Monday, December 10, 2012

อธิศีลสิกขา

อธิศีลสิกขา

            อธิศีลสิกขา หมายถึง ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมความประพฤติให้สูงยิ่งขึ้น ก่อนที่จะเข้าถึงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติเกี่ยวกับศีลตามทางสายกลาง ( มัชฌิมาปฏิปทา ) แห่งมรรค 8 ขอให้เราได้ทำความเข้าใจความหมายของคำว่า บุญ กุศล กับคำว่า บาป หรือ อกุศล ในความหมายที่แท้จริงอันถือว่าเป็นเกณฑ์จริยธรรมในทางพุทธศาสนาเสียก่อนดังนี้

บุญ และ บาป 

             บุญ และ บาป เป็นความหมายเกี่ยวกับเกณฑ์ในการวัดคุณค่าจริยธรรมในทางพุทธศาสนา แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของความดี คือ บุญหรือกุศล กับ ความชั่ว คือ บาปหรืออกุศล เป็นเรืองที่เกี่ยวพันกันกับเรื่องของวิญญาณและเจตสิก ซึ่งเป็นต้นตอของการประกอบกรรมโดยทาง กาย วาจา และใจ ผู้รู้ทางพุทธศาสนานิยามคำว่า บุญ หรือ กุศล ว่า คือผลจากการกระทำที่ก่อให้จิตมีลักษณะ 4 ประการ ดังนี้

             1. อโรคยา              จิตที่ดีปราศจากโรคภัยเบียดเบียน

             2. อนวัชชะ              จิตที่สะอาด ไม่แปดเปื้อนมัวหมองด้วยกิเลส

             3. โกศลสัมมภูต       จิตที่ได้รับการอบรม ประกอบด้วย ปัญญา ความรู้

             4. สุขวิบาก              จิตที่เป็นสุขและผ่องใส อัรเกิดจากผลของการกระทำกรรม

             ในทำนองเดียวกัน บาป หรือ อกุศล ก็คือผลของการกระทำที่ก่อให้คุณภาพของจิตในทางตรงข้าม เช่น จิตที่อ่อนแอ ไม่สมบูรณ์ เป็นอันตราย เต็มไปด้วยอวิชชา อันเป็นผลทำให้เกิดทุกข์


             ดังนั้น คำว่า บุญ กุศล หรือ กรรมดี จึงหมายถึงสภาวะของจิตที่มีคุณภาพ ส่วนกรรมชั่ว หรือบาป หมายถึงสภาพจิตที่เสื่อมหรือไร้คุณภาพ ดังมีคำนิยามในพระอภิธรรมดังนี้

             " อัตตโน สันตานัง ปุนาติ โสเธตีติ ปุญญัง - การกระทำใดที่ชำระสันดานตนให้ขาวสะอาด ย่อมได้ชื่อว่า บุญ "

             บาป คือผลที่เกิดจากกรรมชั่ว คือ จากทางกายกรรม 3 ประการได้แก่การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต การลักขโมย และการประพฤติผิดทางเพศจากทางวจีกรรม 4 ประการ คือ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดหยาบ ก้าวร้าว และพูดไร้สาระ และจากมโนกรรม 3 ประการ ได้แก่ อภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งตรงกับอกุศลมูลที่เรียกว่า โลภะ โทสะ และ โมหะ

             บุญ คือผลที่เกิดจากการประกอบกุศลกรรมด้วยการกระทำซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอกุศลกรรม 10 ประการ กล่าวคือ 3 ประการเกิดจากทางกายกรรม คือ เว้น จากการปลงชีวิต การลักขโมย และการประพฤติผิดในกาม 4 ประการอันเกิดจากวจีกรรม คือ เว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียด และ พูดเพ้อเจ้อ และ 3 ประการเกิดจาก มโนกรรม คือ อนภิชฌา ไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น อพยาบาท ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น และ สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ

             การที่มีผู้วิจารณ์จริยธรรมทางพุทธศาสนาว่า เป็นการสอนแบบห้ามเฉพาะในทางลบนั้น หากเราได้พิจารณาให้ละเอียดสักหน่อยจะพบว่า กุศลกรรมบถ 10 พระพุทธองค์ทรงนำมาสอนจะมีทั้งการห้ามกระทำชั่วร่วมกับการสอนให้กระทำดีอยู่ด้วยเสมอ เช่น

              1. สอนให้ละจากการฆ่า การเบียดเบียน พร้อมกับสอนให้มีเมตตากรุณา ช่วยเหลือเกื้อกูลซึงกันและกัน

              2. สอนให้เว้นจากการลักขโมย ทั้งยังสอนให้เคารพในกรรมสิทธิ และทรัพยากรของผู้อื่น

              3. สอนให้ละจากการประพฤติผิดไม่ล่วงละเมิดทางเพศ พร้อมกันนั้นควรควบคุมอารมณ์ของตนเองให้อยู่ในศีลในธรรม

              4. สอนให้เว้นจากการพูดเท็จ และรักษาสัจวาจา

              5. สอนให้เว้นจากการพูดส่อเสียด ส่งเสริมความดีงาม ความสมัครสมานสามัคคีระหว่างสมาชิกในองค์การหรือในสังคม

              6. สอนให้เว้นจากการพูดคำหยาบกระด้าง แต่พูดด้วยความสุภาพอ่อนโยน

              7. สอนให้เว้นจากการพูดไร้สาระ พูดแต่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์มีเหตุมีผลต่อผู้ฟัง และเหมาะสมตามกาละและเทศะ

              8. สอนให้เว้นจากการคิดละโมบ เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น แต่สอนให้คิดที่จะเผื่อแผ่ เช่น การทำบุญให้ทาน

              9. สอนให้ไม่มีจิตคิดเบียดเบียน แต่ให้แผ่เมตตาและส่งความปราถนาดีให้ผู้อื่นเป็นสุขปราศจากทุกข์ทั้งปวง

              10. มีความเห็นชอบ ทำความจริงให้กระจ่าง สร้างความเชื่อความศรัทธาที่ถูกต้อง เข้าใจในกฏแห่งกรรม  และเชื่อในผลที่จะเกิดจากกุศลกรรมและอกุศลกรรม

              กุศลจิตที่เกิดจากกุศลกรรมที่เห็นเด่นชัดได้แก่ จิตที่เป็นสมาธิ มีสติ สงบ อ่อนน้อม ถ่อมตน อยากที่จะทำกรรมดี ( กุสลาฉันทะ ) ปีติในธรรม และมองเห็นในความจริงสูงสุด กุศลกรรมบถทั้งสิบซึ่งประกอบด้วยการกระทำ ทั้งทาง กาย วาจา ใจ เหล่านี้ สามารถเพาะบ่มได้จากการประพฤติปฏิบัติจามทางแห่งไตรสิกขาในข้อศีล





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment