Tuesday, October 23, 2012

เป็นไปได้



วิธีการที่ถูกต้อง

          ท่านเหลียงควนเป็นพระเซนที่มีจิตเมตตาสูงมาก วันหนึ่ง ท่านได้รับจดหมายจากทางบ้านความว่า หลานชายของท่านใช้ชีวิตอีเหละเขละขละ วันๆ เอาแต่กิน นอน เที่ยวเตร่ ไม่ทำงานทำการ ญาติโยมทางบ้านอยากให้ท่านเหลียงควนกลับบ้านสักครั้งหนึ่งเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหลานชายคนนี้ให้กลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี

           ท่านเหลียงควนจึงเดินทางกลับบ้าน
        
           คนทางบ้านจึงดีใจกันยกใหญ่ ต่างฝากความหวังไว้กับท่านเหลียงควน หวังว่าคืนนั้นท่านเหลียงควนจะใช้เวลาคืนนั้นทั้งคืนอบรมสั่งสอนหลานชายให้เป็นคนดี

           แต่ผิดคาดอย่างยิ่ง คืนนั้น ท่านเหลียงควนเอาแต่นั่งสมาธิอยู่บนเตียงทั้งคืน ไม่พูดอะไรเลยแม้แต่คำเดียว สร้างความแปลกใจแก่หลานชายจอมเกเรอย่างยิ่ง เขาคิดในใจว่า " น้าเราจะมาไม้ไหนกันนะ รอให้เราง่วงจัด ค่อยเทศนาสั่งสอน กวนประสาทให้เรานอนไม่หลับ หรือ ..." เขาคิดโน่นคิดนี่ กระสับกระส่ายทั้งคืน จนกระทั่งเช้า ท่านเหลียงควงสวมรองเท้าฟาง เตรียมเดินทางจากไป ท่านจึงหันกลับมาพูดกับหลานชายว่า


            " อาตมาแก่แล้ว มือไม้สั่นไปหมด เจ้าช่วยผูกเชือกรองเท้าหน่อยได้ใหม "

            หลานชายดีใจมาก รีบผูกเชือกรองเท้าให้หลวงน้า

            ท่านเหลียงควงพูดอย่างเมตตาว่า " ขอบใจมากนะ วัยหนุ่มสาว ช่างดีจริงๆ เจ้าดูเถิด คนเราพอแก่ตัวลง อะไรๆ ก็มีแต่เสื่อมกับทรุด แย่ลงทุกวัน ไม่เหมือนตอนหนุ่มๆ อยากทำอะไรก็ทำ เจ้าควรดูแลตัวเองให้ดี ฉวยโอกาสตอนที่ตัวเองยังหนุ่มแน่น ใช้ชีวิตให้เป็นคนดี ทำงานทำการให้เป็นหลักเป็นฐาน ไม่เช่นนั้น พอแก่ตัวลง อยากทำอะไรก็ไม่ได้ดังใจหมาย นึกเสียใจก็สายเกินไปเสียแล้ว "

            พูดจบ ท่านเหลียงควนก็เดินออกจากบ้านไป มิได้ตำหนิติเตียนพฤติกรรมแย่ๆ ของหลานชายแม้แต่คำเดียว แต่ทว่า นับแต่วันนั้น หลานชายจอมเกเรคนนั้นก็เลิกเที่ยวเตร่สำมะเลเทเมา ปรับปรุงตัวเองเสียใหม่ กลายเป็นคนละคนกับเมื่อก่อนเลย

แง่คิด

            วิธีที่เหมาะสม ความเป็นไปไม่ได้ก็เป็นไปได้

            โบราณท่านว่า " ทำถูกหลัก ทำหน่อยเดียวก็ได้ผล ทำไม่ถูกหลัก ทำจนตายก็ไม่เห็นอะไร " " ทำถูกหลัก " " ทำไม่ถูกหลัก " ก็คือวิธีการนั่นเอง

            วิธีการอบรมสั่งสอนคนนั้นมีมากมาย พ่อแม่บางคนเชื่อว่า " รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี " แต่พ่อแม่บางคนก็เห็นว่า " ไม้เรียวไม่สร้างคน มีแต่ทำลายคน " บางคนชอบใช้วิธีเผด็จการ บางคนชอบใช้วิธีประชาธิปไตย บางคนชอบสั่ง บางคนชอบโน้มน้าวจูงใจ สารพัดวิธีแล้วแต่เหตุปัจจัยสุดแล้วแต่ความเหมาะสม

            การพิจารณาถึงวิธีการที่เหมาะสมนั้น ก่อนอื่นต้องรู้เขารู้เรา ไม่ว่าจะทำอะไรก็ต้องรู้เขารู้เราจึงจะประสบความสำเร็จได้ การทำศึกสงครามเป็นเช่นนี้ การอบรมสั่งสอนลูก สอนศิษย์ สอนคนก็เป็นเช่นนี้ จะหลับหูหลับตาเอาแต่อารมณ์ตัวเองเป็นใหญ่ไม่ได้ หากหลับหูหลับตา ไม่รู้เขารู้เรา ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายหนึ่งมีสติปัญญาเช่นไร มีการศึกษาถึงขั้นไหน นิสัยใจคอเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไร ฯลฯ ส่วนเรามีความรู้ความสันทัดจัดเจนมากแค่ใหน เก่งเรื่องอะไร มีบารมีมากพอที่จะสั่งสอนเขาได้หรือไม่ ฯลฯ หากไม่พิจารณาเงื่อนไขเหล่านี้ มาถึงก็สอนๆๆ สั่งๆๆ พูดเสียเยอะแยะ ผลที่ได้อาจนิดเดียว หรือตรงข้ามกับเจตนาดังที่ตั้งไว้ก็ได้

            ดังเช่นพระอาจารย์เซนในนิทานเรื่องนี้ ท่านมีวิธีการสั่งสอนหลานที่ดีมาก แต่ละขั้นแต่ละตอนล้วนคำนึงถึงเหตุปัจจัย ล้วนเป็นวิทยาศาสตร์ ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความจริง มิได้คิดเองเออเอง วิธีแต่ละในขั้นจึงมีความเหมาะสม มีความถูกต้อง และได้ผลดีโดยไม่ต้องออกแรงมากมาย

            พระอาจารย์เซนมองออกว่า หลานชายจอมเกเรเกตุงไปตามวัย แต่ธาตุแท้ของมนุษย์นั้นมีโพธิจิต อย่างไรเสียก็สั่งสอนกันได้ ท่านจึงเมตตาเดินทางจากวัดมาให้การศึกษาหลานถึงบ้าน

            เมื่อมาถึงบ้าน ท่านก็รู้อีกว่า ตามปกติ คนเรามักเป็นโคนันทวิศาลชอบฟังคำพูดที่ไพเราะอ่อนโยน ไม่ชอบให้ใครมาตำหนิติเตียนตน โดยเฉพาะวัยรุ่นที่มีปัญหา จิตใจก็ยิ่งหวาดระแวง ซ้ำหลานชายตนก็ยังมีปัญหาช่องว่างระหว่างวัย คุยกันไม่รู้เรื่อง พระอาจารย์เซนจึงเลือกวิธีนิ่งเสีย เอาแต่นั่งสมาธิทั้งคืนโดยไม่พูดอะไรสักคำ

            " นิ่ง " ไม่ได้หมายความว่าไม่สนใจ พระอาจารย์เซนใช้การกระทำบอกให้หลานชายรู้ว่าท่านใส่ใจความประพฤติของเขามากๆ จากการที่ท่านอุตส่าห์เดินทางไกลมาเพื่อสั่งสอนเขาเป็นการเฉพาะ แต่ขณะเดียวกัน พระอาจารย์เซนก็รู้ว่า เด็กคนนี้ถูกสำทับถูกกระตุ้นจากคนในบ้านตลอดเวลาว่าหลวงน้าจะมาเทศนาสั่งสอน จิตใจเขาย่อมตั้งป้อมเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับคำเทศนาชุดใหญ่แน่นอน ดังนั้น เมื่อเผชิญหน้ากัน พระเซนจึงไม่เทศน์พูดอะไรเลยแม้แต่คำเดียว เพราะรู้ว่าพูดไปหลานชายก็ไม่ฟัง

           จนกระทั่งรุ่งเช้า หลานชายเห็นหลวงน้าอำลาจากไปโดยมิได้ว่ากล่าวตักเตือนหรือทำอันตรายอะไรตนเลย แถมยังขอร้องให้ตนช่วยผูกเชือกรองเท้าให้อีกด้วย วัยรุ่นหนุ่มก็เริ่มมีความเป็นมิตร และเปิดใจยอมรับหลวงน้า ในที่สด เขาก็มองเห็นความจริงที่หลวงน้าชี้ให้ดูว่าสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง ยามหนุ่มแน่นแข็งแรงดี อยากทำอะไรก็ทำได้ เราจึงควรกุมโอกาสทองของชีวิตช่วงนี้เอาไว้ นับแต่นั้นมา วัยรุ่นหนุ่มก็เลิกสำมะเลเทเมา ปรับปรุงตัวเองเสียใหม่ ใฝ่ดี รักการศึกษา ขยันทำงาน สมดังที่พวกผู้ใหญ่ตั้งความหวังไว้

            วิธีที่ถูกต้อง อย่าว่าแต่เรื่องเล็กๆ เลยที่ประสบสำเร็จโดยง่าย แม้แต่พระพุทธเจ้า ก็นิพพานได้เพราะเลือกใช้วิธีที่ถูกต้อง ซึ่งวิธีการที่ถูกต้องนี้เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์แขนงใหญ่แขนงหนึ่ง มีเรื่องต้องศึกษากันมากมาย แต่ถ้าสรุปสั้นๆ ก็ต้องบอกว่าวิธีการที่ถูกต้องคือการเดิน " ทางสายกลาง "





By สุภาพร  ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )
           

No comments:

Post a Comment