Monday, October 22, 2012

รู้จักใช้

พิการ

         ชายคนหนึ่งปรึกษาพระอาจารย์กั่วไตว่า " ภรรยาของผมเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว เรื่องทำบุญทำทาน เธอไม่กระเซ็นเลยแม้แต่แดงเดียวไม่ทราบว่าท่านอาจารย์จะเมตตา ไปที่บ้านกระผมสักเที่ยวหนึ่ง ไปเทศนาสั่งสอนภรรยาผมให้รู้จักทำบุญทำทาน รู้จักบริจาค รู้จักให้ รู้จักช่วยเหลืคนอื่นบ้างได้หรือไม่

          ท่านกั่วไตตอบรับคำเชิญอย่างเมตตา

          เมื่อท่านกั่วไตมาถึงบ้านของชายคนนั้น ภรรยาของชายคนนั้นออกมาตอนรับ แต่หล่อนขี้เหนียวมาก แม้แต่น้ำชาสักถ้วยก็ไม่ยกมาเลี้ยงพระ


         ท่านกั่วไตกำหมัดแน่น พูดกับหญิงจอมตระหนี่ว่า " โยมดูมืออาตมาหน่อย ถ้ามันกำไว้อย่างนี้ทุกวัน มือจะต้องพิการอย่างแน่นอน "

         ท่านกั่วไตกางมือออก ถามว่า " แล้วถ้าเป็นอย่างนี้ทั้งวันล่ะ "

         หญิงจอมตระหนี่ตอบว่า " ก็พิการเหมือนกัน "

         ท่านกั่วไตกล่าวว่า " ถูกแล้ว โยม กำมือหรือแบมือทั้งวัน ล้วนพิการทั้งนั้น เงินถ้ารู้จักหาเข้าอย่างเดียว ไม่รู้จักบริจาคออกไปบ้างก็เหมือนพิการ เงินรู้จักแต่ใช้ ไม่รู้จักอดออม ก็พิการ เงินจะให้คล่องตัว ต้องรู้จักหาเข้าและจ่ายออก การใช้จ่ายต้องดูรายได้เป็นเกณฑ์ "

แง่คิด

         รู้จักใช้เงิน

         กางมือทั้งวันกับกำมือทั้งวัน ล้วนพิการทั้งนั้น เป็นการเปรียบเทียบที่ชัดเจนมาก นิทานเซนเรื่องนี้นำเอาเรื่องกางมือ - กำมือมาอุปมาอุปไมยให้เรารู้ว่าควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร ใช้เงินอย่างไร

         เรื่องตระหนี่ถี่เหนียวนั้นเป็นสันดานอยางหนึ่งของมนุษย์ โดยเฉพาะคนที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ โลภ จะขี้เหนียวกับคนอื่นสุดๆ เหมือนเช่นหญิงจอมตระหนี่ในนิทานเรื่องนี้ ขนาดน้ำถ้วยหนึ่งยังไม่ยอมยกมาต้อนรับแขกเลย

         คนงกจัดประเภทนี้ บอกตามตรงว่ายากที่จะมีที่ยืนในสังคมยุคปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากสังคมเป็นโครงข่ายหนึ่งที่คนกับคนสานสัมพันธ์อย่างสลับซับซ้อน คนที่เอาแต่ได้อย่างเดียว ไม่ยอมเสียหรือเอาแต่รับ ไม่ยอมให้นั้น ถ้าไม่ใช่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น ก็คือทิ้งภาระให้คนอื่นไปรับเหมาทำแทน คนประเภทนี้ย่อมเป็นที่รังเกียจและดูหมิ่นของคนทั่วไป

         ลองถามตัวเองดูสิว่าชั่วชีวิตหนึ่งๆ เราจะกินข้าวได้กี่ร้อยกี่พันกระสอบ กินหมู กินปลา กินผักกี่ต้น คิดสรตะแล้ว ถึงวันตายก็ใช้ไม่เท่าไร เงินที่หามาได้ กินอยู่อย่างไรก็ใช้หมด พอตายไป ไอ้เงิน ที่อุตส่าห์งก อุตส่าห์ไปแย่งชิงจิกข่วนกับคนอื่นจนแผลเหวอะเต็มตัวก็เอาไปไม่ได้

         ชีวิตเป็นสิ่งสวยงามและแสนสั้น เรามาตัวเปล่า แล้วก็จากไปตัวเปล่า จึงไม่ควรทำเรื่องน่าเกลียดๆ ย่ำแย่ๆ บรรจุลงไปในชีวิตให้มันมากนัก ความขี้เหนียวนับเป็นความน่าเกลียดอย่างหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของเราดูทุเรศลง และเป็นมลภาวะที่ทำให้สังคมไม่น่าอยู่เท่าที่ควร

         เราไม่ชอบคนขี้เหนียว คนขี้งก คนเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ เพราะฉะนั้น เราก็จงอย่าทำตัวเป็นคนแบบนั้น

         ทราบหรือไม่ว่า ตอนที่เราจ่าย เราให้ เราควักออกนั้น เราได้กลายเป็นคนสำคัญสำหรับคนอื่นไปแล้ว

         นี่เป็นประเด็นหนึ่ง 

         ประเด็นต่อมาก็คือการบริหารการเงิน หญิงจอมตระหนี่ในเรื่องนี้เป็นตัวอย่างของปู่โสมเฝ้าทรัพย์ วิธีหาสร้างความร่ำรวยของเธอก็คือ หาเงินได้เท่าไรก็เก็บเข้ากรุ ประหยัดอดออม งกสุดชีวิต โดยหารู้ไม่ว่าวิธีบริหารการเงินแบบนี้ มันไม่เพียงแต่ไม่ทำให้เงินทองงอกเงยขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังทำให้เงินทองด้อยค่าลงด้วย การจัดการการเงินที่ดีนั้นคือ ต้องรู้จักใช้ รู้จักบริหาร

         มีแต่คนที่ " ใช้เงิน " เป็นเท่านั้นจึงจะ " หาเงิน " เป็น

         ใช้เงินเป็นหรือไม่ดูได้จากมาตราฐานที่ว่า เงินที่ใช้ไปนั้น เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ต่อสังคมหรือไม่ เมื่อมีมาตรฐานที่ถูกต้องแล้วบริหารเงินไปตามหลักการเช่นนี้ ความตระหนี่ก็จะหายไปเอง






By สุภาพร  ปิยพสุนทรา ( สว่าง อย่าง เซน )

No comments:

Post a Comment