Monday, October 29, 2012

แก่นคำสอนในพุทธศาสนา

แก่นคำสอนในพุทธศาสนา

          แก่นคำสอนในพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาให้กับสังคมและปัจเจกบุคคลโดยเฉพาะเกี่ยวกับทุกข์ สาเหตุแห่งทุกข์และแนวทางในการดับทุกข์ ถึงแม้จะมีความหมายแตกต่างกันบ้างในแนวคิดการนำเสนอคำสอนระหว่างสองนิกาย เช่น ชาวมหายานในประเทศเอเชียตะวันออกที่เน้นในเรื่อง ความรัก ความเมตตา กรุณา กับชาวเถรวาทในประเทศทางแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เน้นในเรื่องการทำจิตให้บริสุทธิ์ด้วยการบำเพ็ญภาวนา ซึ่งชาวมหายานบางส่วนหรือแม้แต่ชาวพุทธเถรวาทเช่น อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ เคยวิจารณ์แนวการสอนตามแบบเถรวาทด้วยการเน้นในเรื่องนี้ไว้ว่า " การสอนให้คนเอาแต่นั่งหลับตาสมาธิภาวนาเพื่อจะให้จิตหลุดพ้นนั้น ก็คือรูปแบบหนึ่งของการแสดงความเห็นแก่ตัว "

           อย่างไรก็ตาม หากเรามาพิจารณาแก่นคำสอนหลักในทางพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นนิกายมหายานหรือเถรวาทก็ตาม จะมีลักษณะคล้ายกันดังนี้

            1. สอนให้รู้จักแก้ปัญหา โดยเฉพาะเกี่ยวกับการดับทุกข์โดยการวิเคราะห์แยกแยะปัญหา คือความทุกข์ และเข้าใจถึงสาเหตุแห่งทุกข์ ว่าเกิดจากความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความโกรธ และ ความหลง ที่ฝังอยู่ภายในตัวมนุษย์ และหาทางแก้ปัญหาโดยการดับทุกข์นั้นด้วยวิถีทางแห่งความสงบสันติ

            2. สอนให้เราทำความเข้าใจเกี่ยวกับสัจธรรมที่ว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมตกอยู่ใต้สภาวะเดียวกัน นั่นคือความเป็น อนิจจัง ทุกขังอนัตตา ดังนั้นมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายควรจะได้ช่วยกันถักทอความรักความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน อดทนอดกลั้น และให้ความยอมรับนับถือต่อกันและต่อหมู่สรรพสัตว์ทั้งหลายรวมทั้งต่อธรรมชาติด้วย



            3. สอนให้เรารู้จักธรรมนิยาม เข้าใจในกฏแห่งเหตุปัจจัย เพื่อจะได้ตระหนักในความเกี่ยวพันต่อกันระหว่างสรรพสิ่งทั้งหลาย รวมทั้งสอนให้เข้าใจถึงการพึ่งพาอาศัยที่สัมพันธ์กันระหว่างร่างกายกับจิตใจเพื่อเราจะสามารถอยู่ได้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ

            4. สอนให้เรารู้จักดำเนินชีวิตตามแนวทางแห่งกฏศีลธรรมโดยละเว้นจากการแก่งแย่งเบียดเบียนทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น

            5. สอนให้เรารู้จักการพึ่งพาตนเอง และให้การยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน

            สำหรับหนังสือเล่มนี้ ผู้เรียบเรียงได้แบ่งแก่นพุทธธรรมคำสอนในพุทธศาสนาออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกเป็นคำสอนทางด้านมัชเฌนธรรมเทศนาอันเป็นความจริงสูงสุด หรือธรรมทีเป็นกลาง เพื่อทำให้เราเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาและการแก้ปัญหาให้กับมนุษย์ ส่วนที่สอง เป็นคำสอนเกี่ยวกับมัชฌิมาปฏิปทา หรือหลักการปฏิบัติตามทางสายกลาง ว่าด้วยเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักปฏิบัติทางด้านศีลธรรมจริยธรรม เพื่อนำมา เป็นแนวทางต่อการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน กับหลักในการแสวงหาความสงบจากการทำสมาธิวิปัสสนา ส่วนที่สาม เป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับแนวความคิดทางด้านปรัชญาของชาวตะวันตกเกี่ยวกับทฤษฎีว่าด้วยเรื่อง อัตตา - อนัตตา กับแนวคิดที่เกี่ยวกับวิญญาณซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องทางอภิปรัชญาที่ควรรู้เกี่ยวกับสภาวธรรมอันเป็นความจริงสูงสุดของกระบวนการทางธรรมชาติ เพื่อนำมาประยุกต์ในการแก้ปัญหาให้กับชีวิต ส่วนที่สี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฏแห่งกรรมตามหลักความเชื่อทางพุทธศาสนาที่นำมาอธิบายบนฐานหลักแห่งเหตุปัจจัย จัดเป็นหลักธรรมเกี่ยวกับกฏธรรมชาติที่สัมพันธ์กับหลักศีลธรรมซึ่งยืนยันว่า การกระทำกรรมใดๆ ย่อมก่อให้เกิดผลกรรมตามมาในสัดส่วนที่เป็นธรรมกับเจตนาเสมอ

            มัชเฌนธรรมในหมวดที่ใช้ในการแก้ปัญหาได้แก่ อริยสัจ 4 อธิบายถึง ปัญหา สาเหตุของปัญหา และแนวทางในการแก้ปัญหา และมีการตอบคำถามให้กับมนุษย์เกี่ยวกับ ทุกข์ สาเหตุแห่งทุกข์ผลจากการดับทุกข์ ตามแนวทางในการดับทุกข์ 8 ประการที่เรียกว่า มรรค 8 ที่พระองค์ทรงแนะนำให้ประพฤติปฏิบัติตามหลักแห่งไตรสิกขา กล่าวคือ ปัญญา ศีล สมาธิ หมวดปัญญาได้แก่ สัมมาทิฏฐิเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ หมวดศีลได้แก่ สัมมาวาจา วาจาชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ มรรคทั้งแปดประการถือเป็นกรอบแห่งหลักการประพฤติปฏิบัติที่จะนำทางไปสู่เป้าหมายที่แท้จริงนั่นคือนิพพาน ไตรสิกขาดังกล่าวคือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี้อาจเรียกเป็นคำง่ายๆ ว่า สะอาด สว่าง สงบ ส่วนมัชเฌนธรรมหมวดธรรมนิยาม กฏแห่งเหตุปัจจัย ขันธ์ 5 เป็นต้น ส่วนมัชฌิมาปฏิปทาได้แก่หมดศีลธรรม จริยธรรม สอนให้ประพฤติปฏิบัติในระดับโลกียะตามแนวทางสายกลางแห่งอริยมรรค จนสามารถพัฒนาสูงขึ้นถึงขั้นโลกุตตระเพื่อเข้าสู่นิพพาน ด้วยการบำเพ็ญเพียรสมาธิวิปัสสนาอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้จิตหลุดพ้นสู่สภาวะสูงสุด

            ส่วนที่เป็นปรัชญามีแก่นหลักธรรมที่พุทธศาสนิกชนควรรู้เกี่ยวกับเรื่องอนัตตาและวิญญาณเพื่อจะได้เข้าใจ และไม่สับสนปนเปกับปรัชญาความเชื่อเดิมของปรัชญาอินเดียโบราณที่แทรกเข้ามาในคำสอนทางพุทธศาสนาโดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับทั้ง 4 ตอน ดังจะได้กล่าวต่อไป






By แก่นพุทธธรรม

No comments:

Post a Comment