Wednesday, October 03, 2012

ตรง หรือ เอียง



เทพกับมาร

          สมัยที่ท่านจ้งซิ่งยังเป็นเด็กวัดคอยปรนนิบัติท่านเต้าอู๋นั้น มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านจ้งซิ่งยกน้ำชามาให้ท่านเต้่าอู๋ ท่านเต้าอู๋ชี้ไปที่ถ้วยน้ำชา แล้วถามว่า " ตรงหรือเอียง "

          ท่านจ้งซิ่งวางถ้วยชาลง ทำท่าเหมือนไม่ได้ยิน แล้วเดินมาหยุดยืนอยู่ตรงหน้าท่านเต้าอู๋ ยืนนิ่งไม่พูดไม่จา ท่านเต้าอู๋ถามซ้ำอีกครั้งหนึ่งแต่เขาก็ยังทำหูทวนลม ท่านเต้าอู๋ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ได้แต่พึมพำว่า " เอียงยังไงก็เอียง ตรงยังก็ตรง "

          ท่านจ้งซิ่งส่ายหน้า พูดว่า " ข้าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านพูด "


          ท่านเต้าอู๋ถามว่า " ทำไมล่ะ "

         ท่านจ้งซิ่งแย่งถ้วยน้ำชาจากมือท่านเต้าอู๋ ถามเสียงดังๆ กลับไปว่า " ตรงหรือเอียง "

         ท่านเต้าอู๋ถูมือไปมา หัวเราะชอบใจ พูดว่า " ดี สมแล้วที่เป็นเด็กก้นกุฏิของข้า "

         ท่านจ้งซิ่งก้มกราบท่านเต้าอู๋อย่างนอบน้อม

แง่คิด

        ใจตรง จึงวินิจฉัยได้ว่าตรงหรือเอียง

        คำว่า " ตรงกับเอียง " ของอาจารย์เซน มีความหมายว่า " สิ่งที่คนชั่วเห็นว่าถูก มันก็คือผิด สิ่งที่คนดีเห็นว่าผิด มันก็คือถูก " หมายความว่า คนจิตรมาร ต่อให้พร่ำพูดถึงธรรมะทุกวัน แต่ก็ทำได้แค่ทำลายความเชื่อมั่นของคนอื่นเท่านั้น คนจิตเทพแม้เปลือกนอกจะชอบด่าคนแต่กลับทำให้คนเข้าสู่ทางธรรมได้ ทั้งหมดนี้ล้วนขึ้นอยู่กับจิตเทพ มารในใจตน

       เหมือนอย่างฝิ่น ถ้าฝิ่นอยู่ในมือหมอ มันก็กลายเป็นยาช่วยชีวิตคน ลดความเจ็บปวดของผู้ป่วยได้ แต่ถ้าฝิ่นตกอยู่ในมือของคนชั่ว มันก็จะกลายเป็นยาเสพติดทำร้ายผู้คน ทำลายสังคมจนย่อยยับ

        คนที่คิดค้นระเบิด เริ่มแรก เขาก็ไม่มีความคิดที่ใช้ระเบิดมาเป็นอาวุธทำลายล้างมนุษยชาติดอก

        จะเห็นได้ว่า สิ่งต่างๆ เมื่อเกิดมาในโลกใบนี้ มันมิได้แบ่ง ดี - ชั่ว ผิด - ถูก เทพ - มาร มาตั้งแต่ต้น ใจคนต่างหากที่ปรุงแต่งแบ่งสรรพสิ่งตามจริตตน และนำสรรพสิ่งไปใช้ในทางที่ตนเห็นว่าถูกหรือผิด

        คำว่า " เอียงยังไงก็เอียง ตรงยังไงก็ตรง " หมายความว่า สิ่งที่ผิด ทำยังไงมันก็ผิด สิ่งที่ถูกทำยังไงมันก็ถูก คำพูดนี้อาจถูกในบางโอกาส บางบริบทเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วถูกกับผิดไม่ใช่สิ่งสัมบูรณ์ ไม่เด็ดขาดชัดเจน สิ่งที่ถูกตรีตราว่าผิดในยุคหนึ่ง ในยุคหนึ่งอาจเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามก็ได้ ดังนั้นเมื่อครั้งกาลิเลโอ บอกว่าโลกกลมนักบวชทางศาสนาในยุคนั้นต่างเห็นว่านี่เป็นทฤษฎีผิดๆ  เป็นสิ่งชั่วร้ายต้องกำจัดกาลิเลโอเสีย ความเชื่อทางการเมืองก็เช่นกัน ในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ใครที่ฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์คือ กบฏแผ่นดิน ต้องล้างผลาญให้สิ้นซาก แต่ในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ผู้ที่ฝักใฝ่ในลัทธิทุนนิยมคือตัวชั่วร้ายที่ต้องกำจัดให้สิ้นซาก ฯลฯ

         กระนั้นก็ตาม แม้ว่าบางครั้งความ ถูก - ผิด จะเป็นเพียงสิ่งสัมพัทธ์ เป็นเพียงกฏมนุษย์ แต่ ถูก - ผิด ก็ต้องมีมาตรฐาน ซึ่งมาตรฐานนี้ไม่ใช่สิ่งที่คนคนหนึ่ง หรือคนกลุ่มหนึ่งจะไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงมัน ทำลายมันได้ง่ายๆ เนื่องจากฏแห่งความ ถูก - ผิด เป็นกฏที่มวลมนุษยชาติเห็นพ้องต้องกันมานานนับหลายพันปีแล้วว่ามันควรจะเป็นเช่นนั้น

         " แม้แต่โจรก็ต้องมีจริยธรรมของโจร " คำพูดนี้สะท้อนให้เห็นว่าในใจคนเรานั้น ไม่ว่าจะดีชั่ว สูงต่ำดำขาว ก็ล้วนมีบรรทัดฐานอันหนึ่งในการแยกแยะถูกผิดชั่วดี บรรทัดฐานอันนี้เป็นตัวชี้บอกให้เรารู้ว่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร





By สุภาพร ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )

No comments:

Post a Comment