Thursday, November 22, 2012

อย่าเอามา... ทำให้เราทุกข์

ใหญ่แค่ใหนก็หนีไม่พ้นความตาย

          ท่านเต้าซิ่นเห็นพระที่ศึกษาเซนทีหลังตนมีความก้าวหน้าทางธรรมมากกว่าตน ก็ร้อนใจ คิดในใจว่า " เราคงจะเอาดีทางเซนไม่ได้ ออกธุดงค์เป็นพระป่าดีกว่า " คิดเช่นนี้แล้ว ท่านเต้าซิ่นก็เก็บสัมภาระ เตรียมเดินทางไกล ก่อนออกเดินทาง เขามาล่ำลาพระอาจารย์ก่วงหวี่

          ท่านเต้าซิ่วกล่าวว่า " อาจารย์ ศิษย์ไม่เอาไหนจริงๆ ศึกษาธรรมกับท่านสิบกว่าปี แต่ไม่เข้าใจธรรมมะแม้แต่น้อย ศิษย์จึงตัดสินใจออกธุดงค์ "

          ท่านก่วงหวี่ตกใจมาก กล่าวว่า " อยู่ที่นี่ไม่บรรลุธรรม ไปที่อื่นจะบรรลุธรรมกระนั้นหรือ "

          ท่านเต้าซิ่นกล่าวว่า " ศิษย์ทุ่มเทกายใจศึกษาธรรมมะอย่างจริงจังแต่ขยันไปก็เท่านั้น วาสนาไม่ให้ เพื่อนๆ ที่ศึกษาเซนรุ่นเดียวกัน ไม่เห็นพวกเขาจะขยันอะไรมากมายนัก แต่กลับบรรลุธรรม เข้าใจเซนครั้งแล้วครั้งเล่า... ศิษย์พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว เห็นว่าควรจะลดเกรดตัวเองลง เป็นแค่พระป่าก็พอ... นี่เป็นเสียงเพรียกจากหัวใจ "

           ท่านก่วงหวี่ไดฟังเช่นนี้ จึงชี้แนะว่า " อ้อ... เป็นเสียงเพรียกจากหัวใจ ไม่รู้จะบรรยายอย่างไรดี แล้วไม่รู้ว่าจะถ่ายทอดให้คนอื่นรับรู้ได้อย่างไร ยิ่งกว่านี้ เรียนรู้ก็ไม่ได้ ร้อนใจไปก็เปล่าประโยชน์ คนอื่นก็มีสภาวะธรรมของคนอื่น เจ้าก็มีสภาวะธรรมของเจ้า คนอื่นบรรลุธรรมเจ้าไม่บรรลุธรรม จึงต้องละทิ้งอุดมการณ์ นี่มันคนละเรื่องกัน ทำไมจึงเอามาพูดรวมๆ ผสมปนเปเล่า "



           ท่านเต้าซิ่วกล่าวอย่างน้อยเนื้อต่ำใจว่า " แต่ทุกครั้งที่ศิษย์เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อนๆ ก็จะรู้สึกละอายใจ เหมือนพญาอินทรีกับนกกระจอก "

           ท่านก่วงหวี่ถามว่า " พญาอินทรีใหญ่แค่ไหน นกกระจอกเล็กแค่ไหน " 

           ท่านเต้าซิ่วตอบว่า " พญานกอิทรีกางปีกบินไกลได้หลายร้อยลี้แต่ศิษย์กางปีกบินทีอย่างเก่งรัศมีก็แค่สนามหญ้าเล็กๆ "

           ท่านก่วงหวี่ถามว่า " พญานกอินทรีกางปีกบินไกลได้หลายร้อยลี้แล้วมันบินพ้นความเป็นความตายได้หรือเปล่าเล่า "

           ท่านเต้าซิ่วนิ่งงัน เหมือนจะบรรลุธรรมบ้างแล้ว

แง่คิด

           อย่าเอาข้อด้วยของตัวเองไปเปรียบเทียบกับจุดแข็งของคนอื่น

           การเปรียบเทียบทำให้เกิดการแข่งขัน ความแข่งขันทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าเปรียบเทียบผิดหลัก ก็กลายเป็นการทำลายล้าง เกิดพลังด้านลบ ทำให้ล้าหลังเสื่อมถอยได้เช่นกัน

           ที่เปรียบเทียบผิดหลักก็เพราะเปรียบเทียบโดยขาดสติปัญญา เช่น เปรียบเทียบบุญวาสนา ชาติกำเนิด มันสมอง แข่งรวย แข่งสวย แข่งฉลาด ฯลฯ พูดง่ายๆ ก็คือ เปรียบเทียบกองกิเลสนั่นเอง ปกติกิเลสเปรียบเสมือนกองเพลิงที่ร้อนระอุอยู่แล้ว ยิ่งถกเปรียบเทียบ ก็ยิ่งเหมือนได้รับแรงพัดโหมกระพือ เพลิงกิเลสก็ยิ่งลุกโชน ยิ่งเผาลนจิตใจให้ร้อนรนทุกข์ระทม

           การเปรียบเทียบในแนวนี้ อาจเข้าข่ายปลอบใจตนเองดังนิทานเสียดสีสังคมเรื่องประวัติของอาคิวที่ท่านหลู่ซิ่นเขียนไว้ อย่างเช่นเมื่ออาคิวถูกพวกนักเลงหัวไม้ชกต่อยเตะตี อาคิวกร้องขึ้นว่า " ลูกตีพ่อ " โดยไม่พิจารณาความเป็นจริงว่า ทำไมนักเลงหัวไม้จึงไม่ไปรังแกคนอื่นที่เก่งๆ ดีๆ อาคิวไม่ยอมรับความจริงว่าตนเป็นคนไม่เอาไหน อ่อนแอ ไม่สู้คน แต่กลายเป็นยกความผิดทั้งหมดไปให้ผู้อื่น กล่าวหาว่าสังคมขาดคุณธรรม ลูกจึงตีพ่อ คนจึงรังแกคน สังคมใดมีคนอย่างอาคิวเยอะๆ สังคมนั้นย่อมอ่อนแอ

           จากนี้จะเห็นได้ว่า การเปรียบเทียบทั้งสองแนว ล้วนเป็นการเปรียบเทียบที่หลงลอยออกจากฐานของตัวเอง แล้วไปโลดเต้นบนเวทีที่คนอื่นจัดให้ เป็นการเปรียบเทียบไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงเป็นทุกข์

           นิทานเซนเรื่องนี้บอกเราว่า ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนมีข้อดี - ข้อด้อย จุดแข็ง - จุดอ่อนของตัวเอง ถ้าหากเราเอาจุดอ่อนของตัวเองไปเปรียบเทียบ เราก็จะไม่หลง ไม่ทุกข์ ไม่ท้อ ดังเช่นนกกระจอกตัวเล็กๆ ตัวหนึ่ง หากมันเอาเรี่ยวแรงของมันไปเปรียบเทียบกับพญานกอินทรี มันย่อมรู้สึกว่าตัวเองกระจอกมาก บินให้ตายก็ไกลสู้นกอินทรีไม่ได้ แต่หากเอาความเป็นจริงของชีวิตมาเปรียบเทียบ ถามว่าสุดทางชีวิต นกกระจอกกับพญานกอินทรี บินหนีความตายได้หรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่

            เพราะฉะนั้นชีวิตใครชีวิตมัน ทางใครทางมัน เปรียบเทียบทำไมให้ทุกข์ใจ เมื่อเกิดมาแล้ว ก็จงก้าวไปตามทางชีวิตของตนเองอย่างเบิกบานเถิด ในโลกของเรา บริบทของเรา มีสิ่งดีๆ ที่มีแต่เราเท่านั้นที่มองเห็นและสัมผัสได้ รอคอยเราอยู่มากมาย





By สุภาณี  ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )

No comments:

Post a Comment