Monday, October 01, 2012

ความว่าง

โพธิ์เดิมไร้ต้น

         ท่านฮุ่ยเหนิง ( เว่ยหลาง ) พระสังฆปรินายกองค์ที่ 6 เป็นคนหลิ่งหนั้น ( ปัจจุบันคือมณฑลกวางตุ้ง ) บิดาเสียชีวิตตั้งแต่เขายังเด็ก ครอบครัวยากจนมาก จึงไม่มีโอกาสได้เล่าเรียนเขียนอ่าน ท่านเว่ยหลางต้องประกอบอาชีพตัดฟืนหาเงินมาเลี้ยงดูมารดา

         วันหนึ่ง ท่านเว่ยหลางเดินผ่านนิกายเซน ได้ยินคำสอนเข้าฟังจบก็บรรลุธรรม จึงตัดสินใจออกจากบ้าน เดินทางไปพบท่างหงเหริ่นพระสังฆปรินายกองค์ที่ 5 ซึ่งเป็นพระอาจารย์เซนที่มีชื่อที่สุดในขณะนั้น

         ตอนที่ทั้งสองพบกันนั้น มีบทสนทนาที่น่าสนใจตอนหนึ่ง ดังนี้

         " เจ้ามาจากใหน "


         " หลิงหนัน "

         " มาทำอะไร "

         " ข้าเดินทางไกลมาเพื่อแสดงความเครพต่อพระอาจารย์ ข้าไม่หวังสิ่งใดนอกจากแสวงหาความเป็นพุทธะ "

         " เจ้ามาจากทางใต้รึ ? เป็นคนป่าคนเถื่อน จะหวังเป็ฯพุทธะได้อย่างไร "

         " คนเราแบ่งเหนืแบ่งใต้ได้ แต่ความเป็นพุทธะมีแบ่งเหนือแบ่งใต้ด้วยกระนั้นหรือ ? "

         ได้ยินคำตอบเช่นนั้น พระอาจารย์หงเหริ่นก็รู้ทันทีว่า คนผู้นี้ไม่ธรรมดา จะดูถูกกันไม่ได้ จึงรับไว้เป็นศิษย์

         ไม่นานต่อมา มีการคัดเลือกผู้สืบทอดตำแหน่งพระสังฆปรินายกรุ่นต่อไป ท่านหงเหริ่นเรียกลูกศิษย์ลูกหาทั้งหมด 700 กว่าคนมาชุมชนุม

         ท่านหงเหริ่นกล่าวว่า " มนุษย์เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะไม่รู้จบสิ้น แทนที่จะพยายามปลดปล่อยตัวเองออกจากวงจรความทุกข์แห่งการเวียนว่ายตายเกิด ทุกคนกลับพยายามที่จะประกอบความดี ( กรรมดีก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเวียนว่ายตายเกิด ) กรรมดีจะช่วยได้อย่างไรในเมื่อใจยังขุ่นมัว จงแสวงหาปัญญาในจิตใจ แล้วจงเขียนโศลกบทหนึ่งมาส่ง ผู้ที่เข้าใจในสิ่งนี้จะได้รับมอบจีวร บาตร สังฆาฏิ เป็นผู้สืบทอดรุ่นต่อไป "

         เหล่าลูกศิษย์ต่างบอกว่าตนไม่คิดจะเขียนโศลก ผ้ที่จะเป็นสังฆปรินายกรุ่นต่อไปได้นั้นจะต้องเป็ฯพวกอาจารย์หรือหัวหน้าสงฆ์เท่านั้น ในบรรดานี้ ก็เห็นแต่ศิษย์เสินซิ่วศิษย์เอกที่มีอาวุโสที่สุดเท่านั้นที่เหมาะสม ท่านมีความรู้กว้างขวาง แตกฉานในพุทธธรรม น่าจะได้เป็นผู้สืบทอดรุ่นที่ 6

         ดังนั้น ท่านเสินซิ่วจึงเป็นผู้เดียวที่เขียนโศลกส่งพระอาจารย์หงเหริ่น

         ท่านเสินซิ่วรู้สึกกดดันมากที่ต้องสดงความสามารถให้เป็นที่ยอมรับให้ได้ในฐานะผู้สืบทอดรุ่นต่อไป จึงเขียนบทโศลกไว้บนกำแพงในตอนกลางดึก โศลกบทนั้นมีใจความว่า

         ร่างกายคือต้นโพธิ์ จิตใจคือกระจกใส

         ต้องขยันหมั่นเช็ดหมั่นถู มิให้ฝุ่นคลีเกาะเขรอะ

         ความหมายของโศลกบทนี้ก็คือ จิตเดิมแท้ของเรานั้นสะอาด บริสุทธิ์ ใสดังกระจกใส เพียงแต่ว่า เรามักจะปล่อยให้กิเลสตัณหาที่เปรียบประดุจฝุ่นคลีมาปกคลุมกระจกใสบานนั้น เพื่อที่จะฟื้นฟูความใสสะอาดของจิตเดิมแท้ เราจึงต้องหมั่นขัดเกลาจิตเดิมแท้ให้ใสสะอาดอยู่เสมอ

         เมื่อเหล่าลูกศิษย์เห็นกวีบนกำแพงเข้า ก็ฮือฮากัใหญ่

         ท่านหงเหริ่นทราบเข้า ก็เรียกบรรดาลูกศิษย์ลูกหามาสั่งสอนว่า " จงฝึกตนตามบทกวีนี้ พวกเจ้าจะได้รับผลดีมากมาย "

         คำพูดของท่านหงเหริ่น เป็นการให้เครดิตแก่โศลกบทนี้ บรรดาลูกศิษย์ลูกหต่างเคารพนับถือและท่องกวีบทนี้ราวกับเป็นยันต์ศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วยให้พวกเขาบรรลุธรรม

         แต่เมื่ออยู่ตามลำพัง ท่านหงเหริ่นกลับพูดกับท่านเสินซิ่วว่า " เจ้าเดินทางมาถึงประตูแล้ว แต่ยังไม่ได้ก้าวเข้าไป ความเข้าใจในระดับนี้แสดงว่าเจ้ายังไม่รู้อะไรคือโพธิ์ตามคำสอนของข้า เจ้ายังไม่เข้าใจจิตเดิมแท้อันเป็นหลักสำคัญของธรรมชาติ เมื่อจิตเป็นอิสระจากอุปสรรคทั้งปวง ความจริงจะเป็นหนึ่งเดียว ทุกสิ่งคือสัจธรรม ทุกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือตถาตา ( มันเป็นเช่นนั้นเอง ) "

         ท่านหงเหริ่นขอให้ท่านเสินซิ่วเขียนกวีอีกบทหนึ่งเพื่อทดสอบความเข้าใจ ท่านเสินซิ่วพยายามอย่างหนัก แต่ก็ยังไม่สามารถก้าวข้ามไปได้

         ต่อมา ท่านฮุ่ยเหนิงผ่านมา เห็นบทโศลกของท่านเสินซิ่ว ท่านฮุ่ยเหนิงก็รู้ทันทีว่า โศลกบทนี้ยังไม่เข้าถึงความจริงแท้บางอย่างจึงเดินไปที่กำแพงและขอให้ผู้คุมวัดเขียนบทโศลกให้ท่านบทหนึ่ง

        ผู้คุมวัดอุทานอย่างแปลกใจ " เจ้าเขียนหนังสือไม่เป็น แต่เจ้าต้องการเขียนโศลก อย่างนั้นหรือ ? "

        ท่านฮุ่ยเหนิงตอบว่า " หากท่านคิดจะแสวงหาสัจธรรมสูงสุด ก็จงอย่าดูหมิ่นคน ชนชั้นที่ต่ำที่สุดอาจมีปัญญาที่เฉียบแหลมที่สุด เช่นเดียวกับที่ชนชั้นที่สูงที่สุดก็อาจทำอะไรโง่ๆ ก็ได้ "

        ผู้คุมวัดจึงเขียนบทโศลกท่านฮุ่ยเหนิงไว้ข้างๆ บทโศลกของท่านเสินซิ่วว่า

        โพธิ์เดิมไร้ต้น  กระจกใสหามีไม่

        สรรพสิ่งคือความว่าง  ฝุ่นคลีจับสิ่งใด ?

        บทโศลกของท่านฮุ่ยเหนิงมีความหมายว่า " โลกนี้คือความว่างทุกสิ่งเกิดจากจิตปรุงแต่ง ความดี ความชั่ว เป็นกฏสมมติ ถ้าหากว่าจิตเดิมแท้ใสกระจ่างแล้วไซร้ กิเลสตัณหาใดๆ ก็กล้ำกรายไม่ได้ เมื่อไม่มีกิเลสตัณหา ไยต้องไปขัดถูมันให้เหนื่อยยาก "

        ท่านฮุ่ยเหนิงเห็นว่าการชำระจิตให้สะอาด จะทำให้คนเราสับสนเปล่าๆ เพราะเดิมจิตขอมนุษย์นั้นเดิมทีก็ไร้จิต จึงไม่จำเป็นต้องไปทำอะไรกับมัน การพยายามชำระจิต จะทำให้จิตแปดเปื้อนเสียความบริสุทธิเปล่าๆ มิสู้ปล่อยให้จิตโลดแล่นไปอย่างอิสระ ไม่ต้องไปหมกมุ่นกับกฏเกณฑ์ปลอมๆ ความบริสุทธิ์ปลอมๆ ความใสกระจ่างปลอมๆ

        เป็นโศลกที่แทงทะลุใจคนจริงๆ บทโศลกนี้ก่อให้เกิดความฮือฮายิ่งกว่าของท่านเสินซิ่วเสียอีก ใครๆ ก็พูดว่า " อัศจรรย์จริงๆ เราไม่อาจตัดสินคนจากรูปลักษณ์ภายนอกได้ บางทีเขาอาจจะบรรลุโพธิสัตว์ในเร็ววันนี้ก็ได้ "

        ท่านหงเหริ่นอ่านบทกวีนี้แล้ว ก็ให้รู้สึกชื่นชม แต่ก็ยังกล่าวอย่างระมัดระวังว่า " นี่ยังไม่พบสัจธรรมที่แท้อีกหรือ "

        พูดจบก็ใช้รองเท้าลบบทโศลกบทนั้นทิ้ง

        คืนวันต่อมา ท่านหงเหริ่นเรียกท่านฮุ่ยเหนิงเข้าพบ แล้วอธิบายคำสอนในคัมภีร์วัชรปรัชญาปารมิตาสูตรแก่ท่านฮุ่ยเหนิงว่า " จงทำจิตให้เป็นอิสระหลุดพ้นการยึดติดทั้งปวง "

        เพียงคำพูดนี้ ท่านฮุ่ยเหนิงก็บรรลุธรรมขั้นสูง ท่านหงเหริ่นจึงส่องมอบจีวรสังฆาฏิและบาตรของสัมมาสัมพุทธเจ้าอันเป็นสัญลักษณ์ของสังฆปรินายกให้กับท่านฮุ่ยเหนิง

         แต่ท่านฮุ่ยเหนิงก็ไม่คิดจะประกาศตนเป็นสังฆปรินายกรุ่นที่ 6 เนื่องจากเกรงว่าพระภิกษุรุ่นพี่จะไม่พอใจ ท่านหงเหริ่นได้แต่กำชับกำชาให้ท่านฮุ่ยเหริ่นเร้นกายไปอยู่ที่อื่น รอให้โอกาสสุกงอมเสียก่อนจึงกลับมาเผยแพร่พระธรรม

แง่คิด

        ในโลกนี้ ไม่มีใบไม้ที่เหมือนกันเปี๊ยบ

        โศลกสองบทนี้ แสดงความรับรู้ที่แตกต่างกันของคนสองคนขณะเดียวกันก็เป็นตัวแทนของความคิดที่แตกต่างกันสองชนิด

         ท่านเสินซิ่วเห็นว่าต้องหมั่นขัดเกลาจิตใจของตนเองให้สะอาดอยู่เสมอ ในขณะที่ทานฮุ่ยเหนิงเห็นว่าต้องปล่อยจิตให้เป็นอิสระ อย่าเอาความคิดมาปรุงแต่ง กฏเกณฑ์ปลอมๆ มาตกแต่งตัวเองให้ดูขลัง ดูศักดิ์สิทธิ์ เพราะนั่นไม่ใช่จิตเดิมแท้ ไม่ใช่ความจริง

         เราไม่อาจตัดสินง่ายๆ ว่า สองคนนี้ใครถูกใครผิด เพราะนี่เป็นแค่มุมมองความรับรู้ที่ต่างกันสองชนิดเท่านั้น

        ต่างมุมต่างวาระ ต่างบริบท ต่างความรับรู้ ย่อมเห็นต่าง คำพูดและการกระทำกย่อมแตกต่าง

        เปรียบเสมือนสีสองสี สีแดงกับสีเหลือง เราไม่ควรใช้ความชอบส่วนตัวไปตัดสินว่าสีใหนสวยกว่ากัน ดีกว่ากัน

         ในโลกใบนี้ไม่มีใบไม้ที่ใหนเหมือนกันเปี๊ยบ และไม่มีคนที่ใหนเหมือนกันเด๊ะ จะหาคนสองคนที่มองปัญหาเหมือนกันทุกอย่าง มีอารมณ์ขันแบบเดียวกัน เห็นคุณค่าของสิ่ง มีความชอบแบบเดียวกัน ฉลาด ขยัน อดทน มุ่งมั่นแบบเดียวกัน ใจกว้างไม่คิดเล็กคิดน้อย หรือมีวิสัยทัศน์แบบเดียวกันไม่ได้แน่ๆ แม้แต่ฝาแฝดของเรา ก็ยังไม่เหมือนกันในทุกรายละเอียด ไม่มีใครที่พูดจา น้ำเสียง ลีลาแบบเดียวกับเราทุกคำพูด ไม่มีใครมีรสนิยมเหมือนเรา ทำตัวเหมือนเรา ใช้ชีวิตแบบเดียวกับเราทุกอย่าง ไม่มีใครตกอยู่ในฐานะแบบเดียวกับเรา มีหัวอกเดียวกับเรา ผ่านประสบการณ์ชีวิตแบบเดียวกับเรา เดินทางสายเดียวกับเราทุกฝีก้าว ในโลกนี้ มีเพียงเราคนเดียวเท่านั้น มีเพียงหนึ่งเดียวไม่มีสองจริงๆ ต่อให้โคลนิ่งมา ก็ไม่ใช่เราอยู่ดี

         เพราะฉะนั้น เวลาเห็นต่างจากคนอื่น มีเรื่องกับคนอื่น จึงควรยิ้มเข้าไว้ แล้วบอกตัวองว่า " นี่เป็นเพียงใบไม้่ที่ไม่เหมือนกัน ไยต้องเอาเป็นเอาตาย เอาชนะอีกฝ่ายหนึ่งให้จงได้ "





By สุภาพร  ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )