Tuesday, October 30, 2012

พุทธธรรมภาคทฤษฎี

พุทธธรรมภาคทฤษฎี
มัชเฌนธรรมเทศนา - ธรรมที่เป็นกลาง

          หลักธรรมในทางพุทธศาสนา ประกอบด้วยสองส่วน คือ มัชเฌนธรรมเทศนา กับ มัชฌิมาปฏิปทา มัชเฌนธรรมเทศนา เป็น หลักความจริงทางธรรมชาติ หรือ ธรรมที่เป็นกลาง กล่าวถึงเรื่องของชีวิต เช่น ขันธ์ 5 ไตรลักษณ์ ปฏิจจสมุปบาท อริยสัจ กฏแห่งกรรม ส่วนมัชฌิมาปฏิปทา หมายถึง ข้อปฏิบัติที่เป็นกลางตามกฏธรรมชาติ หรือ ทางสายกลางตามแนวทางแห่งอริยมรรค

           มัชเฌนธรรมเทศนาหรือธรรมที่เป็นกลางเป็นหลักคำสอนเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิ คำว่า สัมมาทิฏฐิ ในทางพุทธศาสนาหมายถึงทฤษฎีความเชื่อที่เป็นกลางๆ โดยไม่เอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่งระหว่างทฤษฎีความเชื่อที่คนทั่วไปได้รับการสอนมาจากศาสนาหรือปรัชญาอื่น ดังเช่นคำสอนในเรื่องปฏิจจสมุปบาท ซึ่งพุทธศาสนาถือว่าเป็นคำสอนหลักที่มีความสำคัญที่อธิบายความเป็นจริงแห่งธรรมชาติอย่างเป็นกลางๆ โดยไม่เอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่งตามแนวความเชื่อต่างๆ ซึ่งท่านพระธรรมปิฎกได้จัดไว้เป็นคู่ๆ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจว่า ทฤษฎีความเชื่อสุดโต่งที่พุทธศาสนาถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐินั้นมีดังต่อไปนี้



            คู่ที่หนึ่ง อัตถิกวาท ลัทธิที่เชื่อว่า สิ่งทั้งหลายมีอยู่จริง กับ นัตถิกวาท ลัทธิที่เชื่อว่า สิ่งทั้งหลายไม่มีอยู่จริง

            คู่ที่สอง สัสสตวาท ลัทธิที่ถือว่าเที่ยง กับ อุจเฉทวาท ลัทธิถือว่าขาดสูญ

            คู่ที่สาม อัตตการวาท ลัทธิถือว่า สุข ทุกข์ เป็นต้น ตนทำเอง กับ ปรการวาท ลัทธิที่เชื่อว่า สุข ทุกข์ เป็นต้น เกิดจากตัวการภายนอก

            พึงสังเกตว่า ทฤษฎีความเชื่อที่พุทธศาสนาถือว่าสุดโต่งเป็นมิจฉาทิฏฐิสองคู่หลังนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้พุทธศาสนิกชนเกิดความเข้าใจผิดและสับสนอยู่เสมอเมื่อกล่าวถึงเรื่องกฏแห่งกรรม จึงสมควรอย่างยิ่งที่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ดังที่ผู้รวบรวมจะได้นำมากล่าวไว้ในบทที่เกี่ยวกับกฏแห่งกรรมในทัศนะทางพุทธศาสนา

            ในกระบวนธรรมที่เป็นกลางทั้งหลาย ตามคำสอนในพุทธศาสนา นอจากเรือง ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งถือว่าเป็หลักธรรมที่สำคัญและเข้าใจยากเป็นพิเศษแล้ว ยังมีหลักธรรมอื่นที่สัมพันธ์กันกับปฏิจจสุมปบาท เช่น ไตรลักษณ์ อริยสัจ ขันธ์ 5 ธรรมนิยามและกฏแห่งกรรม เป็นต้น





By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment