชชา แบบสมุทัยวารไปยัง ผล หรืออาจอธิบายย้อนกลับจากผล คือกองทุกข์มาหา เหตุ ตามแบบนิโรธวารก็ได้


           ในการอธิบายแบบแรก อรรถกถาจารย์มักเริ่มด้วยการยกเอาอวิชชา เป็นปัจจัยต้น โดยกล่าวว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะ จึงมี เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมีเพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ จึงมี ความโศก คร่ำครวญ ทุกข์โทมนัส และความคับแค้นใจ จึงมีพร้อม อันเป็นการเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งปวง

           หรืออาจจะอธิบายวงจรปฏิจจสมุปบาทจากปัยจัยทั้ง 12 อย่างดังนี้

           1. เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดสังขาร ( กรรม )
           2. เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงเกิดวิญญาณ
           3. เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงเกิดนามรูป
           4. เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงเกิดสฬายตนะ
           5. เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงเกิดผัสสะ
           6. เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา
           7. เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหา
           8. เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงเกิดอุปาทาน
           9. เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงเกิดภพ
          10. เพราะภพเป็นปัจจัย จึงเกิดชาติ
          11. เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงเกิดมี ชรา มรณะ และมวลแห่งทุกข์ทั้งหลาย

          นี่คือวงจรที่ก่อให้เกิดการเวียนว่ายตายเกิดแห่งวงจรชีวิต ( ในแง่การทำงานของจิต ) ในการอธิบายแบบนิโรธวาร อาจจะขยายความหมายของวงจรปฏิจจสมุปบาทให้เห็นได้ชัดยิ่งขึ้น เช่น เมื่อ หมดสิ้นแห่งอวิชชา ( อวิชชาดับ ) กล่าวคือรู้แจ้งในสัจธรรม ย่อมทำให้ไม่มีการปรุงแต่งความคิดและพฤติกรรมที่เป็นไปตามกิเลสที่สะสม ( สังขารดับ ) ต่อไปจะทำให้สภาพจิตที่เป็นตามการปรุงแต่งนั้นไม่เกิดขึ้น ( วิญญาณดับ ) ซึ่งก็จะนำไปสู่การไม่เกิดรูปและนามที่จะต้องสนองตามจิตใจที่ถูกปรุงแต่ง ( นามรูปดับ ) ทะให้อายตนะทั้ง 6 พลอยไม่ตอบสนองสภาพเช่นนั้นด้วย ( สฬายตนะดับ ) เป็นผลให้การรับรู้สภาพเช่นนั้นพลอยดังลงด้วยเช่นกัน ( ผัสสะดับ ) ทำให้ล่วงพ้นความรู้สึกสุขทุกข์ที่สืบเนื่องมาจากการปรุงแต่ง มีแต่สุขทุกข์ที่ตรงตามสภาพ ( เวทนาดับ ) ปราศจากความอยากได้ใคร่มี ( ตัณหาดับ ) ไม่ยึดติดกับสิ่งใด ( อุปาทานดับ ) ทำให้พฤติกรรมดำรงชีวิตอยู่เหนือการยึดมั่นถือมั่น ( ภพดับ ) โดยไม่มีตัวผู้ครอบครองออกรับเป็นเจ้าของชีวิตนั้น ( ชาติดับ ) เป็นผลทำให้หลุดพ้นจากการถูกกระทบกระแทก ผันผวนปรวนแปร เสื่อมสลาย ( ชรามรณะดับ ) ไม่มีความโศรกเศร้าแห้งเหี่ยวใจ ไม่มีความทุกข์ระทม เสียใจ คับแค้น ผิดหวัง และในที่สุด ทุกข์ทั้งหลายย่อมดับสิ้นลงนี่คือการอธิบายวงจรปฏิจจสมุปบาทในทางดับทุกข์ ( นิโรธวาร ) ซึ่งเป็นการอธิบายกลับกันกับแบบแรกที่กล่าวในลักษณะที่มีการอาศัยกันเกิดขึ้นของวงจรแห่งทุกข์ ( สมุทัยวาร )

           การอธิบายตามหลักปฏิจจสมุปบาท แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกันแห่งเหตุปัจจัยที่ยืนยันในกฏไตรลักษณ์ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายไม่ยืนยงคงอยู่ ไม่มีตัวตน และไม่มีผู้สร้างผู้บันดาล

           สำหรับ " ปัจจัย " ทั้ง 12 อย่างอาจจะให้คำนิยามเพื่อพอเป็นที่เข้าใจดังนี้

           อวิชชา หมายถึง ความไม่รู้ โดยเฉพาะไม่รู้ไม่เข้าใจในสภาวธรรมต่างๆ เช่น อริยสัจ เป็นต้น

           สังขาร หมายถึง เจตจำนง ความคิดปรุงแต่งในการที่จะกระทำหรือไม่กระทำกรรม

           วิญญาณ หมายถึง การรับรู้ การจำได้หมายรู้ อันเกิดจากปฏิกิริยาของประสาทสัมผัสทั้ง 6 ที่มีต่อวัตถุและอารมณ์

           รูป และ นาม หมายถึง ร่างกาย และจิตใจ ที่รับรู้ใน เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ

          สฬายตนะ หมายถึง อวัยวะที่รับการสัมผัส คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ

          ผัสสะ ได้แก่ สัมผัส ความรู้สึก ที่เกิดจากสฬายตนะ

          เวทนา หมายถึง อารมณ์ ที่เกิดจากผัสสะ

          ตัณหา หมายถึง ความอยาก ความใคร่ ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์

         อุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่นในกาม ได้แก่ รูปรส กลิ่น เสียง กายสัมผัส ความยึดมั่นในความเห็น ในลัทธิ ในทฤษฎีต่างๆ ความยึดมั่นในศีลในพรต โดยเชื่อว่าจะทำให้ตนบริสุทธิ์ได้ และความยึดมั่นในการถืออัตตา สร้างตนขึ้นมายึดถือไว้ด้วยความหลงผิด

          ภพ หมายถึง สภาวะทั้งสามได้แก่ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ

          ชาติ หมายถึง ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลาย ที่ได้มาจากอายตนะต่างๆ หรือหมายถึง ความเกิดปรากฏขึ้นของธรรมที่เป็นปัจจัยต่างๆ เหล่านั้น

          ชรา มรณะ หมายถึง ความเสื่อม ความสลายแห่งขันธ์ ความขาดอินทรีย์

          ในหนังสือพุทธธรรม ท่านพระธรรมปิฏก กล่าวว่าการตีความวงจรปฏิจจสมุปบาทที่อธิบายไว้ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ คือคัมภีร์อรรถกา จะอธิบายวงจรนี้ในลักษณะเป็นการเกิดดับแห่งสภาวะธรรมในจักรวาล แบบที่ชวนให้เข้าใจว่ามีผู้สร้าง โดยอธิบายถึงหตุและผลในการเกิดดับในลักษณะชาติก่อน ชาตินี้ ชาติหน้า ส่วนในคัมภีร์พระอภิธรรม จะอธิบายวงจรปฏิจจสมุปบาทในลักษณะของการเกิดดับของเหตุปัจจัยแห่งทุกข์ ณ เวลาปัจจุบัน ตราบที่จิตใจของมนุษย์เรายังเต็มไปด้วยกิเลส อันได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ย่อมก่อกรรมดี กรรมชั่ว และที่เป็นกลางๆ โดยมีผลแห่งกรรมปรากฏในเวลาต่อมา ซึ่ง ( ผู้เขียน ) มีความเห็นว่าเป็นการอธิบายที่เข้าใจง่ายและเป็นเหตุเป็นผลสอดคล้องกับหลักอนัตตาตามกฏไตรลักษณ์ได้ดีและมีเหตุมีผลกว่าการอธิบายแบบข้ามภพข้ามชาติตามแบบแรก

           หากพิจารณาตามคำอธิบายในพระอภิธรรม กระบวนการแห่งปฏิจจสุมปบาทปฏิเสธแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องมูลการณ์หรือผู้สร้างโลกไว้อย่างชัดเจน ปัจจัยในปฏิจจสมุปบาททั้งสิบสองข้อที่ปฏิสัมพันธ์กันเป็นวงจร แสดงถึงการปรุงแต่งอันเนื่องมาจากเหตุปัจจัย ต่างสัมพันธ์ต่อเนื่องและอาศัยซึ่งกันและกันตามกฏแห่งเหตุปัจจัย จึงไม่สอดคล้องและค้านกับความเชื่อในเรื่อง " มูลการณ์ " ที่มีผู้ตีความที่ส่อแสดงว่ามีผู้สร้างโลก

            การอธิบายวงจรปฏิจจสมุปบาทตามแบบที่แสดงไว้ในคัมภีร์พระอภิธรรม ชี้ให้เห็นถึงการสิ้นสุดในวังวนแห่งสังสารวัฏในชีวิตปัจจุบันเมื่อมีการกำจัดกิเลส คือตัวโมหะหรืออวิชชา ก็จะทำให้การประกอบกรรมสิ้นสุดลง และเมื่อหยุดการประกอบกรรม เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่ประกอบกันเข้ากับรูปก็จะสิ้นสุดลงด้วย

            วัตถุประสงค์ในการแสดงธรรมเกี่ยวกับวงจรปฏิจจสมุปบาท ก็เพื่อต้่องการอธิบายถึงการเกิดและการดับแห่งทุกข์ และเมื่อเราสามารถทำความเข้าใจในพุทธธรรมข้อนี้แล้ว ก็จะทำให้เราเข้าใจถึงการการเกิดดับในวัฏสงสาร พ้นจากบ่วงพันธนาการแห่งทุกข์ เป็นอิสระปลดปล่อยพ้นจากการพึ่งพิงอยู่อย่างเป็นนายของตัวเอง อันจะเป็นทางนำเข้าสู่กระแสแห่งนิพพาน






By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment