Tuesday, October 16, 2012

สันติ ( Peace )

        " ไม่มีสุขใดเสมอด้วย ความสงบสันติ "

        " นตฺถิ สนฺติปร  สุขํ "

พระไพศาล  วิสาโร



         พุทธภาษิตข้างต้นเป็นข้อความที่นายปรีดี  พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสได้นำมาปิดท้ายในหนังสือเรื่อง " พระเจ้าช้างเผือก " อันเป็นนวนิยายเรื่องแรกและเรื่องเดียวของท่าน นวนิยายเล่มนี้ซึ่งเดิมตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เป็นเรื่องราวของพระเจ้าจักราผู้ครองกรุงอโยธยา พระองค์เป็นกษัตริย์ที่รักสันติภาพ หากจำต้องทำสงครามเพื่อปกป้องราชอาณาจักรจากการรุกรานของพระเจ้าหงสา พระเจ้าจักราเป็นกษัตริย์ที่ทรงคุณธรรม ไม่ประสงค์ให้ไพร่พลของพระองค์ต้องสูญเสียเลือดเนื้อ จึงเลือกใช้วิธีรบแบบยุทธหัตถีกับพระเจ้าหงสา ครั้นประสบชัยชนะแล้วก็สั่งปล่อยแม่ทัพนายกอง และทหารกรุงหงสาทั้งหมด หาได้จับกุมคุมขังหรือทำร้ายแต่อย่างใดไม่

          นวนิยายเล่มนี้แม้มีสงครามเป็นแกนของเรื่อง แต่หัวใจของหนังสือคือการเชิดชูสันติภาพ ที่ตั้งอยู่บนความปราถนาดีต่อกัน ไม่มีการอาฆาตพยาบาทจองเวรกัน ตามพุทธภาษิตที่ว่า " เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร " ดังสะท้อนจากคำตรัสของพระเจ้าจักราที่มีต่อเจ้าชายบุเรงนองว่า " ขอให้มีความเข้าใจกัน มีความปราถนาดีต่อกันในระหว่างพวกเราทั้งสอง และขอให้สันติสุขกลับมาสู่พวกเราและบ้านเมืองน้องของเราในโลกนี้อีกครั้งหนึ่งจงตลอดไปเถิด "


          หนังสือเล่มนี้ ไม่อาจจัดว่าเป็นเพียงนิยายอิงประวัติศาสตร์เท่านั้นหากยังเป็นนิยายธรรมมะและนิยายการเมืองไปพร้อมกัน ประการหลังเห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อพิจารณาบริบททางการเมืองที่แวดล้อมหนังสือเล่มนี้ " พระเจ้าช้างเผือก เขียนขึ้นในระหว่างปี 2482 - 2483 อันเป็นช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังลุกลามทั่วยุโรป ขณะเดียวกันเอเชียตะวันออกก็กำลังเกิดสงครามจากการรุกรานของญี่ปุ่น และมีแนวโน้มว่าจะระบาดไปยังส่วนอื่นๆ ของเอเชีย รวมทั้งเอเชียอาคเนย์ หากญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร การเขียนนิยายเล่มนี้เป็นภาษาอังกฤษ แล้วนำไปสร้างเป็นภาพยนต์ ซึ่งมีบทพูดเป็นภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง และออกฉายในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์ เป็นเครื่องชี้ชัดว่า " นายปรีดี " ผู้เขียนและผู้อำนวยการสร้างต้องการส่ง " สาร " บางอย่างให้นานาประเทศได้รับรู้ " สาร " ดังกล่าวมิได้หมายถึงแค่ความใฝ่สันติภาพของคนที่ชื่อ ปรีดี  พนมยงค์เท่านั้น สิ่งที่นายปรีดีต้องการบอกให้ประชาคมโลกรู้ก็คือ สยามเป็นประเทศรักสันติภาพ ไม่ปราถนาจะรบพุ่งกับใคร ลึกไปกว่านั้นนายปรีดียังปราถนาย้ำเตือนให้คนทั้งโลกหันมาสู่วิถีแห่งสันติ แทนที่จะแก้ปัญหาด้วยสงคราม ดังได้เขียนในคำนำว่า " ชัยชนะแห่งสันติภาพนั้น มิได้มีชื่อเสียงบันลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด "

          อย่างไรก็ตาม ปณิธานของนายปรีดี ไม่สัมฤทธิผล สยามไม่อาจธำรงสันติภาพได้ หากต้องกลายเป็นพันธมิตรร่วมรบกับญี่ปุ่น จนนายปรีดีผู้รักสันติต้องหันมาจัดตั้งขบวนการเสรีไทย จับอาวุธต่อสู้กับญี่ปุ่นเพื่อป้องกันชาติของตน ในทำนองเดียวกับพระเจ้าจักราผู้รักสันติ ต้องกรีธาทัพสู้กับพระเจ้าหงสา ต่างกันก็ตรงที่นายปรีดีไม่ต้องถึงกับจับอาวุธสู้ตัวต่อตัวกับผู้รุกราน

รากเหง้าของสงครามและความรุนแรง

          มาถึงวันนี้ หน้าที่ของ พระเจ้าช้างเผือก ในการส่ง "สาร " ให้แก่ประชาคมโลกได้สิ้นสุดลง หรืออย่างน้อยก็หมดความจำเป็นแล้ว ในบางแง่อาจเรียกว่าประสบความล้มเหลวด้วยซ้ำ โดยเฉพาะการเรียกร้องให้โลกหันมาให้ความสำคัญกับ " ชัยชนะแห่งสันติภาพ " เพราะแม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะยุติ แต่โลกก็มีสงครามมิได้หยุดหย่อน ผู้คนล้มตายหลายสิบล้านคนในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แม้กระนั้น หัวใจของหนังสือเล่มนี้ก็ยังมีคุณค่า ได้แก่การเน้นย้ำว่า สันติภาพที่แท้จริงนั้นต้องมีพื้นฐานมาจากคุณธรรมด้านใน อาทิ การไม่อาฆาตพยาบาท การให้อภัย ความเมตตากรุณา รวมถึงการเสียสละ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้อื่นยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนตน โดยผ่านคำพูดและการกระทำของพระเจ้าจักรา ในทางตรงข้าม สงครามก็มีรากเหง้ามาจากจิตสำนึกที่เห็นแก่อำนาจ ปราศจากคุณธรรม ดังมีพระเจ้าหงสาเป็นตัวแทน

         อย่างไรก็ตาม มิพึงเข้าใจว่าสงครามเป็นเรื่องของตัวบุคล ยิ่งสงครามในโลกสมัยใหม่ด้วยแล้ว ผู้นำเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้นการสู้รบได้กลายเป็นเรื่องของคนหมู่ใหญ่ที่มีสำนึกร่วมกัน ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการขับเคลื่อนของคนทั้งชาติ มิใช่เป็นแค่การรบพุ่งของผู้นำ ( โดยมีไพร่พลเป็นองค์ประกอบ ) ซึ่งสามารถยุติได้ด้วยการชนช้างตัวต่อตัวเท่านั้น ขณะที่สงครามในอดีตสงวนศักดิ์ศรีและวีรกรรมไว้เฉพาะแม่ทัพ แต่ในสงครามยุคใหม่ซึ่งอาศัยกองทัพประจำการเป็นหลัก ทหารชนชั้นผู้น้อยก็มีสิทธิได้รับการยกย่องเป็นวีรชน ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนพลเรือนในแนวหลังก็ยังมีบทบาทสำคัญในสงคราม จึงไม่น่าแปลกใจที่ถิ่นอาศัยของพลเรือนได้กลายเป็นเป้าหมายทางทหารในสงครามต่างๆ นับแต่สงครามโลกครั้ง 2 เป็นต้นมา ( ในสงครามครั้งที่ 1 ผู้ที่บาดเจ็บล้มตายมีเพียงร้อยละ 15 ที่เป็นพลเรือน แต่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 สัดส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 65 กระนั้นก็ยังเทียบไม่ได้กับสงครามหลังๆ อาทิในโซมาเลีย ซูดาน อดีตยูโกสลาเวีย ซึ่งร้อยละ 90 ของผู้ตายที่เป็นพลเรือน )

          ด้วยเหตุนี้ ในโลกยุคใหม่ สงครามจึงมิได้ถูกกำหนดด้วยจิตสำนึกของผู้นำเท่านั้นหากจิตสำนึกของผู้คนทั่วทั้งสังคมก็มีบทบาทอย่างสำคัญในการผลักดันให้เกิดความรุนแรงต่อกัน จิตสำนึกที่มีอิทธิพลอย่างสำคัญตลอดมาก็คือ ความถือตัวถือตนว่าสูงกว่า และเหยียดอีกฝ่ายหนึ่งให้ต่ำลงจนถึงกับไร้ความเป็นมนุษย์ สงครามเอเชียมหาบูรพาได้รับการสนับสนุนจากชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศเพราะเชื่อกันว่า ญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่สูงส่งขณะเดียวกันก็เห็นคนจีนและเกาหลีว่าป่าเถื่อน ทัศนะดังกล่าวคลุมไปถึงอเมริกาว่าเป็น " สัตว์ที่สูญเสียความเป็นมนุษย์ไปแล้ว " ในอีกด้านหนึ่งอเมริกาก็เรียกคนญี่ปุ่นว่า " ลิงผิวเหลือง "

          ท่าทีดังกล่าวไม่ต่างไปจากคนเยอรมันที่มีต่อชาวยิว " เชื้อโรค " " ไวรัส " " อสูร " " เดนมนุษย์ " เป็นคำที่ชาวเยอรมันใช้เรียกชาวยิวในสมัยฮิตเลอร์ จนถึงปัจจุบัน จิตสำนึกเช่นนี้ยังมีอิทธิพลในสงครามทั้งหลายในอดีตยูโกสลาเวีย คนโครเอเชียถูกคนเซอร์เบียร์เรียกว่า " ค้างคาวผี " ส่วนคนโครเอเชียก็เรียกนักรบเซอร์เบียว่า " สัตว์สองเขามีเครา" ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย ทหารอเมริกันเรียกการสังหารทหารอิรักนับพันที่ล่าถอยว่า " การยิงไก่งวง " นาวิกโยธินอเมริกันคนหนึ่งบรรยายความรู้สึกเมื่อเห็นทหารอิรักจากบนเครื่องบินว่า " เหมือนกับเปิดไฟครัวกลางดึกแล้วเห็นแมลงสาปแตกตื่นจ้าละหวั่น "

          นอกจากความถือตนว่าสูงและเหยียดผู้อื่นให้ต่ำลง ( ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า มานะ ) แล้ว ความเชื่อหรือความยึดติดในลัทธิอุดมการณ์ ( ซึ่งพุทธศาสนาเรียกว่า ทิฏฐิ ) ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการก่อสงครามและความรุนแรงโดยเฉพาะกับคนชาติเดียวกัน ในสหภาพโซเวียตมีผู้คนประมาณ 20 ล้านถูกฆ่าตายภายใต้การปกครองแบบทรราชย์ของสตาลินจำนวนไม่น้อยตายเพราะขวางอำนาจของสตาลิน แต่อีกมากมายตายเพื่อความยิ่งใหญ่ของลัทธินี้เป็นสิ่งชอบธรรม สะท้อนให้เห็นจากคำพูดของสมาชิกพรรคคนหนึ่งว่า " เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของเราคือชัยชนะของลัทธิคอมมิวนิสต์ในทุกแห่งเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทุกอย่างทำได้ทั้งนั้นไม่ว่ากล่าวเท็จ ขโมย หรือทำลายผู้คนนับแสนหรือแม้กระทั่งเป็นล้าน หากคนเหล่านี้ขัดขวางงานของเราหรือสามารถจะขัดขวางเรา " ปรากฏการณ์อย่างเดียวกันนี้เกิดขึ้นในจีนและกัมพูชา ในประเทศหลัง แม้ 2 ล้านคนที่ตายเป็นจำนวนที่เทียบไม่ได้กับรัสเซียและจีน แต่เมื่อคิดเป็นสัดส่วนประชากรแล้วก็สูงมาก คือ 1 ใน 4 ของประชากรเขมรทั้งประเทศ ในยุคเขมรแดงนี้เองมีคำขวัญว่า " คนหนุ่มหนึ่งหรือสองล้านคนก็พอแล้วสำหรับสร้างกัมพูชาใหม่ " นอกนั้นไม่มีความจำเป็นเลย

          การล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ มิได้หมายถึงความเชื่อในลัทธิอุดมการณ์จะหมดพลังในการผลักดันให้เกิดความรุนแรง ลัทธิชาตินิยมยังเป็นหนึ่งในอุดมการณ์ที่มีอิทธิพลอย่างมากในโลกปัจจุบัน สงครามในอดีตยูโกสลาเวีย ความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน สงครามกลางเมืองในศรีลังกา เป็นตัวอย่างน้อยนิดของความรุนแรงที่เกิดจากลัทธิชาตินิยม ที่น่าสนใจคือ ความเชื่อทางด้านศาสนาเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญด้วยทั้งในกรณีที่กล่าวมาและที่มิได้กล่าวถึง

         ความถือตัวว่าสูงกว่า และความติดยึดในลัทธิอุดมการณ์ เป็น 2 ใน 3 ของเหตุปัจจัยทางด้านจิตสำนึกที่นำไปสู่ความรุนแรงในทัศนะของพุทธศาสนา อีกปัจจัยหนึ่งได้แก่ความต้องการผลประโยชน์เพื่อปรนเปรอตัวตน ( หรือที่เรียกว่า ตัณหา ) ปัจจุบันเห็นได้ไม่ยากว่า สงครามและความรุนแรงตลอดจนความขัดแย้งทั่วโลก ล้วนเกี่ยวพันกับการแย่งชิงผลประโยชน์ไม่มากก็น้อย ที่เห็นได้ชัดก็คือ สงครามรุกรานอิรักโดยการนำของสหรัฐ ซึ่งหวังควบคุมแหล่งน้ำมันสำรองที่มีมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ผลประโยชน์จากน้ำมันยังเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งสหรัฐอเมริกาเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ทั้งโดยผ่านอิสราเอลและซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น นอกจากผลประโยชน์ระดับรัฐแล้ว ผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติ ( รวมทั้งบริษัทค้าอวุธ ) ก็เป็นตัวการสนับสนุนสงครามในหลายประเทศ รวมทั้งทวีปอาฟริกา

         ความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ยังเป็๋นสาเหตุของความรุนแรงภายในประเทศ อาทิ ความรุนแรงอันเนื่องจากการแบ่งแยกดินแดนในรัฐอะเจห์ของอินโดนิเซีย และเชชเนียในรัสเซีย ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับแหล่งทรัพยากรที่มีค่ามหาศาล ใช่แต่เท่านั้น ความขัดแย้งทางด้านผลประโยชน์ยังแสดงออกในรูปความขัดแย้งทางด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าระหว่างรัฐกับประชาชน หรือระหว่างประชาชนด้วยกัน ซึ่งพร้อมลุกลามไปเป็นความรุนแรง อาทิ กรณีเขื่อนปากมูล กรณีท่อก๊าซไทย - มาเลเซีย กรณีโรงไฟฟ้าบ่อนอก - หินกรูด

ความรุนแรงทางด้านวัฒนธรรม

         จากที่กล่าวมาย่อมเห็นได้ว่า สันติภาพหรือความสงบสุขในสังคมเป็นเรื่องราวเกี่ยวโยงอย่างใกล้ชิดกับทัศนคติของผู้คน การสร้างสรรค์สันติภาพไม่สามารถทำได้ด้วยการเรียกร้องให้มีผู้นำที่รักสันติมีคุณธรรม หรือกฏหมายควบคุมผู้ปกครองไม่ให้ใช้อำนาจในทางที่ผิดเท่านั้น หากยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้คนในสังคมด้วย ด้วยเหตุนี้ การสร้างสรรค์สันติภาพจึงต้องเป็นการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมด้วย

          การเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งจำเป็นในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อถ่วงดุลหรือทัดทานกับวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงในที่นี้หมายถึงทัศนคติและความเชื่อที่ส่งเสริมความรุนแรง โดยถักทอขยายตัวจนกลายเป็นวัฒนธรรมในสังคม เป็นทัศนคติที่นำไปสู่การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย จะด้วยการสำคัญตนว่าสูงกว่า ( มานะ ) หรือเพราะว่าเห็นอีกฝ่ายเป็นศัตรูต่อลัทธิความเชื่อของตน ( ทิฏถิ ) หรือเห็นอีกฝ่ายเป็นปฏิปักษ์ขัดขวางผลประโยชน์ของตน ( ตัณหา ) ก็ตาม

         วัฒนธรรมแห่งความรุนแรงกำลังแพร่หลายในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากความเติบใหญ่ของการเมืองที่ชูประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ ( เช่น  ศาสนา ชาติพันธ์ ) การเมืองดังกล่าวกำลังเป็นกระแสใหญ่ของโลกปัจุบัน เป็นการเคลื่อนไหวตอบโต้ของฝ่ายที่รู้สึกว่า อัตลักษณ์ที่ตนยึดถือกำลังถูกบั่นทอนคุกคาม จึงลุกขึ้นสู้เพื่อความอยู่รอด การเมืองแบบนี้มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่ชัดเจน และกระตุ้นเร้าให้เกิดความเกลียดชังและความกลัวไปพร้อมๆ กัน ดังนั้น จึงมีลักษณะที่ก้าวร้าว โกรธเกรี้ยว และนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย ( น่าสังเกตว่าลัทธินาซีเป็นผลมาจากความรู้สึกว่าเยอรมันกำลังถูกภัยคุกคามจากพวกยิว ซึ่งด้านหนึ่งร่วมมือกับพวกคอมมิวนิสต์รัสเซียทางยุโรปตะวันออก อีกด้านหนึ่งก็เชิดชูรัฐบาลอังกฤษให้เป็นหัวหอกด้านตะวันตก ดังนั้นเยอรมันจึงต้องทำทุกวิถีทาง รวมทั้งกวาดล้างยิวทั้งในและนอกประเทศให้หมด ทั้งนี้เพื่อปกป้องตนเอง ) ขบวนการหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากในการเมืองแบบนี้ก็คือ ขบวนการเคร่งคัมภีร์ หรือ fundamentalist ขบวนการดังกล่าวแพร่หลายไปทั่วโลก และมีอิทธิพลในแทบทุกศาสนาหลัก และนับวันจะขยายตัวจากชนชั้นล่างไปสู่ชนชั้นกลางที่มีการศึกษา ในบางประเทศ เช่น อินเดีย ขบวนการเหล่านี้ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นจนสามารถตั้งรัฐบาลทั้งในระดับท้องถิ้นได้ ขณะที่ในหลายประเทศ เช่น อียิปต์ ขบวนการนี้ได้หันไปใช้วิธีก่อการร้ายกับรัฐบาลของตน หรือปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรงกับคนต่างศาสนา

         ท่าทีและวิธีการอันก้าวร้าวรุนแรงขบวนการดังกล่าวได้เป็นปัจจัยเร่งให้อีกฝ่ายใช้ความรุนแรงตอบโต้หรือทำหนักมือขึ้น จนกลายเป็นวัฏจักรแห่งความรุนแรง ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ สงครามในอัฟกานิสถานและอิรักภายใต้ยุทธศาสตร์ต่อต้านการก่อการร้ายระดับโลก โดยการนำของสหรัฐอเมริกาหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน เป็นผลพวงล่าสุดของวัฏจักรดังกล่าวและได้โหมกระพือวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงไปทั่วโลก ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายใดก็ตาม

         อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมแห่งความรุนแรงไม่ได้จำกัดเฉพาะทัศนคติที่ส่งเสริมความเป็นปฏิปักษ์บนพื้นฐานของศาสนา และชาติพันธ์เท่านั้น หากยังครอบคลุมไปถึงทัศนคติที่ส่งเสริมการเลือกปฏิบัติหรือความไม่เสมอภาคทางเพศ ศาสนา ชาติพันธุ์ ตลอดจนทางเศรษฐกิจด้วย ทัศนคติประการหลัง แม้ไม่ได้นำไปสู่ความรุนแรงทางตรงหรือทางกายถาพเสมอไป แต่ก็ส่งเสริมความรุนแรงในทางโครงสร้าง อันเป็นภาวะที่ตรงข้ามกับความสงบสันติ ดังจะกล่าวต่อไป

วัฒนธรรมเพื่อสันติภาพ

          การเคลื่อนไหวของประชาชนนับสิบล้านทั่วโลกเพื่อต่อต้านสงครามรุกรานอิรักซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นปรากฏการณ์สำคัญระดับโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การเคลื่อนไหวรณรงค์ดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันในทุกทวีปอย่างต่อเนื่องตลอดหลายเดือนโดยไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นผู้ประสานหรือริเริ่ม หากเป็นผลจากความรู้สึกร่วมของประชาชนทั่วโลกที่เชื่อมโยงกันโดยผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก ประชาชนเหล่านี้ได้ประสานกันเป็นเครือข่ายทั้งในระดับประเทศระดับภูมิภาค และผนึกกำลังเป็นพลังระดับโลก โดยมีกิจกรรมและรูปแบบแตกต่างกันไป หากมีจุดร่วมเดียวกันคือ คัดค้านสงคราม เพรียกหาสันติภาพ

          ขบวนการดังกล่าวมีความหลากหลายอย่างที่ไม่เคยมีกับขบวนการใดๆ มาก่อน นอกจากหลากหลายในทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมแล้ว ยังมาจากลัทธิอุดมการณ์และความเชื่อที่ต่างกัน มีทั้งกลุ่มศาสนา กลุ่มสิทธิสตรี กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สหภาพแรงงาน พรรคการเมือง องค์กรธุรกิจ กลุ่มเหล่านี้มีเหตุผลที่แตกต่างกันไปในการคัดค้านสงครามในอิรัก บ้างเห็นว่าการทำสงครามเป็นการละเมิดกฏหมายระหว่างประเทศ ละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพของอีกประเทศหนึ่ง บ้างเห็นว่าเป็นการทำลายโลกอาหรับหรือโลกมุสลิมบ้างก็เห็นว่าเป็นการขยายตัวของลัทธิอาณานิคมใหม่ แต่เหตุผลที่สามารถปลุกเร้าคนทั่วโลกให้มาต่อต้านสงครามครั้งนี้ได้มากที่สุดก็คือ สงครามเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม ซึ่งจะสร้างความทุกข์ยากแสนสาหัสแก่ประชาชนที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่า เด็ก ผู้หญิง หรือคนแก่ อีกทั้งยังจะมีผลกระทบกว้างไกลตามมาต่อประชาชนแม้การสู้รบจะยุติภาพที่ใช้ในการรณรงค์และเห็นบ่อยในการชุมนุมประท้วงทั่วโลก ก็คือ ภาพเด็กอิรักที่ไร้เดียงสาซึ่งจะต้องเป็นเหยื่อของสงคราม หรือไม่ก็ภาพเด็กที่พิการหรือได้รับบาดเจ็บจากสงคราม

          การที่เหตุผลและภาพดังกล่าวสามารถผลักดันผู้คนทั่วโลกให้ลุกขึ้นมาประท้วงรัฐบาลที่มีแสนยานุภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกผูกพันชนิดที่ข้ามพ้นเชื้อชาติและพรมแดน ความเป็นคนอิรักไม่สำคัญเท่ากับความเป็นมนุษย์และความเป็นเพื่อนร่วมโลกซึ่งสมควรได้รับความรักและความเกื้อกูลจากมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะสังกัดเชื้อชาติศาสนาหรือภาษาใดก็ตาม

          สำนึกในความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษย์ทั้งโลก เป็นสำนึกใหม่ที่กำลังเติบใหญ่ไปทั่วทั้งโลก แม้สำนึกนี้จะยังไม่มีพลังพอที่จะต้านทานประเทศอภิมหาอำนาจได้ แต่เป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกานึกไม่ถึงและต้องคำนึงมากขึ้นในการทำสงครามครั้งต่อไป

         นี่เป็นสำนึกใหม่ที่จะมาทัดทานความคิดแคบๆ ที่ยึดติดกับพวกพ้องแบบชนเผ่า ( tribalism ) ซึ่งกำลังเป็นชนวนสงครามในหลายจุดของโลกอยู่ในเวลานี้ สำนึกในความเป็นพี่น้องหรือเพื่อนร่วมโลกจะทำให้การเมืองที่ชูอัตลักษณ์เฉพาะฝ่ายเฉพาะกลุ่มมีเสน่ห์น้อยลง และชักนำผู้คนสำนึกใหม่อีกหลายด้านที่จะมาถักทอเป็นวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ อาทิ การตระหนักในความเสมอภาคระหว่างมนุษย์ รวมถึงการเคารพในศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษนิยม ( humanism ) ที่มิใช่ของใหม่ หากควรส่งเสริมให้มากขึ้น โดยตระหนักว่า การเคารพในศักดิ์ศรีและสิทธิดังกล่าว มิได้หมายความเพียงแค่การไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นเทานั้น หากยังรวมถึงการปกป้องมิให้ผู้อื่นถูกละเมิดศักดิ์ศรีและสิทธิด้วย

          ตรงนี้เองที่จะเชื่อมโยงกับหลักการที่ทุกศาสนาเชิดชู นั่นคือความเมตตากรุณา การเคารพสิทธิกับการมีน้ำใจจะต้องไปด้วยกัน แม้ปรัชญาแบบมนุษย์นิยมกับความเชื่อทางศาสนาจะขัดแย้งกันในหลายเรื่อง แต่ก็มีสอดคล้องกันตรงที่เห็นคุณค่าของความเอื้อเฟื้อและเคารพซึ่งกันและกัน คุณค่าดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของวัฒนธรรมแห่งสันติภาพหากคุณค่าดังกล่าวอ่อนกำลังหรือถูกท้าทาย สิ่งทีตามมาคือความรุนแรงลัทธินาซีและลัทธิคอมมิวนิสต์นำความสยดสยองมาสู่ศตวรรษที่แล้วก็เพราะทั้ง 2 ลัทธิต่อต้านความเมตตาและความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันโดยตรงขณะที่ฮิตเลอร์กล่าวประณาม " ศีลธรรมแบบมนุษยธรรมที่น่ารังเกียจ " และเห็นว่าความเมตตาเป็นความอ่อนแอและขี้ขลาด สตาลินก็เห็นว่าความมีมนุษยธรรมนั้นเป็นสำนึกของชนชั้นกระฎุมพีที่ต้องขจัดออกไปให้หมดสำหรับเขาและพลพรรคการกระทำที่ถูกศีลธรรมมีอย่างเดียวคือ " การกระทำอะไรก็ตามที่ทำให้ประวัติศาสตร์และลัทธิสังคมนิยมเจริญก้าวหน้า " แม้บัดนี้ลัทธิทั้งสองจะไม่มีอนาคตแล้ว แต่ก็ยังมีความเชื่อลัทธิความเชื่อใหม่ๆ ตามมาที่ปฏิเสธเมตตาธรรม โดยเฉพาะกับผู้ที่อยู่คนละพวกคนละฝ่ายลัทธิเคร่งคัมภีร์ หรือ fundamentalism เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งบ่มเพาะความโกรธเกลียดยิ่งกว่าความเอื้ออารี จึงนับวันจะแนบสนิทกับลัทธิก่อการร้ายในหลายมุมโลก

          ลัทธิเคร่งคัมภีร์ก่อให้เกิดความรุนแรงได้ส่วนหนึ่งเพราะขาดขันติธรรม ไม่ยอมรับความแตกต่างหรือความหลากหลาย แต่จะว่าไปแล้วลัทธินี้ก็เป็นปฏิกิริยาต่อการขาดขันติธรรมของโลกสมัยใหม่ที่พยายามขจัดความหลากหลายของประเพณี ความเชื่อ และองค์ความรู้ แล้วแทนที่ด้วยความเชื่อและองค์ความรู้แบบสมัยใหม่ที่เป็นตะวันตก วิทยาศาสตร์ หรือแบบโลกๆ ( secularism ) การผลักศาสนาไปอยู่ชายขอบ ทำให้ศาสนิกจำนวนหนึ่งต้องลุกขึ้นสู้แล้วกลายเป็นลัทธิเคร่งคัมภีร์ บทเรียนจากลัทธิเคร่งคัมภีร์ก็คือ ขันติธรรมหรือความใจกว้าง ยอมรับความหลากหลาย เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสันติสุขในสังคม แม้ว่าเราควรมีสำนึกในความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันเราจำเป็นต้องยอมรับและเคารพในความหลากหลายของมนุษยชาติด้วย เพราะเราต่างกำเนิดจากเนื้อดินที่ต่างกัน สำนึกในเอกภาพท่ามกลางความหลากหลายเป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพ

          คุณค่าประการต่อมาคือ ความเชื่อในเรื่องสันติวิธี สงครามเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อนเพราะยังมีความเชื่อแพร่หลายว่า ความรุนแรงนั้นเป็นวิธีแก้ปัญหาที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สงครามโลกครั้งที่1 ได้รับการสนับสนุนทั่วยุโรปก็เพราะเชื่อว่าจะเป็น " สงครามที่ยุติสงครามทั้งมวล " แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี สงครามครั้งที่ 2 ก็ตามมา อาวุธนิวเคลียร์ถูกประดิษฐ์คิดค้นไม่หยุดยั้งด้วยความเชื่อว่าจะสามารถ " ป้องปราม " ไม่ให้เกิดสงครามได้ แต่แล้วกลับทำให้โลกเสียงต่อภาวะสงครามประลัยกัลป์แม้กระทั่งทุกวันนี้ มิพักที่จะต้องกล่าวว่าอาวุธนิวเคลียร์มิใช่หรือที่เป็นข้ออ้างให้สหรัฐทำสงครามรุกรานอิรัก สร้างความวิตกอย่างยิ่งให้แก่เกาหลีเหนือ ซึ่งพร้อมจะทำให้โลกลุกเป็นไฟด้วยอาวุธดังกล่าว

          ขบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้ช่วยให้สำนึกในเรื่องสันติวิธีแพร่หลายและมีพลังขึ้น อย่างไรก็ตาม สันติวิธีมิได้หมายความเพียงแค่การไม่ใช้สงครามเพื่อแก้ความขัดแย้งระหว่างประเทศเท่านั้น หากยังรวมถึงการไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาในประเทศลงไปถึงปัญหาในครอบครัวด้วย การแก้ปัญหายาเสพย์ติดด้วยการส่งสัญญาณให้มีการฆ่าตัดตอนนั้น เป็นการสร้างทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อความสงบสันติในสังคมที่ควรได้รับการทัดทาน ในทำนองเดียวกับการแก้ปัญหาการชุมนุมประท้วงด้วยการใช้กำลังตำรวจไปสลายการชุมนุมก็เป็นวิธีการที่ควรยกเลิก

           สำนึกในสันติวิธีนั้น ถึงที่สุดแล้วย่อมตรงข้ามกับความคิดแบบอำนาจนิยม ซึ่งแม้จะไม่ใช้กำลังดิบๆ แต่ก็ใช้อำนาจบีบบังคับจากข้างบนลงมา ความคิดแบบนี้มีอิทธิพลฝังลึกตั้งแต่ในครอบครัวขึ้นไปถึงระดับรัฐระบบราชการเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ใช้วิธีการนี้กับประชาชน แม้จะได้ผลมาช้านาน แต่นับวันจะถูกประชาชนต่อต้าน ดังแสดงออกด้วยการประท้วงคัดค้านโครงการต่างๆ ของรัฐมากมาย หากอำนาจนิยมยังคงอยู่ต่อไป ย่อมรังแต่จะก่อความรุนแรงขึ้นในสังคม ทางออกคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในนโยบายและกิจการของรัฐ รวมไปถึงการส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสตัดสินใจและแสดงความคิดเห็น ทั้งในห้องเรียนและในบ้านนี่เป็นส่วนหนึ่งของสันติวิธีที่ควรปลูกฝังให้กลายเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนในสังคม

          นอกจากสำนึกที่เป็นปฏิปักษ์กับความโกรธเกลียดและการถือตัวตนแบ่งฝักฝ่ายแล้วสำนึกที่ส่งเสริมสันติภาพอย่างสำคัญก็คือสำนึกที่สวนทางกับความโลภ ปัจจุบันลัทธิบริโภคนิยมได้ปลุกเร้าให้ผู้คนมีความต้องการไม่สิ้นสุด ในด้านหนึ่งความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนองย่อมสร้างความทุกข์แก่ตนเอง และง่ายที่จะระบายใส่ผู้อื่น ในอีกด้านหนึ่ง ความต้องการดังกล่าวย่อมนำไปสู่การแข่งขันแย่งชิง จึงเห็นผู้อื่นเป็นศัตรูหรือคู่แข่ง หาไม่ก็เห็นผู้อื่นเป็นเหยื่อที่ต้องตักตวงเอาประโยชน์ ทัศนคติทั้ง 2 อย่างย่อมก่อให้เกิดการเบียดเบียนเอาเปรียบ และนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่าย ความรุนแรงมิได้เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเท่านั้น หากยังขยายไปสู่ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชนไปจนถึงระหว่างประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่าลัทธิบริโภคนิยมได้ก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรจากชนบทเพื่อสนองคนเมือง แย่งชิงจากภาคเกษตรกรรมเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการ รวมทั้งแย่งชิงจากคนจนให้แก่คนรวย และที่สุดแย่งชิงจากประเทศยากจนให้แก่ประเทศมั่งคั่ง " kick his ass and get his gas " ข้อความหลังรถยนต์คนอเมริกันที่สนับสนุนให้รัฐบาลของตนบุกอิรักเพื่อเอาน้ำมันนั้น ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างวิถีชีวิตแบบบริโภคนิยมไม่ได้เป็นปัญหาของคนอเมริกันเท่านั้น หากเกิดขึ้นกับคนทั้งโลก ซึ่งทำให้ความรุนแรงเป็นปัญหาระดับโลก

           สำนึกในวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่ถือเอาวัตถุเป็นเป้าหมายชีวิต และไม่คิดว่าความสุขอยู่ที่การบริโภคเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพสำนึกดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้เมื่อเห็นว่าวิถีชีวิตที่มั่งคั่งฟุ้งเฟ้อนั้นก่อผลกระทบอย่างไรต่อผู้อื่น ขณะเดียวกันก็สามารถเข้าถึงความสุขที่ไม่ต้องพึ่งพาวัตถุ คุณค่าที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ อาทิ ความเอื้ออาทรใส่ใจผู้อื่นไม่ปราถนาให้เพื่อนมนุษย์เดือดร้อน เป็นพื้นฐานอย่างดีที่ช่วยรองรับส่งเริมวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่หมกมุ่นกับการบริโภค ขณะเดียวกันเมื่ออยู่อย่างเรียบง่ายได้อย่างเป็นสุข เข้าถึงความสุขจากภายในโดยไม่ต้องอิงวัตถุความปราถนาดีต่อผู้อื่นก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จิตใจแผ่กว้าง ง่ายที่จะเห็นมนุษย์ทุกคนเป็นเพื่อน จิตใจเช่นนี้ย่อมไม่ก่อความรุนแรงแก่ผู้ใดสอดคล้องกับความเป็นอยู่ที่ไม่ส่งเสริมการแย่งชิงหรือเอารัดเอาเปรียบผู้ใดจึงเป็นวิถีชีวิตที่สันติอย่างแท้จริง วัฒนธรรมเพื่อสันติภาพจึงมิใช่อะไรอื่นหากวัฒนธรรมที่ส่งเสริมวิถีชีวิตดังกล่าวนั่นเอง

โครงสร้างที่สันติ

          วิถีชีวิตที่สันตินอกจากจะออกมาจากสำนึกที่ใฝ่สันติแล้ว ยังต้องอาศัยสภาพแวดล้อมทางสังคมที่สงบสันติ ไม่ส่งเสริมการเอารัดเอาเปรียบ มีแบบแผนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่อำนวยให้ชีวิตเป็นอยู่ด้วยดี ไปอดอยากแร้นแคัน หรือมีการลิดรอนสิทธิในความเป็นมนุษย์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นสังคมที่ปราศจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

          ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง แม้จะไม่ทำให้เลือดตกยางออกอย่างความรุนแรงทางกายภาพหรือความรุนแรงทางตรง แต่ก็บั่นทอนชีวิตและสร้างความทุกข์แก่ผู้คนจนอาจถึงแก่ความตายได้ อาทิเช่น การเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ สร้างความยากจนอาจถึงแก่ผู้คนจนล้มตายเนื่องจากความหิวโหยหรือโรคภัยไข้เจ็บ ความรุนแรงดังกล่าวมิได้เกิดจากการกระทำของใครคนใดคนหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง หากเป็นผลจากโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองซึ่งเป็นตัวกำหนดแบบแผนความสัมพันธ์อันอยุติธรรมที่ทำให้ผู้คนเอาเปรียบกัน หากมองว่าเป็นการกระทำที่ " ปรกติ " หรือ " ธรรมดา " ที่ใครๆ เขาก็ทำกัน

         ความรุนแรงเชิงโครงสร้างนั้นมีหลายลักษณะ อาทิ การเลือกปฏิบัติกับชนชั้นกลุ่มน้อย การกดผู้หญิงให้เป็นพลเมืองชั้นสอง แต่ที่ก่อปัญหาอย่างรุนแรงกว้างขวาง คือการสร้างความยากไร้ทั่วสังคม ความรุนแรงอย่างหลังนี้เป็นผลโดยตรงจากโครงสร้างเศรษฐกิจและนโยบายการพัฒนาของรัฐที่ทั้งไม่สมดุลและไม่เป็นธรรม ได้แก่ การดึงทรัพยากรพื้นฐานไปจากคนชนบทเพื่อตอบสนองคนชั้นกลางในเมือง ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่ดิน แหล่งน้ำ การพัฒนาเศรษฐกิจกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ได้นำทรัพยากรเหล่านี้ไปบำรุงเลี้ยงภาคอุตสาหกรรมและบริการ ขณะที่ภาคเกษตรกรรมโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยถูกละเลย รายได้จากการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรถูกนำไปสร้างความเจริญเติบโตแก่เมืองขณะที่ชาวนาชาวไร่ได้รับส่วนแบ่งน้อยมาก

         พร้อมๆ กับการถูกแย่งชิงทรัพยากรพื้นฐานที่มีมาแต่เดิม ชาวบ้านยังถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงทรัพยากรใหม่ๆ ได้อย่างเต็มที่ อาทิ การศึกษา สินเชื่อ สาธารณูปโภค คลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ อีกทั้งขาดโอกาสในการจัดทรัพยากรสาธารณะในท้องถิ่น มิพักต้องพูดถึงสิทธิในการกำหนดนโยบายของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน

         โครงสร้างและนโยบายดังกล่าว สร้างความไม่เป็นธรรมในการกระจายรายได้มาโดยตลอด ไม่ว่างบประมาณหรือบริการของรัฐ เมืองเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ แต่ชนบทหรือภาคเกษตรกรรมซึ่งครอบคลุมคนส่วนใหญ่ของประเทศ กลับเป็นฝ่ายต้องรับภาระจากการพัฒนา อาทิ ถูกกดราคาพืชผล เพื่อลดต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ถูกไล่ที่และสูญเสียป่าเพื่อเปิดทางให้แก่เขื่อนผลิตไฟฟ้าป้อนโรงงานและเมือง รวมทั้งเป็นฝ่ายรองรับขยะกับมลภิษที่ตนไม่ได้ก่อ

         โครงสร้างและนโยบายดังกล่าว เมื่อผนวกกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งให้อภิสิทธิ์อย่างมากแก่ภาคธุรกิจในนามของ " ตลาดเสรี " ไม่เพียงทำให้ช่องว่างทางเศรษฐกิจถ่างกว้างขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หากยังทำให้เกิดคนยากคนจนเป็นจำนวนไม่น้อยสูญเสียวิถีชีวิตที่คุ้นเคย และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป จนในที่สุดจำต้องลุกขึ้นคัดค้านและประท้วงโครงการต่างๆ ของรัฐ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่แพร่หลายไปทั้งประเทศ จนบางปีมีการชุมนุมประท้วงรวมแล้วเกือบพันครั้งทั่วประเทศความขัดแย้งกรณีเขื่อนปากมูล โรงไฟฟ้าบ่อนอก - หินกรูด และโครงการท่อก๊าซไทย - มาเลเซีย เป็นเพียงตัวอย่างน้อยนิด แต่ก็เป็นตัวแทนที่ชัดเจนของปัญหาดังกล่าว รวมทั้งเป็นกรณีตัวอย่างที่ชี้ว่า ความรุนแรงทางโครงสร้างนั้น บอยครั้งก็นำไปสู่ความรุนแรงทางตรงหรือความรุนแรงทางกายภาพ ที่มีผลให้เกิดการเลือดตกยางออกได้

         ควรกล่าวด้วยว่า ความรุนแรงทางโครงสร้างนี้มิได้เกิดจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่อยุติธรรมเท่านั้น หากยังถูกรองรับด้วยระบบการเมืองที่เอื้อประโยชน์แก่คนส่วนน้อย และไม่เปิดกว้างให้แก่คนเล็กคนน้อย กลายเป็นเวทีแบ่งปันผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและสังคม ( เช่น ข้าราชการ ) อีกทั้งกฏหมายและระบบยุติธรรมทั้งระบบยังหนุนเนื่องโครงสร้างทางเศรษฐกิจและระบบการเมืองอย่างเข้มแข็ง ไม่จำเป็นต้องพูดถึงระบบราชการที่แม้จะถูกลดอำนาจลงไป แต่ก็แค่เปลี่ยนบทบาทมาสนองนายทุนและนักการเมืองเท่านั้น ทั้งหมดนี้ได้ถักทอยึดโยงกันเป็นโครงสร้างแห่งความรุนแรงที่แข็งแกร่ง ซึ่งโยงไปสู่ปัญหาอื่นๆ มากมาย

         สังคมที่สงบและสันติจะเป็นไปได้ นอกจากต้องมีวัฒนธรรมแห่งสันติภาพเป็นตัวรองรับแล้ว ยังต้องถักทอขึ้นจากโครงสร้างที่สันติ อาทิเช่นมีโครงสร้างที่เอื้อให้เกิดแบบแผนความสัมพันธ์ที่ไม่เอารัดเอาเปรียบกันเริ่มจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ที่ทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งหมายรวมถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต รวมทั้งมีการกระจายอำนาจในการจัดการทางเศรษฐกิจ เช่น ให้สิทธิแก่ชุมชนในการจัดทรัพยากรสาธารณะในท้องถิ่น มีระบบการเมืองที่ไม่ผูกขาดโดยชนชั้นนำทางเศรษฐกิจหรือเป็นตัวแทนของกลุ่มทุน หากเปิดโอกาสให้ตัวแทนของประชาชนทุกกลุ่มเข้าไปมีส่วนกำหนดนโยบายและต่อรองทางด้านผลประโยชน์อย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ รวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของรัฐได้อย่างเท่าเทียมกันมีการกำกับดูแลให้เกิดความสมดุลระหว่างเสรีภาพทางเศรษฐกิจกับความเป็นธรรมในสังคม ควบคุมไม่ให้เกิดความสมดุลระหว่างเสรีภาพทางเศรษฐกิจกับความเป็นธรรมในสังคม ควบคุมไม่ให้ระบบตลาดมีเสรีภาพอย่างไร้ขอบเขตจนสามารถแปรทุกอย่างเป็นสินค้าได้หมด ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งชีวิต

          ระบบการศึกษาและระบบสื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงสร้างแห่งความรุนแรง ทั้งนี้ด้วยการหล่อหลอมกล่อมเกลาผู้คนให้ยอมรับหรือยอมสยบกับโครงสร้างดังกล่าว ดังนั้นในการสร้างสังคมที่สันติ จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการศึกษาและสื่อมวลชนเพื่อสร้างทัศนคติใหม่แก่ผู้คน และไม่สนับสนุนแบบแผนความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นธรรมหรือถูกครอบงำกำกับโดยอำนาจทุน การปฏิรูปดังกล่าวเกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งด้วยการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและสามารถเข้าถึงระบบสื่อสารมวลชน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน

          การสร้างความสงบสันติให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยการจัดสรรปรับปรุงเงื่อนไขทางสังคมให้เกื้อกูลนั้นเป็นวิธีการที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน ในพระไตรปิฎก มีตอนหนึ่ง พระพุทธองค์ได้ตรัสแนะว่า ปัญหาอาชญากรรมและความไม่สงบสุขในสังคมนั้นไม่อาจแก้ได้ด้วยการฆ่าโจรผู้ร้าย หากควรทำด้วยการจัดระบบเศรษฐกิจให้ดี โดยการส่งเสริมให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีความเป็นอยู่ที่ดี เช่น ให้พันธ์พืชแก่เกษตรกรที่อุตสาหะ ให้เงินทุนแก่พ่อค้าที่อุตสาหะ และให้อาหารและค่าจ้างแก่ข้าราชการ ด้วยวิธีนี้ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลาย จะปราศจากเสี้ยนหนามไม่ถูกปิดประตูลั่นกุญแจ น่าสังเกตว่าพระพุทธองค์ไม่ได้แนะนำให้แก้ปัญหาอาชญากรรมด้วยการนิมนต์พระมาเทศนาสั่งสอนประชาชนอย่างที่มักจะได้ยินกัน

สันติสุของชีวิตด้านใน

          โครงสร้างอันสันติ และวัฒนธรรมที่เอื้อต่อสันติภาพ เป็นปัจจัยพื้นฐานของการสังคมที่สันติ จุดหมายมิใช่เพียงเพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลระหว่างคนในสังคมเท่านั้น หากยังอยู่ที่การเอื้อให้เกิดสันติสุขภายในใจของแต่ละบุคคลด้วย ประการหลังนี้กล่าวได้ว่าเป็นจุดหมายสำคัญที่สุดของการมีโครงสร้างและวัฒนธรรมที่สันติ และถือว่าเป็นเกณฑ์วัด " ความสำเร็จ " ของปัจจัยทั้งสองที่สำคัญที่สุด จริงอยู่ความสัมพันธ์ที่เกื้อกูล สังคมที่โอบอ้อมอารี ย่อมมีผลให้เกิดความสงบสุขในจิตใจอยู่แล้วในตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความความสงบสุขภายในจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติจากสภาพแวดล้อมยังกล่าวหากยังต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นอีก อันได้แก่ การฝึกฝนพัฒนาตน การให้คุณค่ากับชีวิตด้านในการมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายที่เอื้อให้เกิดสันติสุขในทางจิตใจ แน่นอนว่าองค์ประกอบเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างพร้อมพรั่งต้องอาศัยโครงสร้างและวัฒนธรรมที่สันติ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง โครงสร้างและวัฒนธรรมดังกล่าวจะต้องไปลึกมากกว่าการสร้างสัมพันธภาพที่สันติเท่านั้น หากยังต้องลงลึกไปให้ถึงการสร้างสันติสุขในทางจิตใจด้วย

          สันติสุขภายในจิตใจเป็นหลักประกันของสันติสุขในสังคมและสันติภาพในโลกอย่างแท้จริง ดังได้กล่าวแต่ต้นว่ารากเหง้าของสงครามได้แก่ ตัณหา ( ความอยาก ) มานะ ( ความถือตัว ) และทิฏฐิ ( การติดยึดในลัทธิอุดมการณ์ ) กิเลสทั้ง 3 ประการนั้นมิได้มาจากใหน หาเริ่มต้นที่จิตใจของผู้คน เมื่อใดที่เกิดขึ้นกับบุคคล ย่อมสร้างความทุกข์ให้แก่ผู้นั้นเป็นประการแรก ตัณหาทำให้ทุกข์ เพราะไม่ได้สิ่งที่อยาก มานะทำให้ทุกข์ เพราะเกิดความรังเกียจผู้ที่ต่ำต้อยกว่าตน หรือทุกข์เพราะรู้สึกด้อยกว่าผู้อื่น ทิฏฐิทำให้ทุกข์ เพราะทนไม่ได้ที่คนอื่นคิดต่างจากตน หรือทุกข์เพราะความเชื่อของตนไม่เป็นที่ยอมรับ เมื่อเกิดความทุกข์แล้ว ย่อมเป็นธรรมดาที่จะระบายความทุกข์ใส่ผู้อื่น หรือปล่อยตัวปล่อยใจให้กิเลส 3 ประการนี้ไปสร้างความเดือดร้อนแก่สังคมต่อไป

          สันติสุขในใจเกิดขึ้นได้เมื่อกิเลสทั้ง 3 ประการนี้ บรรเทาเบาบางแม้มิใช่เรื่องง่ายที่จะขจัดให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง แต่การฝึกฝนพัฒนาตนเพื่อลดกิเลสทั้งสามก็อยู่ในวิสัยของปุถุชนจะทำได้ เริ่มต้นจากการฝึกฝนพฤติกรรมหรือการแสดงออกไม่ให้เป็นไปตามอำนาจของกิเลสทั้งสาม หรือให้อยู่ในขอบเขตที่ไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นขั้นนี้เรียกว่าศีล ขั้นต่อมาได้แก่ การฝึกฝนจิตให้มีความรู้เท่าทันในกิเลสทั้งสาม ไม่หลงไปตามอำนาจของมัน รู้จักใช้เมตตาระงับความโกรธ พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ไม่ดิ้นรนแส่ส่ายไปตามความอยาก ที่สำคัญคือสามารถน้อมจิตให้เข้าถึงความสุขอันประณีตที่ไม่อิงวัตถุ ความสุขอันประณีตนี้จะทำให้การแส่ส่ายในสิ่งเสพลดลงไปโดยอัตโนมัติ ต่อจากขั้นฝึกจิตที่เรียกว่า สมาธิ ได้แก่ การบ่มเพาะให้เกิดปัญญา คือความรู้เท่าทันในความจริงของชีวิต ตระหนักถึงความไม่เที่ยงของโลกธรรม จนไม่เห็นว่าทรัพสมบัติ อำนาจ ชื่อเสียง เป็นสรณะของชีวิต เพราะไม่สามารถยึดถือได้ แม้แต่ตัวตนของเราแท้จริงก็หาอยู่ไม่ แต่เป็นเพราะความไม่รู้นั่นเอง จึงไปนึกว่า ตัวตนมีอยู่และไปยึดเอาไว้อย่างเอาเป็นเอาตาย

          หากเราสามารถฝึกฝนจิตใจจนมีปัญญาเห็นความจริงข้อนี้ได้ กิเลสทั้งสามจะถูกถอนออกไปจากจิตใจอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ก็เพราะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว กิเลสทั้ง 3 ประการนี้มีรากเหง้ามาจากความยึดถือในตัวตน กล่าวคือ ตัณหาเกิดได้เพราะต้องการแสวงหาสิ่งเสพมาปรนเปรอตนมานะเกิดขึ้นเพราะความถือตัวถือตน อยากให้ตัวตนมีอำนาจเหนือผู้อื่นส่วนทิฏฐิเกิดขึ้นเพราะไปยึดเอาความเชื่อความเห็นมาเป็นตัวตนหรือของตน และพยายามปกป้องตัวตนอันนี้ไว้ขณะเดียวกันก็พยายามฟูมฟักผลักดันให้มันเติบใหญ่ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

          แม้ปุถุชนไม่สามารถขจัดกิเลสทั้งสามออกไปได้อย่างสิ้นเชิงแต่การพิจรณาใคร่ครวญความเป็นไปในชีวิตและจิตใจสม่ำเสมอ ด้วยการฝึกสมาธิหรือดูอาการของจิต ย่อมช่วยให้เห็นความจริงของสิ่งต่างๆ ในระดับหนึ่งว่าไม่มีตัวตนให้ยึดถือหรือบังคับควบคุมให้เป็นไปตามใจปราถนาได้ ปัญญาระดับนี้จะช่วยสร้างภูมิจิตไม่ให้กิเลสทั้ง 3 เข้ามาครอบงำได้ขณะเดียวกันการฝึกจิตให้สติเข้มแข็งว่องไว ก็ช่วยให้จิตรู้เท่าทันเวลากิเลสทั้ง 3 แวะเวียนเข้ามาในจิตใจ และสามารถสลัดมันออกไปก่อนที่จะเข้ามาครอบงำจิต

          การฝึกฝนพัฒนาตนทั้งระดับพฤติกรรม จิต และปัญญานั้นนอกจากจะอาศัยความมุ่งมั่นของบุคคลแล้ว ยังต้องอาศัยสภาพแวดล้อมที่ดี ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน โรงเรียน ไปจนถึงสังคมทั้งประเทศเพื่อช่วยให้เกิดวิถีชีวิตและทัศนคติที่เอื้อต่อการพัฒนาตนดังกล่าวโครงสร้างและวัฒนธรรมที่สันติจะมีส่วนช่วยให้เกิดวิถีชีวิตและการฝึกฝนพัฒนาตนดังกล่าวได้อย่างมาก

          อานิสงส์สำคัญประการหนึ่งของการฝึกฝนพัฒนาตนเองดังกล่าวก็คือการเอื้อให้เกิดทัศนะการมองโลกที่ไม่คับแคบแบบทวิภาวะ ( dualism ) ทัศนะแบบทวิภาวะนั้นมองโลกโดยแยกความจริงออกเป็นคู่ๆ หรือเป็นขั้วตรงข้ามกัน เช่น ความดีกับความชั่ว สุขกับทุกข์ ความสำเร็จกับความล้มเหลว ชีวิตกับความตาย มนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่การแยกผู้คนออกเป็น " เรา " กับ " เขา " ทัศนคติแบบนี้จะมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่หากยึดมั่นถือมั่นมากเกินไปก็อาจเป็นโทษได้โดยเฉพาะเมื่อมีการขีดเส้นแบ่งชัดเจนว่า เป็นเราเป็นเขา ใช่หรือไม่ว่าความรู้สึกเป็นฝักฝ่ายเช่นนี้ ก่อให้เกิดการเกลียดชังถึงขั้นประหัตประหารกันตั้งแต่การตีกันระหว่างวัยรุ่นต่างโรงเรียน ไปจนถึงสงครามระหว่างเชื้อชาติและศาสนา

          การเพ่งพิจารณาความจริงของชีวิตและจิตใจ ย่อมช่วยให้เราเห็นว่าถึงที่สุดแล้วความจริงไม่สามารถแยกเป็นขั้วตรงข้ามได้อย่างชัดเจน เพราะต่างพึ่งพาอาศัยกัน แสงสว่างกับเงามืดไม่อาจแยกออกจากกันได้อย่างเด็ดขาดยิ่งสว่างมากเท่าไร เงายิ่งมืดดำมากเท่านั้น ความดีจะนิยามได้ต่อเมื่อเทียบเคียงกันในความชั่ว ขณะเดียวกันสิ่งที่เรียกว่าขั้วตรงข้ามนั้นก็มักจะอย่ด้วยกันในความสั้นก็มีความยาวและในความยาวก็มีความสั้น ( ดินสอสั้นๆ กลายเป็นยาวเมื่อเทียบกับไม้จิ้มฟัน ไม้เมตรยาวๆ กลายเป็นสั้นเมื่อเทียบกับเสาไฟฟ้า ) ในทำนองเดียวกัน ในความหนาวมีความร้อน และในความร้อนมีความหนาว ในสุขมีทุกข์ ( รวยแต่ยังฆ่าตัวตาย ) และในทุกข์ก็มีสุข ( เป็นมะเร็งแต่อุทานว่าโชคดี )

          ในทำนองเดียวกันในความดีก็มีความชั่ว และในความชั่วก็มีความดีคนดีกับคนชั่วจึงไม่สามารถแยกจากกันได้อย่างเด็ดขาด เพราะในใจของ " คนดี " นั้น ก็มีความชั่วหรือความเป็นคนชั่วแฝงอยู่ไม่มากก็น้อย ความข้อนี้ โซลเชนิตชิน นักเขียนชื่อดังชาวรัสเซียผู้เป็นเหยื่อทารุณกรรมสมัยสตาลินกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า 

           " มันจะง่ายสักเพียงใด ถ้าเพียงแต่ว่าคนชั่วร้ายอยู่ที่ใหนสักแห่งและคอยทำแต่สิ่งชั่วร้าย เราก็แค่แยกคนพวกนั้นออกมาจากพวกเราแล้วกำจัดเขาเสีย เท่านั้นก็จบกัน แต่เส้นแบ่งความดีและความชั่วนั้นผ่าลงในใจของมนุษย์ทุกคน ใครเล่าที่อยากจะทำลายส่วนเสี้ยวในใจของตน "

          หากมองโลกนี้เช่น ประธานาธิบดีบุชและบินลาเดนคงไม่สามารถประณามใครหรือประเทศใดว่าป็น " อักษะแห่งความชั่วร้าย " หรือเป็น " ซาตาน " ได้อย่างเต็มปาก การประณามใครว่าเป็นตัวชั่วร้าย เท่ากับประกาศตนว่าเป็นคนดีและดังนั้นจึงมีสิทธิจัดการกับอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไรได้หารู้ไม่ว่าการคิดเช่นนี้เป็นการเปิดโอกาสให้มานะและทิฏฐิเข้ามาครอบงำจิตใจ และผลักดันทำให้สิ่งชั่วร้ายในนามของความดี อย่างที่ฮิตเลอร์ สตาลิน เหมา และพอลพตได้ทำ โดยมีบุชและบินลาเดนเป็นรายล่าสุด

          การมองโลกแบบทวิภาวะ โดยแบ่งเขาแบ่งเราชัดเจน พร้อมกับขีดเส้นดีชั่วระหว่างเรากับเขา เป็นที่มาของสงครามในโลกนับตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน " พวกเราดี พวกแกเลว " ( หรือ " สี่ขาดี สองขาเลว " ตามสำนวนของยอร์จ ออร์แวลในนิยายเรื่อง Animal Farm )  เป็นสูตรสำเร็จที่แต่ละฝ่ายใช้ห้ำหั่นกันอย่างได้ผลเสมอมา ทั้งนี้ก็เพราะการมองโลกแบบเป็นขั้วๆ นี้เอง

          สันติภาพในโลกจะมีอนาคตได้ต่อเมื่อเราไม่ถูกทัศนะการมองโลกแบบทวิภาวะตีกรอบครอบงำ การมองโลกที่ไปพ้นกรอบคิดแบบทวิภาวะจนเห็นว่ามนุษย์ทั้งปวงเป็นพี่น้องกันและความชั่วร้ายที่สำคัญมิได้อยู่นอกตัว หากอยู่ในใจเรานี้เอง จะช่วยให้ผู้คนไม่ตกเป็นเหยื่อของวัฒนธรรมแห่งความเกลียดชัง ซึ่งกำลังแพร่ไปทุกมุมโลก โดยเฉพาะในนามของชาตินิยมและศาสนา ขณะเดียวกันการมีสติปัญญาเท่าทันในตัณหา มานะ ทิฏฐิ ช่วยให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของลัทธิบริโภคนิยมซึ่งกำลังแพร่สะพัดตามกระแสโลกาภิวัฒน์ และที่สำคัญก็คือ ไม่ตกเป็นเหยื่อของความสำคัญมั่นหมายในตัวตน ซึ่งเป็นรากเหง้าแห่งความรุนแรง และความทุกข์ทั้งปวง ดังนั้นจึงก่อให้เกิดสันติสุขทั้งแก่ตนเองและแก่สังคมวงกว้างอย่างแท้จริง

          การฝึกฝนพัฒนาตนให้บังเกิดสันติสุขภายในตามนัยที่กล่าวมาจะเป็นรากฐานอันมั่นคงให้แก่โครงสร้างและวัฒนธรรมที่สันติ และเป็นหลักประกันแห่งสันติภาพอันแท้จริง

           " ไม่มีสุขใดเสมอด้วยความสงบสันติ " ความสงบสันติในพุทธพจน์นี้กล่าวอย่างถึงที่สุดก็ความสงบสันติภายในใจนี้เอง







By เสรีไทย อุดมการณ์ที่ไม่ตาย
       

          

No comments:

Post a Comment